ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 26' 17.9999"
16.4383333
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 21' 0"
100.3500000
เลขที่ : 194209
พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 5 กันยายน 2564
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 6 กันยายน 2564
จังหวัด : พิจิตร
5 781
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

แม่ย่านาง คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนไทยเคารพนับถือว่าคอยคุ้มครองปกป้องกันภัยให้แก่พาหนะ เช่น รถ เรือ หรือเชื่อว่าสิงสถิตอยู่ในรถ ในเรือ และให้คุณให้โทษแก่ผู้ขับขี่โดยสารได้

ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับแม่ย่านางมีอยู่หลายกระแสตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจากการสืบค้นพบ นำมาเสนอพอสังเขปได้ดังนี้

ตำนานความเชื่อเกี่ยวกับแม่ย่านางนั้นมีอยู่ว่า เมื่อพระอิศวรและพระแม่อุมาเสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็นสัตว์ที่ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกห่อหุ้มบาง ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้ถูกบรรดาสัตว์น้ำอื่น ๆ จับกินเสียมาก พระแม่อุมาจึงประทานพรให้กุ้ง มีเลื่อยสองคนปลายแหลมอยู่บนหัว มีหอกปลายแหลมอยู่ที่หาง เมื่อสัตว์ใดกินเข้าไปจะได้ใช้หางเจาะออกมาให้เข็ดหลาบ ซึ่งอาหารที่กุ้งสามารถกินเองได้ จะต้องเป็นของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น

จากนั้นประชากรกุ้งจึงมีมากจนเสียสมดุล กั้งจึงมาชักชวนผสมพันธ์แล้วออกอุบายให้กุ้งใช้อาวุธติดตัวเจาะท้องเรือสำเภาให้จม เมือจีนคนไหนว่ายน้ำไม่เป็นก็จะจมน้ำตาย กลายเป็นอาหารส่วนหัวกุ้งแบ่งให้กั้ง ส่วนตัวกุ้งเอาไปกิน ด้วยเหตุนี้ เรือสำเภาจึงตกเป็นเป้าและได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พวกนายสำเภาจึงได้วิงวอนของให้เจ้าหมาจ่อช่วยบอกกล่าวเทพเจ้าให้มาช่วยเหลือ เจ้าหมาจ่อสงสารชาวเรือจึงบอกให้นำของมาเซ่นไหว้พลีกรรม ได้แก่ ผ้าแพรสีแดง สีทับทิม สิ่งละสิบพับ กับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับเจ้าที่ เมื่อได้รับของถวายเจ้าหมาจ่อจึงให้นายทหารนำของไปถวายเจ้าทั้งแปดทิศ แล้วร่วมปรึกษาหารือกันว่าจะนำความไปกราบทูลพระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีให้ตัดสินปัญหา พระแม่อุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปปราบกุ้งที่ผิดคำสัตย์และใช้อุบายทำให้มนุษย์เดือดร้อน จากนั้นพระอนันตนาคราชรับโองการ ลงไปถึงพระคงคา กุ้งที่ทำผิดก็ร้อนตัวกลัวจนกระเพาะและของเก่าใหม่ขึ้นมาบนสมอง จากนั้นจึงถูกสาปให้เรือสำเภาน้อยใหญ่ที่พวกตนเจาะให้ล่มเข้าไปอยู่ในแก้มซ้ายขวาถ่วงหัวไม่ให้เงยขึ้นมาเจาะเรือสำเราได้อีก แล้วพระอนันตนาคราชจึงสั่งให้จีนเดินสมุทรทั้งหลายนับถือเจ้ายอดสวรรค์ให้คุ้มครองรักษาเรือสำเภาทุกเที่ยวไปมาจนติดมากระทั่งทุกวันนี้

