ประเพณีนาวาน
ประเพณีนาวาน หรือ ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว
คำว่า”นาวาน”หมายถึง นาที่ไหว้วานให้ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หรือคนที่รู้จัก มาช่วยกันเกี่ยวข้าว
หลังจากที่บอกกล่าวไหว้วาน นัดแนะวันและเวลากันได้แล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของที่นา หรือเจ้าภาพ ต้องอำนวยความสะดวกในการเดินทางของผู้ที่จะมาช่วยเกี่ยวข้าว โดยการหารถหรือจ้างรถไปรับมาที่นา ทั้งนี้เจ้าภาพต้องจัดแจงหุงหาอาหารใว้ให้พร้อมและพอเพียง สำหรับเลี้ยงตอบแทนผู้ที่มาช่วยเกี่ยวข้าว โดยส่วนใหญ่ สมัยก่อนก็จะเป็นอาหารที่หาได้จากไร่จากนา ไม่ว่าจะเป็น ต้มไก่ ต้มปลา ปลาปิ้ง ส้มตำ และอาจจะเหล้าสาโท ไว้สำหรับเหล่าบรรดาผู้ชายที่มาช่วยเกี่ยวข้าว เพื่อเพิ่มกำลังให้คึกคัก และสร้างความสนุกสนานครื้นเครง มีการเป่าแคน ตีกลองยาว สร้างเสียงเพลง และสร้างกำลังใจให้กับเพื่อนๆ ชาวนา
ก่อนทำการเกี่ยวข้าว จะมีพิธีขอขมาต่อพระแม่โพสพเพื่อเป็นขวัญกำลังใจและขอพรให้การเกี่ยวข้าวเป้นไปด้วยความราบรื่น
คนที่มาช่วยกันเกี่ยวข้าวต่างคนต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือร่วมแรงแข็งขัน บ้างก็ตั้งหน้าตั้งตาเกี่ยวข้าว บ้างก็พักลงน้ำ หาปู หาปลา มาปรุงเป็นอาหารทานกัน นับเป็นบรรยากาศของวิถีชีวิตชาวนาชนบท ที่เต็มไปด้วยความสุข จากความรักความสามัคคี มีความสุขอย่างพอเพียง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
ซึ่งในปัจจุบัน “ประเพณีนาวาน”ใกล้จะเลือนหายไปจากวิถีชีวิตชนบทแล้ว เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วย ทั้งรถเกี่ยวข้าว รถไถนา ประกอบกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปต่างคนต่างไม่ว่าง และไม่ค่อยสนิทกัน อีกทั้งวัยรุ่น วัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังเรี่ยวแรงหลักในการทำนา ก็หันไปทำงานในเมืองกันส่วนใหญ่
หากเป็นไปใด้ก็อยากให้อนุรักษ์สืบสานประเพณีอันดีงามนี้ไว้ ทั้งในส่วนของความรักความสามัคคีในชุมชน ความพึ่งพาตนเองอยู่อย่างพอเพียง ก่อนจะเลือนหายไปจากสังคมไทย