ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 30' 16.978"
16.5047161
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 3' 18.5414"
100.0551504
เลขที่ : 194088
พิธีกรรม “รำแกลมอ” ชาติพันธุ์ กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 4 กันยายน 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 4 กันยายน 2564
จังหวัด : พิจิตร
10 1046
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

บ้านยางตะพาย หมู่ 3 ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เป็นชุมชนที่มีชาวกูย (ส่วย) อพยพมาจากภาคอีสานตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ ที่อพยพย้ายถิ่นฐานมากันเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 หรือราว ๆ 80 ปีเศษ ชาวกูย (ส่วย) ในบ้านวัดยางตะพาย ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ การใช้ภาษาส่วย ในการสื่อสาร หลายครอบครัวยังคงมีการนับถือ “ผีฟ้า” ชาวบ้านในชุมชนยังคงการแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมือง ชุดกูย (ส่วย) ในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น ประเพณีถวดแท่น (ประเพณีทอดกฐิน ของชาว กูยหรือส่วย) พิธีกรรมรำแกลมอ ประเพณีรำตักใต้ เป็นต้น ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าว ทำนา และเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เริ่มมีการนำปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เข้ามาใช้ในการเกษตรกรรม แล้วเพิ่มปริมาณการใช้สารเคมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากบางครอบครัวที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เกิดปัญหาตัวไหมล้มตายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเริ่มป่วย ไม่สบาย เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยที่การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ แสดงให้เห็นถึงมีสิ่งที่ไม่ดีในหมู่บ้าน ซึ่งมีแม่เฒ่าท่านหนึ่งได้กล่าวเปรียบเปรยว่า “สารเคมีที่เป็นพิษนั้น หมายถึง “ผีเปรต” หรือสิ่งที่ไม่ดีนั่นเอง เมื่อในชุมชนมีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็ต้องช่วยกันจำกัดออกไป” ผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านเจ็บไข้ได้ป่วย วัยรุ่นหนุ่มสาวเริ่มออกไปหางานทำในเมืองใหญ่ ทิ้งให้ผู้เฒ่าผู้แก่เลี้ยงหลานอยู่กับบ้านในชุมชน

ด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของพิธีกรรม “รำแกลมอ” ชาติพันธุ์ กูย (ส่วย) บ้านวัดยางตะพาย ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต พิธีกรรม “รำแกลมอ” ชาติพันธุ์ กูย (ส่วย) เป็นพิธีกรรมที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง ผี หรือ “ผีฟ้า” ที่ชาวกูย (ส่วย) นับถือ โดยเชื่อกันว่าพิธีกรรมนี้จะสามารถไล่ “ผีเปรต” ที่เป็นสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วยของชาวบ้าน โดยมี “แม่มอ” หมอผีประจำหมู่บ้าน (ส่วนมากเป็นเพศหญิง) เป็นผู้นำและผู้ดำเนินพิธีกรรม เริ่มจากหาฤกษ์งามยามดีเพื่อกำหนดวัน เวลา สถานที่ ทำพิธีกรรม ส่วนมากจะเป็นที่บ้านแม่มอ หรือบ้านผู้ป่วยเองก็ได้ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อม พิธีกรรม “รำแกลมอ”นิยมเริ่มพิธีกรรมในเวลารุ่งสาง แม่มอ จะเป็นร่างทรงอันเชิญ “มอ” หรือ “ผีฟ้า” เข้าทรงในร่าง แล้วฟ้อนรำไปรอบ ๆ ตัวผู้ป่วยและบริเวณรอบบ้าน พร้อมกับผู้รำคนอื่น ๆ อีกประมาณ 4-8 คน หมอแคนจะเป่าแคนเป็นทำนองเพลงพื้นบ้านทั่วไประหว่างการรำ บางครั้งมีกลองยาว เพื่อสร้างเสียงดนตรี และลดความตึงเครียด “มอ” หรือ “ผีฟ้า” จะต้องเข้าทรงผู้รำทุกคน จนกว่า “มอ” หรือ “ผีฟ้า” จะพอใจ และออกจากร่างผู้รำไป หลังจากนั้นจะนำขันเงินที่ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ มาให้ผู้ป่วย และนำข้าวสาร มาโปรยที่ตัวผู้ป่วย และบริเวณโดยรอบบ้าน เพื่อเป็นการไล่ผีที่ไม่ดีออกไป รับขวัญและผูกข้อมือผู้ป่วยด้วยสายสิญจน์ เป็นอันเสร็จพิธีกรรม “รำแกลมอ” ส่วนมากจะใช้เวลาในการประกอบพิธีกรรม ประมาณ 1 วัน คือ ตั้งแต่เช้ามืด จนถึงช่วงบ่ายหรือเย็น ในบางครั้งก็อาจจะใช้เวลา ถึงช่วงกลางคืนเลย ก็เป็นได้

