มีเรื่องเล่ากันมาว่า เจ้าฟ้าอิ่มและเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียก พระพุทธรูป ๒ องค์ คือ เจ้าฟ้าอิ่มองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อองค์หนึ่ง พระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาอ้อ หมู่ที่ ๓ ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ตามตำนานที่เล่าสืบต่อ ๆ มาว่าพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระพุทธรูป ทั้ง ๒ ให้แก่วัดเขาอ้อเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าฟ้าทั้ง ๒ องค์คือ เจ้าฟ้าอิ่มและเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระองค์ และกล่าวกันว่าได้เคยเสด็จมาทรงศึกษาวิชาคาถาอาคมที่วัดนี้ จึงเรียกชื่อพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นี้ว่า “เจ้าฟ้าอิ่มเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ”การจัดส่งพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์มายังวัดได้จัดส่งมาทางเรือสำเภาเรือได้ผ่านเข้ามาทางคลองปากประซึ่งเป็นคลองใหญ่ เมื่อเรือบรรทุกพระมาถึงท่าเรือที่บ้านปากคลองเดิม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดเขาอ้อ ทางวัดได้จัดให้พักที่ศาลาท่าเรือ แล้วพิธีสมโภชเป็นการใหญ่โต ศาลานั้นจึงเรียกว่า “ศาลาพักพระ”ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว
อีกตำนานหนึ่งเล่าแตกต่างไปว่า พระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงธนบุรี ได้สร้างพระพุทธรูปทั้ง ๒ ขึ้น เพื่อเป็นรูปแทนพระองค์ของเจ้าฟ้าทั้ง ๒ องค์ แล้วนำมาลอยแพทรงอธิษฐานไว้ว่า ถ้าควงวิญญาณของเจ้าฟ้าทั้ง ๒ องค์ สถิตอยู่ ณ ที่ใดขอให้พระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ ลอยไป ณ ที่นั้น โดยมีจระเข้ธาตุหินคอยรักษาดูแล แพนั้นได้ลอยมาจมลงที่สถานที่แห่งหนึ่ง คือที่ “บางคดเคียน” (หมู่ที่ ๑ ตำบลมะกอกเหนือ อยู่ทางทิศเหนือของวัดประดู่เรียง) ต่อมาชาวบ้านได้ไปตกปลาพบพระพุทธรูปจมอยู่ แต่ไม่สามารถนำพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ขึ้นฝั่งได้ ชาวบ้านจึงนำความไปบอกท่านหูยานเจ้าอาวาสวัดเขาอ้อในขณะนั้น ท่านจึงปลุกเสกด้ายสายสิญจน์ด้วยวิทยาคมอันแก่กล้า แล้วนำไปคล้องพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ นำมาประดิบฐานไว้ที่วัดเขาอ้อ จนกระทั่งทุกวันนี้
เจ้าฟ้าอิ่มเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย องค์ใหญ่หล่อด้วยทองสำริดเรียกว่า “เจ้าฟ้าอิ่ม” มีขนาดสูง ๑๕๕ เซนติเมตร องค์เล็กหล่อด้วยเงิน เรียกว่า “เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ” มีขนาดสูง ๙๔ เซนติเมตร ทั้ง ๒ องค์ประทับยืนบนฐานบัวหงายรองรับด้วยฐานแปดเหลี่ยมมีลวดลาย แข้งสิงห์ พุทธลักษณะเหมือนกันทั้ง ๒ องค์ พระพักตร์เป็นรูปไข่ พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิงเม็ดพระศกละเอียดมีไรพระศกเป็นเส้นเล็ก ๆ พระขนงโค้งเป็นปีกกาจดกัน พระเนตรมองต่ำ พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เล็กและแย้มสรวลเล็กน้อยพระวรกายสมส่วน เป็นฝีมือช่างหลวงสมัยอยุธยา