ไหม เป็นวัสดุเส้นใยธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทอผ้ามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นวัสดุ เส้นใยที่สามารถสร้างสรรค์งานผ้าทอมือที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับครัวเรือนและจังหวัดเลย พบมากในพื้นที่อำเภอเอราวัณ อำเภอผาขาว อำเภอด่านซ้าย อำเภอวังสะพุง อำเภอเชียงคาน และอำเภอเมืองเลย มีทั้งการทอแบบขัดธรรมดา การสร้างลวดลายพิเศษ เช่น การมัดหมี่ การขิด นอกจากนี้ ช่างทอยังคงได้รักษาภูมิปัญญาการย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติจากบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่ช่างทอผ้าจะเลือกย้อมไหมด้วยสีธรรมชาติจากไม้พื้นถิ่น เช่น เปลือกมะพร้าว ครั่ง เข คราม สะเดา และอื่นๆ
ไม้พื้นถิ่นที่ช่างทอในพื้นที่จังหวัดเลย นิยมนำมาใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ ได้แก่
- มะพร้าว ใช้เปลือก ได้สีน้ำตาล สีเทา ขึ้นกับอายุของผลมะพร้าว และสารช่วยติดสีที่ใช้
- ใบส้มมอ ให้สีทอง
- เปลือกพังคี ให้สีน้ำตาล
- ใบหูกวาง ให้สีเขียวอมเหลือง
- เข ใช้แก่นไม้จากต้นเขมาย้อม ได้สีเหลืองเข้ม หรือเหลืองอ่อน ขึ้นกับอายุของต้นไม้
- ครั่ง ใช้ขี้ครั่งย้อม ได้สีแดง
- ฝาง ใช้แก่นจากไม้ฝางย้อม ได้สีแดง
- ประดู่ ใช้เนื้อติดเปลือกจากต้นประดู่ย้อม ได้สีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอ่อนลง ขึ้นกับอายุของต้นไม้
- ขนุน ใช้แก่นจากต้นขนุนย้อม ได้สีเหลือง หรือเหลืองอ่อน ขึ้นกับอายุของต้นไม้
- คราม ใช้เถาและใบจากต้นครามมาหมักเพื่อก่อหม้อคราม ได้สีน้ำเงินคราม สีครามเข้ม หรือครามอ่อน ขึ้นกับจำนวนครั้งของการจุ่มย้อม
- มะเกลือ ใช้ผลดิบของต้นมะเกลือทุบจนได้น้ำยางสีขาวมาใช้ย้อม ได้สีเทาหรือสีดำเข้ม ขึ้นกับจำนวนครั้งที่ย้อมซ้ำ
วัสดุสารช่วยติดสีธรรมชาติ หรือสารช่วยติดสี (Mordant) เป็นสารที่ช่วยเสริมปฏิกิริยาทางเคมีธรรมชาติให้สีย้อมสามารถเกาะติดเส้นใยได้ดีขึ้น จากการรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องสารช่วยติดสีธรรมชาติ พบวัสดุที่นิยมนำมาใช้เป็นสารช่วยติดสีธรรมชาติ ได้แก่
- เกลือ ใช้เม็ดเกลือหรือเกล็ดเกลือ
- น้ำปูนใส ใช้น้ำใส ส่วนบนจากการกวนปูนกินหมาก
- โคลน ใช้สารที่สะสมในขี้โคลน
- น้ำสนิมเหล็ก ใช้สารจากน้ำสนิม
- ใบมะขามและน้ำมะขามเปียก ใช้ใบและฝักมะขาม
- สารส้ม ตำให้ละเอียด
สำหรับการย้อมสีธรรมชาติในครั้งนี้ ปราชญ์ด้านการย้อมสีธรรมชาติ ได้นำเขมาเป็นวัตถุดิบ ในการย้อมไหม ซึ่งให้โทนสีเหลือง โดยใช้วิธีการย้อมร้อน และถ้านำไปหมักโคลนจะได้โทนสีเขียว-เทา
วัสดุ
- แก่นไม้จากต้นเข
- กะละมัง/หม้อต้ม
- ฟืน
- สารส้มป่น
- เส้นไหม
วิธีทำ
ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ
- นำไหมมาลอกกาวไหม หรือชาวบ้าน เรียกว่า การด่องไหม หรือการฟอกไหม เพื่อกำจัดส่วนของเซริซิน ที่มีลักษณะเป็นสารสีเหลืองทึบหรือสีขาวออกจากเส้นใยไหมก่อนที่จะนำมาย้อมสีต่างๆ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
- นำเส้นไหมแช่ในน้ำเปล่าจนเส้นไหมอิ่มตัว ประมาณ ๑๐ นาที
- เติมน้ำลงหม้อต้ม ใส่สบู่/แชมพู โซดาแอส(ด่างด่อง) ลงในน้ำ ต้มจนเกิดไอน้ำเล็กน้อย
- นำเส้นไหม ใส่ลงในหม้อต้ม กดไหมให้จมน้ำ
- ค่อยๆ เพิ่มไฟ ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น จนถึงเดือด และต้มไหมนาน ๑ ชั่วโมง โดยหมั่นกลับเส้นไหมบ่อยๆ หรือทุก ๕ นาที
- นำเส้นไหมขึ้นมาวางทิ้งไว้ เพื่อให้เย็นตัวลง ก่อนนำไปล้างด้วยน้ำอุ่นไปหาน้ำเย็น บิดหมาดๆ และกระตุกไหม ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้เส้นไหมเรียงตัว นำไปตากให้แห้ง และเก็บรอการย้อม
ขั้นตอนการเตรียมน้ำย้อม
ต้มน้ำไปเรื่อยๆ จนน้ำร้อนขึ้นไอจึงใส่แก่นเขลงไปในหม้อ (แก่นเข ๕ ก.ก. ต่อน้ำเปล่า ๒๐ ลิตร) ต้มต่อไปให้เดือด (โดยใช้ไฟแรง) จนน้ำลดเหลือประมาณ ๕ ลิตร
ขั้นตอนการย้อม
- นำน้ำเขที่เตรียมไว้มากรอง ตั้งไฟปานกลาง พอน้ำเริ่มร้อน(มีไอขึ้น) ให้ใส่สารช่วยย้อมสี โดยครั้งนี้เลือกใช้สารส้ม
- นำเส้นไหมที่เตรียมไว้ (ทำความสะอาดแล้ว) ลงย้อมในน้ำสีนานประมาณ ๑ ชั่วโมง ต้องหมั่นพลิกให้เส้นไหมถูกน้ำย้อมเสมอกันทุกๆ ๕-๑๐ นาที นำเส้นไหมขึ้นผึ่งให้เย็น
- เมื่อผึ่งแห้งแล้วซักด้วยน้ำเปล่าจนน้ำที่ล้างนั้นใส นำไปกระตุก ๒-๓ ครั้ง และนำไปตากในที่ร่ม
แนวทางการต่อยอด/การเพิ่มมูลค่า
๑. ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างคุณค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือโดยการย้อมสีธรรมชาติแทนการใช้สีเคมีเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างค่านิยมการใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาจากอดีตให้คงอยู่
๒. สร้างสรรค์ และสร้างมูลค่าโดยอาศัยแนวคิดในเรื่องทฤษฎีของสี เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพิ่มทักษะการพัฒนาการจับคู่สี เพื่อต่อยอดสู่การออกแบบผ้าไหมทอมือ