อีกตำนาน เล่าถึงเรื่องของเจ้ายอดสวรรค์ ที่เป็นลูกสาวชาวประมงในเมืองฟูเกียน ฝันเห็นเรือของพ่อกับพี่ชายกำลังจะจมน้ำ จึงเอาปากคาบเรือของพ่อไว้ แล้วใช้มือซ้ายขวาคว้าเรือพี่ชายไว้ สักพักได้ยินเสียงแม่เรียก จึงเผลอขานรับแล้วตื่นขึ้น สองสามวันต่อมาจึงมีคนมาส่งข่าวว่าเรือของพ่อเธออับปาง ส่วนพี่ชายได้รับความช่วยเหลือจึงรอดมาได้ ซึ่งเธอนั่นเองคือผู้ที่ช่วยพี่ชายเอาไว้ กลายเป็นเรื่องเล่าสืบทอดมายาวนาน และมีการตั้งศาลไหว้นางอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวจีนเดินเรือ

ด้วยเหตุนี้ แม่ย่านางได้กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเทพผู้พิทักษ์ปกป้องคุ้มครองพาหนะทุกประเภท ทั้งเรือ รถยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ที่ให้คุณให้โทษได้ ผู้ขับขี่จึงมีความเคารพยำเกรงต่อแม่ย่านาง จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ในสมัยที่การคมนาคมส่วนใหญ่ใช้ทางน้ำ ประชาชนนิยมโดยสารเรือเป็นหลัก ก็มีการบวงสรวงแม่ย่านางเรือ โดยเฉพาะเรือพระราชพิธีที่ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ เช่น กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก่อนออกแล่นจริงต้องมีการนำเครื่องบูชามาทำพิธีบวงสรวงเพื่อความเป็นสิริมงคล เข้าใจว่าเพื่อบอกกล่าวแม่ย่านางที่สิงสถิตอยู่กับเรือแต่ละลำได้รับรู้และปกปักรักษาอย่าให้เกิดอุบัติเหตุเภทภัยใด ๆ เรือชาวบ้านก็มีการบวงสรวงเช่นกัน ผู้ที่มีความศรัทธามากนิยมนำผ้าสามสีมาผูกที่หัวเรือ เพื่อแสดงความเคารพแก่แม่ย่านางและเพื่อเสริมสิริมงคลให้แก่เรือลำนั้น ๆ

(กรมศิลปากร.นามานุกรมขนบประเพณีไทย หมวดประเพณีราษฎร์ เล่ม ๓(คติความเชื่อ).พิมพ์ครั้งแรก.กรุงเทพฯ :บริษัท แอดวานซ์ วิชั่น เซอร์วิส จำกัด , ๒๕๕๒ หน้า ๒๒๗-๒๒๘)

ในอีกกระแสหนึ่งเล่าว่า เดิมทีนั้นการลากเรือประมงลงน้ำนั้นจะต้องใช้เชือกดึงหัวเรือให้เรือขับเคลื่อน และเชือกที่ใช้ถึงหัวเรือจะใช้เถาวัลย์ที่พันต้นตะเคียน ซึ่งเรียกกันว่า “เชือกย่านาง” เมื่อใช้เชือกย่านางดังหัวเรือบ่อย ๆ เข้า จึงเรียกบริเวณหัวเรือเป็น “ย่านาง” นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าไม้ที่นำมาทำเรือในสมัยแรก ๆ นั้น มักจะใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าไม้ตะเคียนที่นำมาทำเรือนั้นเป็นไม้ที่มีผีตะเคียนสิงสถิตอยู่ เมื่อนำไม้ตะเคียนมาทำเรือ ความเชื่อเรื่องผีนางตะเคียนจึงติดมากับเรือด้วย ซึ่งในการโค่นไม้ตะเคียนมีพิธีกรรมปรากฏในพิธีทำขวัญเรือว่า “...เมื่อเข้าป่าหาไม้ใกล้ต้นตะเคียนใหญ่ ได้ยินเสียงปากเหมือนเสียงคน เมื่อได้ยินให้หวั่นหวาด ขอจงเลือกเอาที่รอยคชสารเข้ามาแทง กิ่งคดโค้งกาฝากจากกาฝากยอดไม้ใกล้ธารา ฝ่ายคชสารลักมันเอาไม้มาทำเรือใหญ่ พบรุกขชาติพระยานางไม้ รุกขชาติจึงให้เอาน้ำพระพุทธมต์ มารดทั่วทุกคนหมดแล้วเข้าแดนไพร ตามวิถีเอาเพศเกรียงไกร แล้วสมมุตคนที่ชื่อนายใจ พร้อมด้วยพวกที่ชำนาญไปด้วยกัน เอามือจับขวานเข้าฟันโค่นต้นไม้ ประหนึ่งเหมือนคนร้องครวญครางสะเทือนดง แล้วฟันฟาดไปทางหรดี เสียงสนั่นป่า แล้วตัดปลายไม้ แล้วจัดเครื่องพิธีกรรมอันจะสังเวยเจ้าพระยานางไม้...” (ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ โลกทรรศน์ไทยภาคใต้ ,๒๕๒๒ :หน้า ๑๓๖)

