๑. ประวัติความเป็นมา:
กระทรวงวัฒนธรรมมีพันธกิจในการเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป ให้มีการรักษา สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืนกอร์ปกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพที่พระราชทานเกียรติยศให้แก่ผู้วายชนม์ ซึ่งประกอบคุณงามความดีต่อประเทศชาติ ที่มีสิทธิตามหลักเกณฑ์ของสำนักพระราชวัง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ไปให้รัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป ต่อมา คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนปฏิบัติงานตามภารกิจพิธีการศพทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอและให้เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติภารกิจนี้ โดยให้พร้อมดำเนินการเต็มรูปแบบได้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เป็นต้นไป
กระทรวงวัฒนธรรม มีพันธกิจสนองงานสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำมิติทางวัฒนธรรมมาใช้ในการสร้างความสุขและความมั่นคงในสังคม สอดคล้องกับภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน จึงน้อมรับสนองงานให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายอย่างสมพระเกียรติ และเป็นการสืบทอดขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีของสำนักพระราชวังเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน โดยที่พิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เป็นภารกิจใหม่ และเป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามโบราณราชประเพณีของสำนักพระราชวัง ในแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรม
พิธีการพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน มีเจ้าหน้าที่ของกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานสนับสนุนเจ้าภาพในการปฏิบัติ ซึ่งต้องมีการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ขอรับพระราชทานฯ ในทางปฏิบัติอาจมีข้อจำกัดหรือข้อแตกต่างตามบริบทของพื้นที่การปฏิบัตินั้นๆ ทั้งในด้านธรรมเนียมประเพณี หรือข้อจำกัดทางด้านบุคลากรตามสถานที่ปฏิบัติ เพื่อให้พิธีการสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างสมพระเกียรติ ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ในขณะเดียวกันก็ให้เจ้าภาพผู้ขอพระราชทาน ฯ มีความสบายกาย สบายใจ และไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น รวมถึงความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้ขอรับพระราชทานฯ ผู้ประสานงาน และผู้ปฏิบัติ จึงได้จัดทำองค์ความรู้เรื่องหลักการประสานงานในการดำเนินงานพิธีการพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ตามโบราณราชประเพณี ในแนวทางของกระทรวงวัฒนธรรมนี้ขึ้น
