มีตำนานเล่ากันมาว่า ที่คลองนางเรียม ซึ่งเป็นชื่อลำคลองที่เชื่อมระหว่างทะเลน้อยกับทะเลสาบสงขลา ความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ ๓ เมตรความกว้างไม่แน่นอน เรือใบขนาด ๒ เสาใบ แล่นผ่านไปมาได้สะดวก ความยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร สองฝั่งคลองมีน้ำท่วมขังตลอดปี ปกคลุมด้วยพงหญ้า ไม้น้ำชนิดต่างๆ มีอาณาบริเวณกว้างไกล ในอดีตเป็นที่อาศัยของจระเข้เป็นจำนวนมาก มีปลาเป็นอาหารอุดมสมบูรณ์ มีที่หลบซ่อนได้ดีรองรังออกไข่ ฟักไข่อย่างปลอดภัย
ในจำนวนจระเข้ขนาดใหญ่นับร้อย มีจระเข้ที่มีอายุมากที่สุดและใหญ่ที่สุดอยู่ตัวหนึ่ง พันธุ์ทองหลาง ขนาดโตและยาวเท่ากับทางมะพร้าวสาว (คือรวมความกว้างของก้านใบทั้ง ๒ ข้างด้วย) เชื่อกันว่าจระเข้ตัวนี้ไม่ทำร้ายคน ไม่กินสัตว์ วัวควายของชาวบ้าน ชาวทะเลน้อยเรียกกันว่า“ทวดนางเรียม”
ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวทะเลน้อยเล่าว่า น้อยคนนักจะได้เห็นทวดนางเรียมทั้งตัว ถ้ามีการบวงสรวงบนบาน เพื่อขอดู จะโก่งหลังให้ดูเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ชาวทะเลน้อยนับถือเป็นจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ สามารถให้ความปลอดภัยในการเดินทางตรงที่ทวดนางเรียมอาศัยอยู่เป็นประจำอยู่ใกล้กับทางช้างข้ามมีต้นทองหลางขนาดใหญ่เป็นเครื่องหมาย ทางฝั่งทิศเหนือของลำคลอง ชาวบ้านนำธงผ้าสีแดงไปปักไว้เป็นเครื่องหมายสำคัญ เรือทุกชนิด เมื่อผ่านธงสีแดงต้องหยุดหรือชะลอใช้หมากพลู ๑ คำเป็นเครื่องสักการบูชา คนที่ไม่มีหมากพลูก็ประนมมือไหว้ เพื่อให้การเดินทางปลอดภัย
เมื่อมีพรานล่าจระเข้เกิดขึ้น ไม่มีผู้ใดกล้าไปแตะต้องทวดนางเรียม นับแต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๗ เป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดได้พบเห็นทวดนางเรียมอีกเลย หายสาบสูญไปไหนไม่มีใครทราบได้ แต่ชาวทะเลน้อยเมื่อเดินทางผ่านบริเวณดังกล่าวยังคงสักการะบูชาอยู่เหมือนเดิม เขาเชื่อกันว่าดวงวิญญาณของทวดนางเรียม ยังคงสถิตเฝ้าคลองนางเรียมอยู่ตลอดไป