วัดหมื่นไวย เป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ บริเวณทางด้านทิศเหนือนอกเมืองนครราชสีมา โดยบริเวณที่ตั้งของวัดเคยเป็น สถานที่พักของขุนหมื่นไวย ผู้นำชุมชนในอดีต จึงตั้งชื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ว่าวัดหมื่นไวย ซึ่งการสร้างเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์เพื่อปฏิบัติกิจวัตรและบำเพ็ญธรรมนั้นสร้างโดยขัวพ่อเจ้าวัดบึง (หลวงพ่อ เพชร) ต้นตระกูลศรีหมื่นไวย ขณะท่านอุปสมบทอยู่ที่วัดบึง ท่านได้สร้างอุโบสถที่วัดบึงหลังหนึ่ง และท่านก็ได้มาสร้างอุโบสถที่วัดหมื่นไวยอีกหลังหนึ่ง โดยสร้างเป็นอุโบสถกลางน้ำ วัดหมื่นไวย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันมี พระครูอัครธรรมรังษี (เลิศ ศิลป์ เตชธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาส สิ่งที่น่าสนใจ อุโบสถ ๓๐๐ ปี เป็นอุโบสถหลังเก่าของวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย บริเวณภายนอกขุดเป็นสระน้ำน้ำล้อมรอบพระอุโบสถ ก่อด้วยอิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งหันหน้าไปทางทิศ ตะวันออก ขนาด ๓ ห้อง เจาะช่องหน้าต่าง ขนาดใหญ่ข้างละ ๒ ช่อง ปักใบเสมาหิน ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ส่วนของพระอุโบสถด้านหน้าและด้านหลังก่อเป็นมุขลดชั้นยื่นออกมาทั้ง ๒ ด้าน มุขด้านหน้าด้านทิศตะวันออกก่อผนังทึบเจาะช่องประตูทางเข้า ๒ ช่อง และช่องหน้าต่างที่ผนังข้างละ ๑ ช่อง ผนังกั้นระหว่างมุขกับห้องโถงกลางเจาะช่องประตูทางเข้า ๒ ช่องและช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ผนังด้านข้างอีกข้างละ ๑ ช่อง ที่ผนังกั้นโถงกลางเจาะเป็นช่องประตูเข้าสู่ห้องโถงกลาง ๒ ช่อง ตรงกลางทำซุ้มปราสาท ประดิษฐานเจดีย์ขนาดเล็ก (พระจุฬามณีเจดีย์) หน้าบันมุขทั้ง ๒ ข้าง สลักเป็นลายเครือเถาประดับกระจก ตอนล่างสุดเป็นลายแนวกระจัง คั่นระหว่างหน้าบันและขอบผนังรูปปั้นพ่อขุนศรีหมื่นไวย พ่อขุนหมื่นไวย เป็นพ่อเมืองหัวด่าน ซึ่งเป็นหัวเมืองหน้าด่าน จากเส้นทางพิมายก่อนเข้าสู่เมืองเก่าโคราช เป็นผู้ที่ประชาชนชาวบ้านหมื่นไวยให้ความเคารพอย่างมาก