๒. วัตถุประสงค์:
๒.๑ เพื่อให้หัวหน้าชุดปฏิบัติ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติพิธี ตลอดจนผู้ขอรับพระราชทานฯ รับทราบขั้นตอน การเตรียมการ และการปฏิบัติงานพิธีการพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
๒.๒ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตามหลักพิธีการฯ แม้จะมีข้อจำกัดหรือข้อแตกต่างตามบริบท
ของพื้นที่การปฏิบัตินั้นๆ ทั้งในด้านธรรมเนียมประเพณี หรือข้อจำกัดทางด้านบุคลากรตามสถานที่ปฏิบัติ
ให้พิธีการสามารถดำเนินไปได้อย่างสมพระเกียรติ ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ในขณะเดียวกันก็ให้เจ้าภาพ
ผู้ขอพระราชทาน ฯ มีความสบายกาย สบายใจ และไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น
๒.๓ เพื่อให้ผู้ขอรับพระราชทานฯ ผู้ประสานงาน และผู้ปฏิบัติ มองเห็นภาพรวมของพิธีการที่ตรงกัน และทำให้พิธีการฯ ดำเนินงานได้อย่างราบรื่น
๓. วัสดุ / อุปกรณ์:
๓.๑ อุปกรณ์สำหรับการปฏิบัติ
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงอุปกรณ์ในพิธีสวดพระอภิธรรมไว้ ดังนี้
“การสวดพระอภิธรรมไม่เหมือนกับการสวดพระพุทธมนต์ทั่วไป สิ่งที่เจ้าภาพจะต้องจัดเตรียมเกี่ยวกับเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลศพ เช่น โต๊ะหมู่บูชาพระรัตนตรัย อาสน์สงฆ์ ดอกไม้ เครื่องบูชาศพเป็นต้น จะต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องใช้เพิ่มเติมที่เกี่ยวกับการสวดพระอภิธรรม คือ
๑. การสวดพระอภิธรรมสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ใน พระบรมราชานุเคราะห์ คือ
๑.๑ อาสน์สงฆ์ สำหรับพระสงฆ์ จำนวน ๔ รูป นั่งสวด
๑.๒ ตู้พระธรรม พร้อมคัมภีร์พระอภิธรรม
๑.๓ เครื่องบูชาพระธรรม แจกันดอกไม้ ธูปเทียน สำหรับ บูชาพระธรรม
๑.๔ พัดรองที่เกี่ยวกับงานอวมงคล จำนวน ๔ เล่ม
๒. การสวดพระอภิธรรมในพิธีการพระศพ หรือ พิธีงานศพใน พระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และพระอนุเคราะห์ จะต้องมี อุปกรณ์ในพิธีโดยเฉพาะ เมื่อได้เห็นอุปกรณ์ในพิธีการก็จะทราบได้ทันที ว่าเป็นพิธีสวดพระอภิธรรมงานศพหลวง อุปกรณ์ต่างๆ มีดังนี้
๒.๑ สถานที่นั่งสวด เรียกว่า ซ่าง (คดซ่าง* คดสร้าง สร้าง ส้าง สำซ่าง) พระแท่นเตียงสวด เตียงสวด อาสน์สงฆ์
๒.๒ ตู้พระธรรมมี ๔ แบบ คือ ตู้ทองทึบ ตู้ประดับกระจก ตู้ลายรดน้ำใหญ่ และตู้ลายรดน้ำเล็ก
๒.๓ คัมภีร์พระอภิธรรม
๒.๔ พัดยศพระราชาคณะชั้นสามัญยก ใช้ตั้งติดกับตู้พระอภิธรรม
๒.๕ พัดยศพระพิธีธรรม ๔ ด้าม มีสีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว
๒.๖ ที่บูชากระบะมุกสำหรับบูชาพระธรรม
อุปกรณ์ต่างๆ มีระเบียบการใช้และข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันไปดังนี้