วัตถุประสงค

๑) เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ประเพณีพิธีกรรมอันดีงามของชาติพันธุ์ชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ให้คงอยู่คู่ชุมชนฯ สืบต่อไป ๒) เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ ความสามัคคี ความรักใคร่กลมเกลียว ของชาวบ้านในชุมชนฯ ๓) เพื่อเป็นการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย (ตามความเชื่อของชาติพันธุ์ชาว กูย หรือ ส่วย) รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้านในชุมชนฯ รวมทั้งการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ภายในชุมชนฯ เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน

การแต่งกาย

๑) สำหรับผู้ชาย

- สวมเสื้อผ้าพื้นเมือง หรือเสื้อม่อฮ่อม

- นุ่งโสร่ง และคาดผ้าขาวม้า

๒) สำหรับผู้หญิง

- สวมเสื้อผ้าพื้นเมือง หรือเสื้อม่อฮ่อม

- นุ่งผ้าซิ่น หรือผ้าถุงพื้นเมือง คาดสไบ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม

1) ขันเงิน (ขนาดกลาง)

2) พวงมาลัย , ดอกไม้

3) กระทงบายศรี

4) น้ำอบไทย

5) สายสิญจน์

6) เหล้าขาว

7) อาหารคาว หวาน

8) เครื่องดนตรี แคน และกลองยาว

9) ต้นกล้วย

10) ธูป เทียน

11) ข้าวสาร

12) ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง

13) ผ้าขาวม้า

14) แป้งฝุ่น

15) หวี

กระบวนการ/ขั้นตอน ในการเตรียมอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรม “รำแกลมอ”

1) เมื่อกำหนด วัน เวลา และสถานที่ ได้แล้ว แม่มอ จะเลือกผู้ที่ร่วมรำ อีกประมาณ 4-8 คน พร้อมทั้งเตรียมหมอแคน และคนตีกลองยาว (จำนวนเท่าไรก็ได้)

2) จัดและตกแต่ง กระทงบายศรีให้สวยงาม แต่งต้นกล้วยเพื่อปักธูปเทียน พร้อมคล้องพวงมาลัยนำดอกไม้ เหล้าขาว อาหารคาว หวาน สายสิญจน์ มาประดับตกแต่งให้สวยงาม ณ บริเวณกลางบ้านหรือบริเวณที่จัดพิธีกรรม

3) นำ ขันเงิน ที่เตรียมไว้ ใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ ดังนี้ ดอกไม้ พวงมาลัย ธูป เทียน ข้าวสาร ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง ผ้าขาวม้า แป้งฝุ่น หวี น้ำอบไทย จัดตกแต่งให้สวยงาม ตามจำนวนของ แม่มอ และผู้ที่ร่วมรำ

กระบวนการ/ขั้นตอน ในการประกอบพิธีกรรม “รำแกลมอ”

1) แม่มอ จะทำพิธีกรรมขอขมาดวงวิญญาณ “ผีฟ้า” แล้วอัญเชิญผีฟ้ามาเข้าประทับทรง ที่ร่างของแม่มอ ผู้ที่ร่วมรำก็ทำพิธีกรรมขอขมาดวงวิญญาณผีฟ้า เช่นกัน

2) พอดวงวิญญาณผีฟ้าเข้าร่างแม่มอแล้ว แม่มอจะเริ่มทำ “การรำ” รอบตัวผู้ป่วย และรอบ บริเวณบ้าน พร้อม ๆ กับ หมอแคน และกลองยาว จะเป่าแคน และตีกลองยาว สร้างเสียงเพลงจนเสร็จสิ้นพิธีกรรม

3) หลังจากที่แม่มอรำได้สักพัก (ไม่สามารถกำหนดเวลาได้) ดวงวิญญาณผีฟ้า ก็จะออกจากร่างแม่มอ ไปประทับที่ร่างผู้ที่ร่วมรำ คนต่อ ๆ ไป (อาจจะครบจำนวนผู้ที่ร่วมรำ หรือไม่ครบก็ได้) ผู้ที่ร่วมรำ ก็จะรำรอบตัวผู้ป่วย และรอบบริเวณบ้าน เหมือนขั้นตอนของแม่มอ

4) จนกว่า ผู้ป่วย จะลุกขึ้นมาร่วมรำด้วย แสดงว่าวิญญาณของผีร้าย ได้ออกจากร่างผู้ป่วยแล้ว แม่มอ จะนำขันเงินที่เตรียมไว้ มามอบให้ผู้ป่วย

5) แม่มอจะทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณผีฟ้า ออกจากร่าง ต่อจากนั้นแม่มอจะทำการโปรยข้าวสารที่ตัวผู้ป่วย และบริเวณรอบบ้าน เพื่อเป็นการไล่วิญญาณของผีร้าย อีกครั้ง

6) หลังจากนั้น แม่มอจะทำพิธีรับขวัญผู้ป่วย โดยใช้กระทงบายศรีที่เตรียมไว้ พร้อมกับผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือผู้ป่วย เป็นอันเสร็จพิธี

