ประเภทของศาสนพิธีทางพระพุทธศาสนา
๑) กุศลพิธีคือ พิธีกรรมที่เนื่องด้วยการอบรมเพื่อความดีงามทางพระพุทธศาสนา เฉพาะตัวบุคคล เช่น การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การรักษาศีลต่าง ๆ
๒) บุญพิธีคือ การทำบุญอันเป็นประเพณีในครอบครัว ในสังคม เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต ของสังคม เช่น พิธีทำบุญงานมงคล พิธีทำบุญงานอวมงคล
๓) ทานพิธีคือพิธีถวายทานต่าง ๆ เช่น ปาฏิบุคลิกทาน การถวายสังฆทาน การถวาย กฐิน ผ้าป่า ผ้าอาบน้ำฝน และอื่น ๆ
๔) ปกิณกพิธีคือ พิธีเบ็ดเตล็ด เกี่ยวกับมารยาทและวิธีปฏิบัติศาสนพิธีเช่น วิธีตั้งโต๊ะ หมู่บูชา จัดอาสนะสงฆ์วิธีวงด้ายสายสิญจน์วิธีจุดธูปเทียน วิธีแสดงความเคารพ วิธีประเคนของ พระสงฆ์วิธีทอดผ้าบังสุกุล วิธีทำหนังสืออาราธนาและใบปวารณา วิธีอาราธนาศีล อาราธนา พระปริตร อาราธนาธรรม วิธีกรวดน้ำฯลฯ
ประเภทของงานศาสนพิธี
งานพระราชพิธีเป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นประจำปีเช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา หรืองานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เช่น พระราชพิธีอภิเษกสมรส พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
งานพระราชกุศลเป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล งานพระราชกุศลบางงานต่อเนื่อง กับงานพระราชพิธีเช่น พระราชกุศลมาฆบูชา พระราชกุศลทักษิณานุประทานพระบรมอัฐิสมเด็จ พระบรมราชบุพการีพระราชกุศลทรงบาตร
งานรัฐพิธีเป็นงานพิธีที่รัฐบาลหรือทางราชการจัดขึ้นเป็นประจำปีโดยกราบทูลเชิญพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นประธานประกอบพิธีเช่น รัฐพิธีที่ระลึกวันจักรี รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันทรงรับเข้าเป็นงานพระราชพิธี
งานราษฎร์พิธีเป็นงานทำบุญตามประเพณีนิยมที่ราษฎรจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และชุมชน หรือเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศผลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นการจัด ตามความศรัทธาและความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาตามท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ๆ
องค์ประกอบของพิธี
๑) พิธีกรรมคือ การกระทำที่เป็นวิธีการเพื่อให้ได้รับผลสำเร็จและนำไปสู่ผลที่ต้องการ อันเป็นเครื่องน้อมนำศรัทธาที่จะพาเข้าสู่เป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่จัดกิจกรรมนั้น ๆ และสามารถน้อมนำให้ผู้ศรัทธาเข้าถึงธรรมที่สูงขึ้น
๒) พิธีการคือ ขั้นตอนของพิธีที่กำหนดไว้ตามลำดับตั้งแต่เริ่มต้นพิธีจนจบพิธี เพื่อให้การจัดกิจกรรมในพิธีนั้น ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้อง เรียบร้อย และสวยงาม อันนำมาซึ่ง ความศรัทธาและความเชื่อในการจัดกิจกรรมร่วมกัน ทั้งในส่วนผู้ที่เข้าร่วมพิธีและผู้ที่พบเห็น
๓) พิธีกรคือ ผู้ดำเนินรายการประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ กำหนดไว้โดยทำหน้าที่รับผิดชอบในด้านพิธีการ ประสาน ควบคุม และกำกับพิธีการต่าง ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกำหนดการ ในกรณีที่เป็นพิธีกรทางศาสนา จะเรียกว่า “ศาสนพิธีกร” ซึ่งหมายถึงผู้ทำหน้าที่ควบคุมและปฏิบัติศาสนพิธีให้ถูกต้องตามพิธีกรรมทางศาสนา ตลอดจนประสานงานเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมในพิธีนั้น ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
คุณสมบัติของศาสนพิธีกร
๑) ความรู้ความสามารถ ในการปฏิบัติศาสนพิธี
๒) มีไหวพริบ ปฏิภาณ ตัดสินใจ และแก้ไขข้อขัดข้องได้รวดเร็วและเรียบร้อย
๓) มีความแม่นยำ ละเอียด รอบคอบ
๔) แต่งกายและปฏิบัติตนให้เหมาะสมตามกาลเทศะ มีมารยาทเรียบร้อย
๕) สามารถประสานงาน ควบคุม กำกับพิธีการได้ดี
ลำดับของศาสนพิธีการเตรียมการ เมื่อมีการปรึกษาหารือและมีข้อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการจัดพิธีเนื่องใน โอกาสต่าง ๆ นั้น ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมจะต้องมีการเตรียมการ ดังนี้
๑) การเตรียมสถานที่
๒) การเตรียมอุปกรณ์
๓) การเตรียมบุคลากร
๔) การเตรียมกำหนดการ
การเตรียมสถานที่กิจกรรมแรกที่ผู้ดำเนินกิจกรรมควรคำนึงถึง คือ การเตรียมสถานที่ ควรคำนึงถึง ความเหมาะสมของสถานที่ งานที่จะจัดเป็นงานพิธีใด งานมงคล หรืองานอวมงคล สถานที่นั้น มีความเหมาะสมกับการจัดพิธีหรือไม่เพียงใด ซึ่งจะได้มีการวางแผนในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม กับสถานที่ โดยมีหลักการพิจารณา ดังนี้
๑) ความเหมาะสมของสถานที่ในการจัดพิธี
๒) มีความกว้างขวาง เพียงพอกับการรองรับผู้ร่วมพิธี
๓) สะอาด สะดวก ปลอดภัย
๔) ไม่มีเสียงรบกวน
แหล่งที่มาของข้อมูล ๑.http://www.nakhonsithammarat.go.th/web_52/datacenter/doc_download/ceremory5.pdf
๒. กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์