๑) ซ่าง (คดซ่าง คดสร้าง สร้าง ส้าง สำซ่าง) พระแท่นเตียงสวด เตียงสวด อาสน์สงฆ์เป็นสถานที่สำหรับพระพิธีธรรมนั่งสวดพระอภิธรรม ในงานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จะมีการตั้งพระแท่น เตียงสวด ๒ พระแท่นทางมุขด้านทิศเหนือ ในงานพระเมรุมาศที่ ท้องสนามหลวง จะมีที่สำหรับพระพิธีธรรมนั่งสวดพระอภิธรรมที่ด้าน มุมของเมรุทั้ง ๔ มุมพระเมรุ เรียกว่า ซ่าง หรือ ซ่างเมรุ ในงานพระบรม ราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ พระอนุเคราะห์ที่จัดตามวัดต่างๆ จะมี อาสน์สงฆ์เป็นที่นั่งสวดพระอภิธรรม แต่บางวัดก็มีเตียงสวดหรือมีซ่างด้วย เช่น วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ และวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นต้น
๒) ตู้พระธรรมใช้ในเวลาสวด โดยตั้งไว้ด้านหน้าพระพิธีธรรม ตู้พระธรรมนี้มีระเบียบการใช้ในงานหลวงต่างๆ คือ
(๑) งานพระบรมศพและงานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช ใช้ตู้พระธรรมทองทึบ
(๒) งานพระศพพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้า และ ราชนิกุล ใช้ตู้พระธรรมประดับกระจก
(๓) งานศพสมเด็จพระราชาคณะ ข้าราชการผู้ใหญ่ องคมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ระดับรัฐมนตรี ขึ้นไปซึ่งเสียชีวิตในขณะดำรงตำแหน่ง ใช้ตู้พระธรรมลายรดน้ำใหญ่
(๔) งานศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชานุเคราะห์ และพระอนุเคราะห์ใช้ตู้พระธรรมลายรดน้ำเล็ก
๓) คัมภีร์พระอภิธรรมแต่เดิมมาจะตั้งคัมภีร์พระอภิธรรม ไว้บนตู้พระธรรมในขณะที่สวดสันนิษฐานว่า เพื่อให้พระสงฆ์อ่านในเวลา สวดเพื่อป้องกันความผิดพลาด ปัจจุบันนี้มิได้นำออกวางบนตู้พระธรรม คงบรรจุอยู่ในตู้พระธรรม และพระพิธีธรรมก็มิได้อ่านคัมภีร์ในขณะสวด แต่ประการใด และในการเชิญศพเวียนเมรุ พระสงฆ์จะนั่งเสลี่ยงอ่านคัมภีร์พระอภิธรรม
๔) พัดยศพระราชาคณะชั้นสามัญยก ใช้ตั้งติดตรงกลาง ตู้พระธรรม เรื่องนี้มีที่มาอย่างไรไม่ปรากฏ แต่มีการสันนิษฐานว่าในการ พระศพ ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี เสด็จมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการส่วนพระองค์ พระสงฆ์ต้อง ถวายอดิเรก และพระสงฆ์ที่จะถวายอดิเรกได้ ต้องเป็นพระราชาคณะ ต้องใช้พัดยศ เนื่องจากแต่ก่อน พระราชาคณะมีจำนวนน้อย เมื่อถึงคราวจำเป็นรีบด่วน อาจทำให้ไม่สามารถหาพัดยศได้ทันจึงจัดพัดยศมาตั้งเตรียมไว้ และเหตุที่ใช้พัดยศพระราชาคณะชั้นสามัญยก ซึ่งเป็นพัดยศพระราชาคณะชั้นต้นนี้ เพราะมีธรรมเนียมว่า พระสงฆ์ที่มี สมณศักดิ์สูง สามารถใช้พัดยศสมณศักดิ์ชั้นต่ำกว่าได้ แต่พระสงฆ์จะใช้ พัดยศที่สูงกว่าสมณศักดิ์ของตนมิได้ ปัจจุบันพระสงฆ์สมณศักดิ์มีจำนวนมาก การสื่อสารตลอดทั้งยานพาหนะสะดวก เมื่อเกิดมีกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ สามารถนิมนต์พระราชาคณะมาได้ทันท่วงที การตั้งพัดยศไว้คงถือตาม ธรรมเนียมเดิม และถือเป็นเอกลักษณ์งานหลวงอีกประการหนึ่งด้วย
