ประวัติวัดสว่างหัวนาคำ
วัดสว่างหัวนาคำ เป็นวัดเก่าแก่ประจำหมู่บ้านมาช้านาน เดิมชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดบ้าน หรือวัดใหญ่” ตั้งอยู่เลขที่ ๒ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวนาคำ ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๒ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๒ ได้ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทนอุโบสถหลังเก่าที่ทรุดโทรม แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ และได้ขอพระราชทานขยายเขตวิสุงคามสีมาเพิ่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๑ ไร่ ๓ งาน ๘๗ ตารางวา (โฉนดที่ดิน เลขที่ ๔๙๗๕๙) พื้นที่ตั้งวัด และบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบเรียบ ลักษณะ ๔ เหลี่ยม มีถนนและหมู่บ้านล้อมรอบ
มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ยาว ๑๕๖ เมตร จดถนนและที่เอกชน
ทิศใต้ ยาว ๑๒๐ เมตร จดถนน และบ้านหัวนาคำหมู่ที่ ๑
ทิศตะวันออก ยาว ๑๓๓ เมตร จดถนน และหมู่บ้านหัวนาคำ หมู่ที่๑๘
ทิศตะวันตก ยาว ๑๔๐ เมตร จดถนน และหมูบ้านหัวนาคำ หมู่ที่ ๑
เหตุการณ์ของวัด มีทั้งความเจริญและความเสื่อมโทรม ผลัดเปลี่ยนกันไปตามยุคสมัยของสังคมบ้านเมืองในยุคนั้น ๆ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ วัดแห่งนี้ได้ขาดเจ้าอาวาสผู้ปกครอง บริหาร ทำให้วัดเสื่อมโทรมลงมากอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ชาวบ้านหัวนาคำจึงได้ไปกราบอาราธนานิมนต์พระมหาชนชัย อคฺคธมฺโม น.ธ.เอก ป.ธ.๖ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูศรีปริยัติโชติธรรม) มาเป็นเจ้าอาวาสปกครอง บริหารพัฒนาวัด และในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ นั้น ได้ก่อตั้งสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี อันเป็นหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา แต่ละปีมีผู้สอบบาลีและนักธรรมได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนั้นได้อบรมสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชน ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอีสาน และซื้อที่ดินขยายวัด พัฒนาก่อสร้างเสนาสนะภายในวัด ทำให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองจวบจนถึงปัจจุบัน
ความสำคัญของวัด
วัดสว่างหัวนาคำในยุคปัจจุบัน โดยการนำของ หลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรมมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น
ด้านสังคม วัดสว่างหัวนาคำเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชนบ้านหัวนาคำและพุทธศาสนิกชนทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมประจำตำบล และหน่วยงานราชการทั่วไป และเป็นอุทยานการศึกษาประจำอำเภอด้วย
ด้านการศึกษา มีการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม และบาลี ซึ่งในแต่ละปีจะมีพระภิกษุ-สามเณรสอบได้เป็นจำนวนมาก และยังได้ส่งเสริมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย
ด้านการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดมีการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุมากมาย อาทิ เช่น ศาลาการเปรียญ อุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ ซุ้มประตูไม้โบราณ วิหารหอพระ และกุฎีสงฆ์ เป็นต้น และยังพัฒนาปรับปรุงอยู่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ประวัติหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ
หลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันแต่เดิมว่า"หลวงปู่ใหญ่"เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัดหมู่บ้านมาช้านาน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิราบ เนื้อหินทรายโบราณ ศิลปะล้านช้าง หน้าตัก ๔๖ เซนติเมตร สูง ๘๔ เซนติเมตร ฐานเนื้อทองสัมฤทธิ์ ขนาดความสูง ๖๐ เซนติเมตร มีลักษณะสวยงามถูกต้องตามพุทธศิลป์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด มีอิทธิปาฏิหาริย์เป็นที่เลื่องลือมาตั้งแต่บรรพกาล มีเรื่องราวเล่าขานสืบต่อกันมายาวนาน มีผู้คนให้ความเคารพเลื่อมใสศรัทธามาก นับวันยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ที่ปรากฏแก่ผู้คนที่เดินทางมากราบไหว้ขอพร ปัจจุบันองค์หลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณได้ประดิษฐานอยู่บนบุษบกภายในอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ
ประวัติหลวงพ่อศิลา (หลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณองค์จำลอง)
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ทางวัดพร้อมด้วยชาวบ้านหัวนาคำได้ร่วมใจกันสร้างหลวง พ่อพระพุทธวิชัยญาณองค์จำลองขึ้น เพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชา สร้างขึ้นจากศิลาขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 80 นิ้ว สูง ๒.๖ เมตร ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่า "หลวงพ่อศิลา" และจากนั้นจึงเรียกอย่างนั้นเรื่อยมา ปัจจุบันประดิษฐานภายใน วิหารหอพระ ที่สร้างขึ้นด้วยไม้โบราณตามสถาปัตยกรรมแบบศิลปะล้านช้าง
ประวัติความเป็นมาของอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ
อุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ ได้สร้างขึ้นจากแนวความคิดของหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม (ชนชัย อคฺคธมฺโม) ซึ่งสร้างขึ้นแทนอุโบสถหลังเดิมที่เก่าแก่ทรุดโทรม ไม่สามารถใช้ประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาได้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ หลวงพ่อจึงปรารภเหตุนี้กับชาวบ้าน และได้มีมติตกลงที่จะสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น จึงได้ขอรับบริจาคไม้พันชาติและไม้เนื้อแข็งจากชาวบ้านในหมู่บ้าน หมู่บ้านใกล้เคียง และในต่างจังหวัด ได้เริ่มทำการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม ได้ออกแบบสร้างตามจินตนาการของท่าน โดยยึดแบบศิลปะล้านช้างเป็นหลัก ผสมศิลปะล้านนา หลวงพ่อได้นำพาคณะสงฆ์ภายในวัด พร้อมด้วยชาวบ้าน และช่างภายในหมู่บ้านร่วมกันสร้าง ส่วนลวดลายประติมากรรมไม้แกะสลัก เป็นสล่าช่างผู้ชำนาญเมืองเหนือ และช่างของภาคอีสานร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น โดยใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ ๙ ปี จึงแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๑ สิ้นค่าก่อสร้างโดยประมาณ ๓๐ ล้านบาท งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น เป็นศรัทธาชาวบ้านหัวนาคำ ทั้ง ๗ หมู่ ร่วมกันบริจาค มีท่านพระครูอุทัยรัชวิเทศ (พระมหาชุมพล ชุตพโล) พร้อมคณะศิษย์หลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ประเทศญี่ปุ่น คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม และญาติโยมพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ร่วมกันบริจาค และเมื่อปีพ.ศ.๒๕๖๒ ได้ประกอบพิธีฉลองสมโภช ตัดหวาย ฝังลูกนิมิต ปัจจุบันนั้น ได้มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมศิลปะของอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ และกราบไหว้ขอพรหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณเป็นประจำทุกวัน ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นและได้มีนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมเป็นประจำ
ประวัติหลวงพ่อพระครูศรีปริยัติโชติธรรม (ชนชัย อคฺคธมฺโม)
เดิมชื่อ ชนชัย ภูทองเงิน เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ปีชวด บิดาชื่อ นายลี ภูทองเงิน มารดาชื่อ นางชื่น ภูทองเงิน
เกิดที่บ้านเลขที่ ๒๙๕ หมู่ที่ ๑๘ ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัด สว่างหัวนาคำ เมื่อวันที่ ๒๐ เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๔ โดยมี พระครูสิริปภัสสร เป็นพระอุปัชฌาย์ มี พระอธิการพรม สุวณฺโณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมี พระทองศูนย์ ขนฺติโก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากอุปสมบทแล้วได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดชัยศรี บ้านเสียว ตำบลวังซัย อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูศรีปริยัติโชติธรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ ปกครองคณะสงฆ์ภายในเขตอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔
ได้นำพาคณะสงฆ์พร้อมชาวบ้านพัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้วัดมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในการศึกษา ด้านสังคม และการบูรณปฏิสังขรณ์
อาคารเสนาสนะภายในวัด