7) หลังจากเสร็จพิธี ผู้ป่วยจะต้องไปอาบน้ำ ชำระล้างร่างกายให้สะอาด โดยใช้วัสดุ/อุปกรณ์ ในขันเงินที่เตรียมไว้ เช่น หวี น้ำอบไทย แป้งฝุ่น สวมใส่ ผ้าซิ่นหรือผ้าถุง ผ้าขาวม้า ผืนใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อไป

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

1)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

พิธีกรรม “รำแกลมอ” นับว่าเป็นประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นโบราณของชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัวอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม และประเพณีประจำท้องถิ่น ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่อง ผี ดวงวิญญาณ และชีวิตหลังความตาย รวมทั้งสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ความรักใคร สามัคคี กลมเกลียวกัน ของชาวบ้านในชุมชนฯ มีความตั้งใจและร่วมมือกันในการทำพิธีกรรม ตั้งแต่การจัดเตรียมเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย วัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ความมานะ อดทน ในการทำพิธีกรรม เพื่อให้พิธีกรรมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เกิดเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านในชุมชน เรื่องการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นโบราณ ของชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ให้คงอยู่สืบต่อไป

2)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ปัจจุบัน พระครูพินิจธรรมประยุต เจ้าอาวาสวัดยางตะพาย ผู้นำชุมชนบ้านยางตะพาย นางมุ้ย บุราคร ปราชญ์ชาวบ้านยางตะพาย นางวรรณา ทองรวย ประธานกลุ่มอาชีพเกษตรกรบ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เป็นแกนนำที่สำคัญ ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่น “รำแกลมอ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงาม รวมทั้งชาวบ้านยางตะพาย ทุกเพศ ทุกวัย ต่างร่วมมือกันที่จะพยายามรักษาพิธีกรรมให้สืบต่อไป โดยยังคงอนุรักษ์ รักษา ขั้นตอน และการปฏิบัติพิธีกรรมแบบดั่งเดิม เหมือนสมัยโบราณ เพื่อไม่ให้ สูญหาย รวมทั้งยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้แก่เด็ก และเยาวชนอีกด้วย

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

ปัจจุบัน พิธีกรรม “รำแกลมอ” ของชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรก็ยังมีการปฏิบัติพิธีกรรมอยู่ แม้จะมีจำนวนครั้งที่น้อยลง โดยได้รับการการส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน เพื่อการพัฒนาที่ยังยืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน อาทิเช่น “พลังบวร” บ้านยางตะพาย วัดยางตะพาย และโรงเรียนบ้านยางตะพาย องค์การบริหารส่วนตำบลบึงบัว เป็นต้น

สถานภาพปัจจุบัน

1)สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

2)สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

ปัจจุบัน พิธีกรรม “รำแกลมอ” ของชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมีจังหวัดพิจิตรแม้จะอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ก็ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้แก่เด็ก และเยาวชนในชุมชนฯ อย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยคุกคาม เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในจังหวัดพิจิตรด้วยเช่นกัน จึงเป็นสาเหตุให้การจัดพิธีกรรม “รำแกลมอ” ของชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ไม่สามารถจัดพิธีกรรมได้ เนื่องจากมีการรวมกลุ่มของประชาชน เป็นจำนวนมาก และเพื่อเป็นการรักษามาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 ตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจิตรด้วย (จัดเก็บข้อมูล ณ วันที่ 1 กันยายน 2564)

ข้อเสนอแนะ

พิธีกรรม “รำแกลมอ” ของชาว กูย (ส่วย) บ้านยางตะพาย ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร นับว่าเป็นประเพณีและพิธีกรรมท้องถิ่นโบราณ ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรม และประเพณีประจำท้องถิ่น ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างช้านาน เป็นความภาคภูมิใจของคนในชุมชนฯ สมควรที่จะต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ให้คงอยู่สืบต่อไป

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

1. พระครูพินิจธรรมประยุต เจ้าอาวาสวัดยางตะพาย (พรรษา 58 พรรษา) ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดยางตะพาย ผู้นำชุมชนบ้านยางตะพาย เบอร์โทรศัพท์ 089 044 2783

2. นางมุ้ย บุราคร (อายุ 75 ปี) ตำแหน่ง ปราชญ์ชาวบ้านยางตะพาย บ้านเลขที่ 41 / 5 หมู่ที่ 3 ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66140 เบอร์โทรศัพท์ 082 191 5435.

3. นางวรรณา ทองรวย (อายุ 68 ปี) ตำแหน่ง ประธานกลุ่มอาชีพเกษตรกรบ้านยางตะพาย บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 3 ตำบลบึงบัว อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66140 เบอร์โทรศัพท์ 064 475 2254

ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆhttp://human.msu.ac.th/husoc/doc/doc_research/001.pdf

สถานที่ตั้ง
ชุมชนบ้านยางตะพาย
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน 3 ซอย - ถนน -
จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
บุคคลอ้างอิง นายรัตน์ดนัย สิงห์คำ อีเมล์ ratdanai202020@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน บุษบา
จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66140
โทรศัพท์ ุุ0 5661 2675 โทรสาร ุุ0 5661 2675
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่