๕) พัดพระพิธีธรรมการสวดในงานพิธีศพต่างๆ พระสงฆ์นิยม ใช้พัดตั้งตรงหน้าในขณะทำการสวด พระพิธีธรรมมีพัดประจำตำแหน่ง ที่เรียกว่า พัดพระพิธีธรรม ใช้ตั้งตรงหน้าเวลาสวด พัดพระพิธีธรรมนี้ มีจำนวน ๔ ด้าม ลักษณะเป็นพัดหน้านาง แต่ละด้ามมีสีต่างๆ กัน คือ สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน และสีเขียว เป็นผ้าแพร สีพื้นเหมือนกันทั้ง สองด้าน ปักไหมทองเป็นลักษณะคล้ายรัศมีจากใจกลางพัด ด้ามเป็นไม้ ลักษณะตับคาบใบพัดไว้ ตรงกลางทำไม้เป็นแผ่นรูปวงกลมรี แกะตัวอักษรด้วยมุกคำว่าพระพิธีธรรมแล้วฝังลงในเนื้อไม้ ยอดพัดและส้นพัดเป็นงา(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัสดุคล้ายงาแล้ว)
พัดพระพิธีธรรมนี้ เมื่อใช้ในขณะสวดจะมีวิธีนั่งสวดและเรียงพัด เป็น ๒ แบบ ได้แก่ เรียงตามลำดับศักดิ์ของพัดยศ และเรียงตามคู่ การเรียง ตามลำดับศักดิ์ของพัด คือ สีเหลือง สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียว ส่วนการเรียงตามคู่นั้น เริง อรรถวิบูลย์ ได้กล่าวถึงลักษณะพัดพระพิธีธรรม และการใช้ไว้ดังนี้
“...พัดยศพระพิธีธรรม มี ๔ ด้าม มีสีต่าง ๆ กันดังนี้ สีเหลือง สำหรับแม่คู่รูปที่ ๑ สีแดง สำหรับแม่คู่รูปที่ ๒ สีน้ำเงิน เคียงแม่คู่รูปที่ ๑ สีเขียว เคียงแม่คู่รูปที่ ๒ เฉพาะ พัดยศพระพิธีธรรมนี้ ตรงใจกลางพัดยศ ช่างสลักแกะด้วยมุก เป็นอักษรว่า พระพิธีธรรม ฝังอยู่”(เริง อรรถวิบูลย์. เล่ม ๑, ๒๕๑๒. หน้า ๔๕.)
การเรียงพัดพระพิธีธรรมและวิธีการนั่งสวดตามที่กล่าวถึง ก็จะเป็น สีน้ำเงิน สีเหลือง สีแดง สีเขียว เพราะสีเหลืองกับสีแดงเป็น แม่คู่ นั่งอยู่ตรงกลาง ส่วนสีน้ำเงินเป็นลูกคู่ของสีเหลืองต้องนั่งด้านขวา ของสีเหลือง สีเขียวเป็นลูกคู่ของสีแดง ต้องนั่งด้านซ้ายของสีแดง ส่วนการ ใช้พัดพระพิธีธรรมในพิธีการอื่น เช่น สดับปกรณ์ มาติกา บังสุกุล เป็นต้น นิยมนั่งเรียงตามลำดับศักดิ์ของพัดยศ” โดยในการปฏิบัติของกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน กระทรวงวัฒนธรรม ปัจจุบันจะใช้ตู้พระธรรมลายรดน้ำเล็กเท่านั้น (สำหรับเครื่องประกอบเกียรติยศ โกศแปดเหลี่ยม)
๓.๒ อุปกรณ์สำหรับการเตรียมความพร้อม
อุปกรณ์เพื่อการจัดเตรียมธูปเทียนเครื่องกระบะมุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประธานในพิธี
๑) มีดคัทเตอร์
๒) สำลี
๓) สก็อตเทปใส
๔) เชื้อน้ำมันเทียน
๕) ไฟแช็ก
๖) เชิงเทียนชนวน
อุปกรณ์อื่นๆที่ควรจัดเตรียมไป สำหรับกรณีที่สถานที่ปฏิบัติอาจมีความไม่พร้อมในเรื่องของอุปกรณ์เฉพาะทาง (เช่น ประกอบพิธีในสถานที่ที่ไม่ใช่วัด หรือเป็นวัดในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น)
๗) ที่กรวดน้ำ สำหรับประธานในพิธี
๘) ภูษาโยงพร้อมพานวาง
๙) ริบบิ้นแพรสีขาว สำหรับผูกผ้าสบง