ระยะเวลาประกอบพิธี

เดือนสิงหาคมของทุกปี

รายละเอียดและขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม ได้ศึกษาการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงแม่ย่านางเรือศรทอง เรือศรพรหมมาศ ในอำเภอเมืองพิจิตร ซึ่งจะมีการประกอบพิธีกรรมกันที่วัดวังกลม อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร สำหรับการประกอบพิธีบวงสรวงนั้นจะมีขึ้นประมาณ ๑ - ๒ สัปดาห์ ก่อนวันการแข่งขัน

สิ่งของที่ใช้ในพิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือประกอบด้วย

๑) เครื่องสังเวย ได้แก่ อาหารคาว ประกอบด้วย หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา

๒) เครื่องกายบวช ได้แก่ อาหารหวาน ประเภทขนม นม เนย ต่าง ๆ ประกอบด้วย นม เนย ถั่วคั่ว งาคั่ว ถั่วดิบ งาดิบ เผือกต้ม มันต้ม ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ขนมหูช้าง

๓) ผลไม้ที่มีในพื้นที่ เช่น กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน เป็นสิ่งของที่ขาดไม่ได้ ซึ่งมีความเชื่อว่ากล้วยน้ำว้า เป็นผลไม้โบราณที่หล่อเลี้ยงมนุษย์ ส่วนมะพร้าวอ่อนนั้น เชื่อว่าเป็นน้ำที่มีความบริสุทธิ์ ตลอดจนผลไม้อื่น ๆ ที่มีรสหวาน เช่น มะละกอ ขนุน เป็นต้น ยกเว้นผลไม้บางอย่างที่ไม่นิยม เช่น มังคุด ละมุด พุทรา ลางสาด ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่เป็นมงคล

๔) บายศรี ๙ ชั้น เป็นงานประดิษฐ์ชั้นสูงที่นิยมประดิษฐ์ในงานมงคลต่าง ๆ โดยวัตถุประสงค์บายศรี แต่ละอย่างจะมีความหมายโดยรับเทพแต่ละองค์ แต่บายศรีในพิธีบวงสรวงที่จะขาดไม่ได้เลย คือ บายศรีปากชาม เปรียบเหมือนบายศรีที่เหมือนเขาพระสุเมร ซึ่งรวมบายศรีทั้งหมดจะเป็นบายศรีครู ด้านบนจะเป็นบายศรีพรหม ใช้สำหรับรองรับพระพรหมหรือเทพชั้นพรหม

๕) บัด ในพิธีบวงสรวงจะมีอยู่ ๓ ชนิด

- บัดพระเกศ ๙ ชั้น ในแต่ละชั้นจะมีกระทงซึ่งบรรจุผักผ้าปลายำและข้าวสุกไว้ เพื่อบูชารองรับองค์พระเกศ ซึ่งเป็นพระประจำวันเกิดองค์หนึ่ง สำหรับคนที่จำวันเกิดไม่ได้บูชา โดยมีความเชื่อว่าพระเกศเปรียบเหมือนชีวิตจิตใจของคน จัดตั้งไว้ตรงกลางเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ

- บัดพระภูมิ ใช้สำหรับบูชาพระภูมิ

- บัดพระกุมภารี ใช้สำหรับบูชาพระกุมภารี

ขั้นประกอบพิธีกรรม

๑) ประธานในพิธีจุดเทียนเงิน – เทียนทอง ที่โต๊ะเครื่องบูชา

๒) พราหมณ์พิธีกร นำกล่าวบูชาเครื่องสังเวย

๓) ประธานในพิธีนำผู้ร่วมพิธีปักธูปที่เครื่องบูชาสังเวยทั้งหมด

๔) พิธีพราหมณ์ บวงสรวงและอันเชิญแม่ย่านางเรือ โดยพราหมณ์พิธีกร อ่านโองการบวงสรวงบูชาเทวดา ประกอบกับคำบวงสรวงแม่ย่านางเรือ เมื่ออ่านจบแล้ว ประธานในพิธีจะทำพิธีโปรยข้าวตอกดอกไม้ที่เครื่องบูชาเพื่อรับเทวดา

๕) ฝีพายเรือทั้งหมดจะเดินเข้าแถวเพื่อดื่มน้ำพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และรับผ้าโพกศีรษะประจำเรือ

๖) การรำบวงสรวงแม่ย่านางเรือหน้าศาลเพียงตาเครื่องบวงสรวง

๗) ฝีพายเรือทั้งหมดจะนำเรือลงสู่แม่น้ำ เสร็จพิธี

ผู้ประกอบพิธีกรรม/ผู้ร่วมพิธีกรรม

ผู้ประกอบพิธีกรรม นายสอน พริกเทศ พราหมณ์พิธีกร

ผู้ร่วมพิธีกรรม เจ้าอาวาสวัดวังกลม ฝีพายเรือศรทอง เรือศรพรหมมาศ และแขกผู้มีเกียรติ

สาระที่สะท้อนความเชื่อหรือเหตุผลในการจัดพิธีกรรม

พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ เป็นประเพณีโบราณ เพื่ออันเชิญแม่ย่านางมาประทับทรงเพื่อขอให้ตั้งชื่อเรือ ถามเรื่องสีเสื้อและผ้าแพรประดับโขนเรือให้ถูกโฉลกกับแม่ย่านาง เพื่อเป็นมงคลแก่ทีม มีความเชื่อว่าแม่ย่านางเรือเป็นเทพยดาองค์หนึ่ง ซึ่งสิงสถิตอยู่ตามต้นไม้ เรียกว่า รุกขเทวดา และไม้ที่ขุดเรือนำมาจากป่า การนำไม้มานั้นก็เท่ากับว่าได้อันเชิญรุกขเทวดาที่ปกปักษ์รักษาไม้มาด้วย เพื่อจะได้เกิดสิริมงคลและปกป้องภัยอันตรายต่าง ๆ พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ ปกติจะทำทุกปีก่อนที่จะนำเรือลงน้ำ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้เจ้าของเรือและฝีพายเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลและแสดงความกตัญญูต่อองค์เทพที่ปกปักษ์รักษา

สถานภาพปัจจุบันสถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้ :เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

นายสอน พริกเทศ ปราชญ์ท้องถิ่น

(ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล)

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๗๓ หมู่ ๖ ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ๖๖๑๔๐

เบอร์โทร ๐๘๗-๒๑๐๖๕๕๔

สถานที่ตั้ง
วัดวังกลม
เลขที่ 400 หมู่ที่/หมู่บ้าน 1 ซอย - ถนน -
ตำบล บ้านบุ่ง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร
บุคคลอ้างอิง นางสาวสุริสา นิลนารถ อีเมล์ p.nilnart@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน บุษบา
อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ 081-8707404 โทรสาร ุุ0 5661 2675
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่