พิธีกรรม : ไหว้สัดดี
สระหัว เป็นพิธีกรรมทำบุญรดน้ำให้แก่ผู้สูงอายุที่ตนเคารพนับถือ มีทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ เป็นการประกอบส่วนบุญกุศล ทดแทนพระคุณต่อผู้สูงอายุขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้สูงอายุเกิดความปีติ ทำให้มีอายุยืนยาวต่อไปอีก งานสระหัวเป็นงานใหญ่ บุคคลที่มีผู้คนเคารพนับถือ มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมีบริวาร และมีลูกหลานมากเท่านั้น จึงจะจัดงานสระหัวได้ จะตั้งงานที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ ถ้ามีบริเวณบ้านไม่กว้างขวางพอไปจัดงานในวัดที่อยู่ใกล้กับผู้สูงอายุ ต้องเตรียมงานล่วงหน้าดังนี้
๑. เบญจา
เป็นที่นั่งรดน้ำปลูกสร้างอย่างประณีต มี เสา ๔ เสา นิยมทำเสาด้วยต้นหมาก เกลาเปลือกออก ฝังลงในดิน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ระยะเสาห่างกัน ๑.๕ เมตร ฝังเสาให้ปลายเอียงเข้าใน ตรงยอดเสาห่างกัน ๑.๒ เมตร ยกพื้นสูงจากพื้นดิน ๖๐ เซนติเมตร ใส่รอด ตง ปูฟากไม้ไผ่เป็นที่นั่งของผู้สูงอายุ จากที่นั่งสูงขึ้นไป ๒.๔ เมตร ติดชื่อเสมอกันทั้ง ๔ ด้าน เป็นที่วางมณฑป ถัดมาอีก ๓๐ เซนติเมตร คิดคอสอง เพื่อผูกผ้าขาวเป็นเพดานรับน้ำ มณฑปทำเหมือนนมบุษบกลากพระ ทำด้วยทางระกำหรือไม้ ทำเป็น ๕ ชั้น มียอดคล้ายยอดมงกุฎ ประดับด้วยกนกลวดลายไทยทำด้วยกระดาษทองเกียบ เสาห่อหุ้มด้วยกระดาษทองเกียบ มีลวดลายผูกผ้าแพร ห้อยจากเพดาน ทั้ง ๔ เสา ผูกรอบกลางเสา ให้ปลายผ้าด้านล่างเรี่ยพื้น ฐานเบญจาทำเป็นบัวคล้ายชุกชี ประดับด้วยกระหนกลวดลาย ตัวเบญจาจากพื้นถึงเพดานถ้าจะประดับด้วยหยวกที่มีช่างแทงหยวกอย่างชำนาญ ต้องทำตอนกลางคืน ซึ่งรุ่งขึ้นเป็นวันรดน้ำ ฐานะของเจ้าภาพยิ่งใหญ่เพียงได้ดูได้จากการสร้างเบญจา
๒. เรือมาด
ขังน้ำได้ไม่รั่วไหล ยาวประมาณ ๙ ศอกหรือ ๑๑ ศอก นำขึ้นวางบนคาคบไม้ที่อยู่ใกล้ๆ กับเบญจาผูกเรือให้มั่นคง วางระดับท้องเรือให้อยู่สูงกว่าเพดานของเบญจาตักน้ำใส่เรือให้เต็ม
๓. หัวนาค
ทำด้วยไม้ขนาดครึ่งเท่าของพระ ยาวประมาณ ๒ ศอก ส่วนคอเป็นรูปโค้งเจาะช่องจากปากไปทะลุกลางลำคอ เพื่อเป็นช่องน้ำไหล หัวนาค มักทำสำเร็จรูปไว้แล้ว
๔. ไม้ไผ่บางที่แก่จัด
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕ นิ้วยาว ๕-๘ เมตร ใช้ไม้เนื้อแข็งทะลวงข้อข้างในออก ปลายข้างหนึ่งสอดเข้าในรูท้องเรือ ยาชันให้สนิท ใช้ไส้ไม้ระกำอุดรูไว้ปลายข้างหนึ่งต่อสอดเข้าในคอนาค ยาชันให้สนิท ระดับไม้ไผ่ต้องอยู่ต่ำกว่าปากนาค เมื่อน้ำไหลจะเป็นรูปโค้ง แตกออกเป็นฝอยคล้ายกับนาคพ่นน้ำ
๕. โรงพระ
สร้างขึ้นชั่วคราว หลังคามุงจาก ฝ่าทางมะพร้าวหรือทางตาล กั้น ๓ ด้าน หันหน้ามาสู่เบญจา พื้นปูกระดานหรือฟากไม้ไผ่ กว้าง ๒ เมตร ยาว ๘ เมตร เมื่อวางโต๊ะหมู่บูชาแล้วพระภิกษุสงฆ์นั่งเรียงกันได้ ๙ รูป ใช้เป็นที่ฉันภัตตาหารเพลด้วย ผู้มีฐานะดีจะนิมนต์พระมากเท่าไรไม่จำกัดต้องขยายโรงพระออกไป
๖. โรงปะรำ
ทำต่อเชื่อมกับโรงพระ หลังคามุงใบมะพร้าวสาน มีความกว้างยาวพอคนนั่งได้เพียงพอ ปูเสื่อนั่งพื้นเตรียมเก้าอี้หรือม้านั่งหรือแคร่เล็กๆ ไว้ให้ผู้สูงอายุนั่งรับศีลฟังธรรมด้วย
๗. โรงประกอบอื่น ๆ
ที่ต้องปลูกเตรียมไว้ มีโรงครัวโรงเลี้ยงแขก โรงหนัง โรงโนรา โรงตรวด อ้ายตูม ดอกไม้ไฟ แมงนี้ แมงชอน มักเป็นช่างเดียวกัน
จากนั้นผู้กล่าวนำจะเป็นตัวแทนนำพวงมาลัยไปสวมมือและประเดิมรดน้ำเป็นคนแรก ผู้ประจำเรือดึงไส้ระกำที่ตรงปางไม้ไผ่ออก น้ำไหลลงบนเพดานผ้าขาว อาบลงบนร่างกายของผู้สูงอายุ ลูกหลานไปช่วยขัดสีเหงื่อไคลให้ผู้สูงอายุที่มีลูกหลานมาก ๆ ที่ถูกอาบน้ำนาน อาบมิ่งสิ่งพรให้แก่ทุกคน เมื่อลูกหลานได้รดน้ำกันต่างทั่วถึงแล้ว ช่วยกันประคองลงจากเบญจาไปยังฉากกำบังที่เตรียมไว้ เช็ดตัวให้แห้งสนิท ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม แล้วผลัดเปลี่ยนผ้านุ่ง เสื้อ ผ้าห่ม ชุดใหม่ที่ดีที่สุดให้ มีผู้สูงอายุชายหญิงจำนวนเท่าไร ก็ต้องเตรียมมาให้ครบคน
เมื่อแต่งกายผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อย ช่วยกันประคองให้มานั่งห้อยเท้าในที่ที่เตรียมไว้ ผู้อาวุโสจุดรูปเทียนโต๊ะหมู่บูชา กล่าวคำบูชาพระรันตรัย อาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ประพรมน้ำพุทธมนต์ ถวายปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา แผ่เมตตาถวายภัตตาหาร ทุกคนร่วมกันรับประทานอาหารในโรงปะรำเป็นเสร็จพิธีสระหัว