๑๐) พานเชิญผ้าสบง
๔. กระบวนการ / ขั้นตอน:
๔.๑ ขั้นตอนการประสานงานกับเจ้าภาพผู้ขอรับพระราชทาน
๑) ข้อมูลการประสานงานจะได้รับจากห้องงานประสานขอพระราชทานเพลิง โดยผู้รับผิดชอบ
ในการประสานงานควรเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติงานนั้นๆ และควรประสานงานล่วงหน้าเพื่อเตรียมอุปกรณ์ รวมทั้งนิมนต์พระพิธีธรรมประจำพื้นที่ที่ใกล้เคียง หรือสะดวกในการปฏิบัติภารกิจ
๒) เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานแนะนำตัวกับเจ้าภาพ และให้ข้อแนะนำการประสานงานกับทางวัดจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ดังนี้
๒.๑) จัดเตรียมโต๊ะสำหรับวางที่บูชากระบะมุก หากไม่มี สามารถวางที่บูชากระบะมุกบนพื้นที่ด้านหน้าอาสน์สงฆ์ได้ ขึ้นอยู่กับสถานที่ว่ามีพื้นที่เพียงพอหรือไม่
๒.๒) จัดเตรียมผ้าบังสุกุลสำหรับทอดถวายพระพิธีธรรม (ใช้ผ้าสบงสีราชนิยม) คืนละ ๔ ผืน พร้อมปัจจัยถวายพระทั้ง ๔ รูป ขั้นต่ำรูปละ ๓๐๐ บาท ใส่ซองให้เรียบร้อย (ปัจจัยเจ้าภาพเป็นผู้จัดถวาย)
๒.๓) ดอกไม้ และเครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์ (แล้วแต่ความประสงค์ของเจ้าภาพ)
๒.๔) ประสานทางเจ้าภาพและเจ้าหน้าที่ศาลา เพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าของพื้นที่ว่าเป็นพิธีหลวง จะนิมนต์พระพิธีธรรมเข้าไปสวดในวัด ในการนี้ ให้เจ้าหน้าที่วัดนำความกราบเรียนเจ้าอาวาสวัดนั้นๆด้วย
๒.๕) ประสานงานเรื่องที่พักพระพิธีธรรม ในขณะรอขึ้นสวด หากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ให้กราบเรียนพระพิธีธรรมพักบนรถตู้ของกลุ่มพิธีการฯ ได้ ในระหว่างรอการปฏิบัติ
๒.๖) ประสานงานเรื่องระยะเวลาการเริ่มสวดตามธรรมเนียมของวัดนั้นๆ
๒.๗) ตอบข้อซักถาม และนัดเวลาเจ้าภาพในวันปฏิบัติ ควรถึงสถานที่ก่อนเวลาตามหมายรับสั่ง ๑ - ๒ ชั่วโมง เพื่อประสานงานและเตรียมการซักซ้อมอื่นๆ
๔.๒ ขั้นตอนการปฏิบัติในวันพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม
แบ่งเป็น การปฏิบัติในคืนแรก และคืนที่สองเป็นต้นไป มีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- การปฏิบัติในคืนแรก จะต้องมีการสวด ๑ จบ หลังจากสุกำร่างของผู้วายชนม์และบรรจุลงหีบเรียบร้อยแล้ว จากนั้นพระสงฆ์ลงจากอาสน์สงฆ์ เพื่อรอเวลาสวดตามธรรมเนียมของวัดนั้นๆ และทำการสวดอีก ๓ จบที่เหลือ
- การปฏิบัติในคืนที่สองเป็นต้นไป จะมีการสวดทั้งสิ้น ๔ จบ ในเวลาสวดตามธรรมเนียมของวัดนั้น
๑) ชุดปฏิบัติงานตามหมายรับสั่ง ใช้เจ้าหน้าที่ จำนวน ๔ นาย ประกอบด้วย
๑.๑) หัวหน้าชุดปฏิบัติ ๑ นาย แต่งกายเครื่องแบบชุดปกติขาวไว้ทุกข์ ทำหน้าที่เผดียงสงฆ์ (พระพิธีธรรม) ประสานงานและซักซ้อมความเข้าใจกับเจ้าภาพ, ประธานในพิธี, พิธีกร, เจ้าหน้าที่วัดหรือเจ้าหน้าที่ประจำศาลา, ถ่ายภาพเพื่อการรายงาน, ช่วยปฏิบัติพิธีการ
