ประวัติ
พระครูอินทโมฬีฯ มีนามเดิมว่า "อินทร์" เป็นบุตรของปะขาวสนกับนางเป้า ชาวบ้านสทัง ตำบลหานโพธิ์ อำเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง มีชีวิตอยู่ราวสมัยอยุธยาตอนต้น มีพี่น้องร่วมบิดามารดา เดียวกัน ๔ คน คือ เจ้าอินทร์ เจ้าเพชรปัญญา นางบุตร และนางอ่อนทอง ชีวิตในเยาว์วัยของนายอินทร์จะเป็นอย่างไรไม่ปรากฎหลักฐาน ทราบแค่ว่าเมื่อเติบโตขึ้น ได้บวชเป็นปะขาวและลาพ่อแม่โดยสารเรือสำเภาจีนท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ และได้ศึกษาวิชาคาถาอาคมจนมีความชำนาญ
ผลงาน
เมื่อปะขาวอินทร์ อายุได้ ๖๐ ปี จึงได้เดินทางกลับมาบ้านสทัง แล้วได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดเขียนบางแก้วและ วัดสทังซึ่งปรักหักพังให้เจริญรุ่งเรือง ปะขาวอินทร์ให้นำเอาไม้แก่นแคฝอยแกะเป็นรูปนางเลือดขาว เรียกว่า “ประทุมกาศเทวดานางเลือดขาว” และได้สร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้ที่วัด สทัง ตำบลหานโพธิ์ เรียกว่า "พระงาม" วัดสะทังจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดพระงาม" เมื่อปะขาวอินทร์บูรณะวัดเขียนบางแก้วและวัดสทังเสร็จแล้ว จึงได้เดินทางไปอุปสมบทที่เมืองนครศรีธรรมราช คนทั่วไปจึงเรียกว่า "พระสามีอินทร์"
หลังจากได้อุปสมบทแล้วพระสามีอินทร์ก็ได้โดยสารเรือสำเภาเดินทางเข้าไปกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อไปถึงกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นเล่ากันว่า มีศึกล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ พระมหากษัตริย์ได้โปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศหาคนดีมีฝีมือปราบศึก พระสามีอินทร์เข้ารับอาสาปราบศึก โดยขอม้าตัวหนึ่งกับคน ๕๐๐ คน ออกทำเวทมนตร์ให้ข้าศึกงวยงง มีความกลัวหนีกลับเมืองหมด พระสามีอินทร์มีความชอบมาก โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระสังฆราชแต่พระสามีอินทร์ไม่ยอมรับ กลับนำเอากระบวนวัด พระพุทธรูป อุโบสถ วิหาร ที่ได้ปฏิสังขรณ์วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง ขึ้นทูลเกล้าๆถวายพระมหากษัตริย์ ขอพระราชทานเบิกญาติโยม ข้าพระคนทาน พระกัลปนาวัดให้ขึ้นกับทั้ง ๒ วัดนี้สืบไป ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามที่ขอทุกประการ และโปรดเกล้าฯ ให้พระสามีอินทร์ เป็นที่ พระครูอินทโมฬีศรีนันทราชฉัททันต์จุฬามนีศรีราชาปัญญาปรมาจาริยญานนุชิตพิพิธรัตนราชวงศ์พงภักดีศรีบุตร์ อุประดิษเถระ คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง และ โปรดเกล้าฯ ให้มอบเรือ ๓ ลำ บรรทุกอิฐ ปูน รัก ทอง ออก มาช่วยพระครูอินทโมฬีฯ บูรณะปฎิสังขรณ์วัดขึ้นคณะป่าแก้วต่อไป
ในขณะที่พระครูอินทโมฬีฯ เป็นเจ้าคณะป่าแก้ว หัวเมืองพัทลุงนั้น ท่านให้ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในหัวเมืองพัทลุงให้รุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก โดยมีวัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง เป็นศูนย์กลางของคณะป่าแก้ว มีวัดขึ้นจำนวนมากถึง ๒๙๐ วัด