๑.๒) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี ๒ นาย แต่งกายเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ เป็นผู้ปฏิบัติพิธีการ
๑.๓) พนักงานขับรถยนต์ ๑ นาย แต่งกายเครื่องแบบสีกากี (สนว.๐๑) ประสานงานเส้นทางการนิมนต์พระสงฆ์ ช่วยปฏิบัติในการลำเลียงอุปกรณ์และของถวายพระกลับขึ้นรถยนต์
๒) การเตรียมความพร้อมก่อนเวลาพิธีการ
๒.๑) เมื่อออกฎีกานิมนต์พระสงฆ์เรียบร้อยแล้ว ให้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถไปรับพระพิธีธรรมจากพระอารามหลวง และไปให้ถึงก่อนเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ กรณีที่เป็นการปฏิบัติในคืนแรก
๒.๒) อุปกรณ์ในการเตรียมความพร้อม และอุปกรณ์ในการปฏิบัติอื่นๆ ให้นำไปกับรถเชิญเครื่องประกอบเกียรติยศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เชิญไปตั้ง และดำเนินการตามความเหมาะสมของสถานที่ ดังนี้
- นำพัดรองอื่นๆออก เนื่องจากในพิธีการจะใช้เพียงแค่พัดพระพิธีธรรมเท่านั้น
- นำตู้พระธรรมของวัดออก และตั้งตู้พระธรรมประกอบเกียรติยศไว้ด้านหน้าตรงกลาง ระหว่างพระรูปที่ ๒ และ ๓ ของชุดพระพิธีธรรมแทน
- ตั้งกระบะมุกไว้ด้านหน้าตู้พระธรรม ในลักษณะหันพุ่มดอกไม้เข้าหาตู้พระอภิธรรม เพื่อให้ประธานในพิธีจุดบูชาพระธรรม และแต้มเชื้อเทียนชนวนให้เรียบร้อย
- ประสานงานกับเจ้าภาพเพื่อเตรียมผ้าสบง ปัจจัย ไทยธรรม น้ำปานะ และนำผ้าสบงมาผูกริบบิ้นสีขาวให้เรียบร้อย
- ตั้งภูษาโยงเพื่อรอเชื่อมกับสายแถบหลังการสุกำเสร็จ
๓) ขั้นตอนการปฏิบัติในพิธีการพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมการมอบหมายงานเจ้าหน้าที่ เพื่อความต่อเนื่องของพิธีการ มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้
๓.๑) เมื่อเจ้าหน้าที่สุกำทำการสุกำศพและบรรจุร่างผู้วายชนม์ใกล้เสร็จ ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติคนที่ ๑ นิมนต์พระพิธีธรรมขึ้นบนอาสน์สงฆ์
๓.๒) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติคนที่ ๒ เข้าเทียนชนวนให้แก่ประธานในพิธี โดยมีหัวหน้าชุดปฏิบัติเป็นผู้ประสานงานไว้ก่อนแล้ว
๓.๓) เมื่อพระพิธีธรรมสวดจบที่ ๑ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะวางพัดพิธีธรรมที่ตู้พระธรรม และจะหยุดพักระหว่างจบชั่วครู่ ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติคนที่ ๑ และ ๒ เข้าถวายน้ำปานะโดยให้ถือถาดรองชุดกี๋ หรือภาชนะที่เหมาะสม ๑ นาย และผู้ยกถวายพระอีก ๑ นาย โดยเข้าปฏิบัติจากด้านท้ายอาสน์สงฆ์เป็นหลักตามขั้นตอนดังนี้
- ควรทำความเคารพก่อน และหลังเข้าปฎิบัติแต่ละภารกิจทุกครั้ง
- เจ้าหน้าที่ยกถวาย อยู่ด้านในชิดอาสน์สงฆ์ โดยมีเจ้าหน้าที่ถือถาดรอง อยู่ด้านข้าง หากพื้นที่คับแคบ สามารถตั้งเป็นแถวตอนลึกและขยับออกมาด้านข้างเมื่อพื้นที่เหมาะสมได้
- เดินแถวเข้าไปจนถึงบริเวณก่อนพระสงฆ์รูปสุดท้าย ทำความเคารพ ๑ ครั้งโดยให้ยึดหลักการดังต่อไปนี้
๑. หากเป็นงานที่มีการเสด็จฯ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือมีผู้แทนพระองค์เป็นประธานให้ทำความเคารพด้วยการถวายคำนับ
๒. หากไม่มีการเสด็จ ฯ ให้ยึดถือสถานะของผู้วายชนม์เป็นหลักหากเป็นพระสงฆ์ ให้ใช้การไหว้หากเป็นฆราวาส ให้ใช้การคำนับ(ผู้ถืออุปกรณ์ทั้งสองมือที่ไม่สะดวกแก่การไหว้หรือการคำนับ ให้ใช้การยืนตรงเพื่อความความเคารพ)
- จากนั้นเดินไปจนถึงบริเวณหน้าตู้อภิธรรม ลงเข่าพร้อมกัน และเดินเข่าไปจนถึงพระสงฆ์รูปที่ ๑ จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ยกประเคนถวายพระสงฆ์ทีละรูป จนถึงรูปสุดท้าย แล้วจึงลุกยืน ทำความเคารพ แล้วเดินกลับออกมาทางด้านท้ายอาสน์สงฆ์
- เมื่อพระพิธีธรรมเริ่มสวดจบที่ ๔ พร้อมกันทั้งหมดแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปถอนน้ำปานะด้วยขั้นตอนแบบเดียวกัน ในระหว่างที่พระกำลังสวด
๓.๔) เมื่อพระพิธีธรรมสวดจบที่ ๔ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะวางพัดพิธีธรรมที่ด้านหลังของพระพิธีธรรมแต่ละรูป ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติทั้ง ๓ นาย เข้าถอนเครื่องกระบะมุก โต๊ะวางเครื่องกระบะมุก และตู้พระธรรมตามลำดับ โดยทำความเคารพก่อนและหลังเข้าปฏิบัติทุกครั้ง
๓.๕) เจ้าหน้าที่ปฏิบัติผู้ถอนเครื่องกระบะมุก เข้าลาดภูษาโยง ผู้ช่วยปฏิบัติเข้าพานผ้าบังสุกุล (ผ้าสบง) ถวายพระสงฆ์ และหัวหน้าชุดปฏิบัติเชิญประธานในพิธีทอดผ้าบังสุกุลถวาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติผู้ทอดถวายควรเป็นประธานในพิธีเท่านั้น และมีหลักในการเชิญผ้าบังสุกุล (ผ้าสบง) ถวายพระพิธีธรรม ดังนี้
๓.๕.๑ หากประธานเป็นพระสงฆ์, พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป, ผู้แทนพระองค์, องคมนตรี จะใช้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ๒ คน (หัวหน้าชุดปฏิบัติ และผู้เข้าพานเชิญผ้าบังสุกุล) โดยให้หัวหน้าชุดปฏิบัติ หยิบผ้าบังสุกุลจากพาน ส่งให้ประธานในพิธีเพื่อทอดถวาย และระหว่างปฏิบัติ ให้ใช้การเดินเข่าหลังทำความเคารพ จนจบภารกิจการเชิญผ้าบังสุกุล
๓.๕.๒ หากประธานเป็นฆราวาส ที่มีชั้นยศนอกเหนือจากบุคคลในข้อ ๓.๕.๑ใช้เจ้าหน้าที่เชิญพานผ้าบังสุกุลเพียงแค่คนเดียว และให้ผู้ที่เป็นประธานหยิบผ้าบังสุกุลจากพานเชิญด้วยตนเอง
๓.๖) เมื่อประธานทอดผ้าบังสุกุลถวายเสร็จ และกลับไปนั่งที่เก้าอี้แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้ถอนเครื่องกระบะมุก เตรียมเข้าที่กรวดน้ำของประธานในพิธี ในระหว่างที่พระสงฆ์กำลังพิจารณาผ้าบังสุกุลการเข้าที่กรวดน้ำของประธานในพิธี มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
๓.๖.๑ การเชิญที่กรวดน้ำและถือที่รองรับน้ำกรวดให้ผู้เป็นประธาน ปฏิบัติเมื่อประธานมีชั้นยศดังต่อไปนี้
- พระสงฆ์
- พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้า ขึ้นไป
- ผู้แทนพระองค์
- องคมนตรี
๓.๖.๒ นอกจากบุคคลในข้อ ๓.๖.๑ เป็นประธานในพิธี ให้เจ้าหน้าที่เชิญที่กรวดน้ำไปตั้งไว้บนโต๊ะเคียงของประธานในพิธี และเมื่อประธานฯกรวดน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เชิญที่กรวดน้ำออกทันที
๓.๗) เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้เข้าพานผ้าบังสุกุล เข้าปฏิบัติในการถอนภูษาโยงและผ้าบังสุกุลออก จากนั้นยืนรอบริเวณท้ายอาสน์สงฆ์เพื่อรอนิมนต์พระพิธีธรรมกลับขึ้นรถ
๓.๘) หัวหน้าชุดรับพระสงฆ์ลงจากอาสน์สงฆ์ และยืนรอรับพัดพระพิธีธรรมที่ด้านท้ายอาสน์สงฆ์
๓.๙) เจ้าหน้าที่ที่เหลือ จัดเตรียมสถานที่สำหรับงานในคืนถัดไป (ตั้งโต๊ะเครื่องกระบะมุก และตู้อภิธรรม) กรณีเป็นการปฏิบัติคืนสุดท้ายและมีการพระราชทานเพลิงศพในวันถัดไป ให้เตรียมความพร้อมในการจัดตู้อภิธรรมและพัดพิธีธรรมในการสวดหน้าไฟ
๓.๑๐) เจ้าหน้าที่ลาเจ้าภาพ เก็บแบบประเมินความพึงพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ฯ และเดินทางกลับ (การส่งแบบประเมิน ฯ ดังกล่าว ควรให้กับเจ้าภาพเมื่อไปถึงพิธีทันที เพื่อที่เจ้าภาพจะได้มีเวลาในการพิจารณาการประเมิน ทำให้สามารถเก็บคืนได้หลังพิธีการเสร็จสิ้นทันที โดยไม่เป็นการเร่งรัดเจ้าภาพ)
๕. สถานที่ตั้งขององค์ความรู้:
กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ณ วัดวิจิตราราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
๖. สถานภาพปัจจุบัน
๑) สถานการณ์คงอยู่ขององค์ความรู้ : มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย
๒) สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม : มีการถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรมทั้งจากกองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานในส่วนกลาง และการฝึกทบทวนภายในของหน่วยงานส่วนภูมิภาค
๗. ข้อเสนอแนะ
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ควรฝึกทบทวนในการปฏิบัติให้มีความชำนาญอยู่ตลอด และสามารถป้องกันรวมถึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
๘. ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆ
๑) กองพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน กระทรวงวัฒนธรรม. ๒๕๖๓. เอกสารประกอบการอบรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างบุคลิคภาพและพัฒนาทักษะความชำนาญการปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓.
๒) กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๖๐). พระพิธีธรรม. ค้นเมื่อ ๒ สิงหาคม ๒๕๖๔, จาก http://www.dra.go.th/upload/eknowledgecenter/eknowledge-831-prapiteetum%2061.pdf