๑. อุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๒ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ ๓๐ ล้าน อุโบสถหลังนี้ฐานก่อด้วยอิฐศิลาแลง เสาส่วนใหญ่และผนังเป็นไม้พันชาติ ส่วนลวดลายประติมากรรมไม้แกะสลักนั้นเป็นไม้ประดู่ โดยหน้าต่างทุกบานทำจากไม้ประดู่ ประตูใหญ่ทางเข้าทั้งสองบานทำจากไม้แคนหิน (ภาคกลางเรียกไม้ตะเคียนหิน) แกะสลักลาดลายเป็นพระพุทธเจ้า ๕ องค์ และพระโพธิสัตว์ ๕ องค์ ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และพื้นปูด้วยไม้แคนเช่นกัน ทางขึ้นด้านหน้ามีพญานาคสองตัวที่วิจิตรงดงาม ด้านหลังอุโบสถมีประติมากรรมปูนปั้นที่เล่าเรื่องราวการก่อสร้างอุโบสถ ภายในอุโบสถมีบุษบกที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ ทำขึ้นจากไม้กันเกรา (ไม้มันปลา) และไม้พะยูง ซึ่งเป็นไม้มงคล
๒. ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๒ สิ้นงบประมาณในการก่อสร้าง ๗,๕๓๖,๒๗๐ บาท มีลักษณะทรงไทยประยุกต์ เป็นสถานที่ใช้ในการประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดถึงใช้ในการอบรมเผยแผ่ธรรมะ และอื่นๆ
๓. ศาลาทานบารมีหน้าศาลาการเปรียญ เป็นศาลาลักษณะทรงไทย เสาไม้ทั้งหลัง สำหรับเป็นสถานที่ให้พุทธศาสนิกชนผู้มาเยี่ยมชมวัด ได้ทำบุญตักบาตร ๑๐๘
๔. วิหารหอพระ ลักษณะทรงไทย ศิลปะล้านช้าง เสาไม้ทั้งหลัง เป็นไม้ที่มีอายุหลายร้อยปี ผนังก่อด้วยหินศิลาแลง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ องค์จำลอง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อศิลา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ขอพร
๕. วิหารลานโพธิ์ สำหรับเป็นที่ฝึกอบรม ปฏิบัติธรรม
๖. หอกลอง-หอระฆัง
๗. ซุ้มประตูทางเข้าวัด (ติดถนนใหญ่)
๘. ซุ้มประตูเข้าวัด (ด้านทิศตะวันออก)
๙. ซุ้มประตูไม้โบราณ ทำจากเสาไม้ขนาดใหญ่อายุหลายร้อยปี ซึ่งอยู่ทางเข้าวิหารหอพระ
ปูชนียวัตถุ
๑. หลวงพ่อพุทธวิชัยญาณ (หลวงปู่ใหญ่) ประดิษฐานบนบุษบกภายในอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ
๒. หลวงพ่อพุทธวิชัยญาณ องค์จำลอง (หลวงพ่อศิลา) ประดิษฐานภายในวิหารหอพระ
๓. หลวงพ่อพุทธวิชัยญาณ องค์จำลอง เนื้อทอสัมฤทธิ์ลงลักปิดทอง ประดิษฐานภายในอุโบสถ
๔. พระพุทธรูปลานโพธิ์
๕. พระอุปคุต ประดิษฐานหน้าอุโบสถสิมอีสาน
๖. รูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี อยู่ภายในอุโบสถสิมอีสาน
๗. รูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาสหลวงปู่เกียม และหลวงปู่ลี อยู่ภายในวิหารหอพระ
สิ่งสำคัญภายในวัด
๑. ตู้คัมภีร์ใบลาน เก็บคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ เป็นตู้คัมภีร์ที่เก่าแก่ และภายในมีคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่จำนวนมาก ตั้งอยู่ภายในวิหารหอพระ
๒. บุษบกประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธวิชัยญาณ เป็นบุษบกที่ทำขึ้นจากไม้มงคล โยลวดลายที่ฐาน และเสาทำจากไม้กันเกรา (ไม้มันปลา) พื้นปูด้วยไม้ชิงชัน ส่วนหลังคาและยอดบุษบกทำจากไม้พะยูง ยอดได้ทำการลงลักปิดทอง ตั้งอยู่ภายในอุโบสถสิมอีสานไม้พันชาติ
ของฝาก ของที่ระลึก ร่มผ้าขาวม้า และตุง-ธุง
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
การท่องเที่ยว
เทศบาลตำบลหัวนาคำ มีสถานที่ท่องเที่ยว ดังนี้
๑) ทุ่งทานตะวันสีทองหนองทึง
๒) หาดทรายเทียม
๓) สิมอีสานวัดสว่างหัวนาคำ
๔) วิหารคดและหออุปคุตวัดป่าอัมพวัน
๕) หลวงพ่อทันใจวัดทุ่งสว่างบ้านดอนกลาง
๖) สวนสาธารณะหนองทึง
แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ตำบลหัวนาคำ เป็นตำบลใหญ่ มีพื้นที่กว้างขวาง แหล่งท่องเที่ยว มีอยู่มากมาย ดังข่าวประชาสัมพันธ์ ชวนเชิญท่องเที่ยว ดังนี้
ทุ่งทานตะวันสีทองหนองทึง
ทุ่งทานตะวันสีทอง หนองทึง ต.หัวนาคำ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ถนนสายกาฬสินธุ์-ขอนแก่น ถนนทางหลวงหมายเลข 12 พบว่าในช่วงนี้ดอกทานตะวันที่ทางเทศบาลตำบลหัวนาคำทำการปลูกไว้ได้ออกดอกบานสีเหลืองอร่ามในเนื้อที่กว่า 60 ไร่ ซึ่งจะออกดอกสะพรั่งสวยงาม ในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงธันวาคม ปลูกต้นดอกทานตะวันให้เต็มพื้นที่อย่างสวยงาม บนเนื้อที่ราว 491 ไร่ หลังจากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาดินเสื่อมสภาพ ไม่สามารถปลูกอะไรได้ โดยช่วงเดือนที่ผ่านมามีประชาชนนับแสนเดินทางมาถ่ายภาพ มาเซลฟี และมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำมาจำหน่ายในงานกันอย่างต่อเนื่อง แต่ปีนี้ดอกทานตะวันที่ปลูกบานเร็วกว่าทุกปี ทั้งนี้เทศกาลหนาวลมห่มรักทุ่งทานตะวันสีทองหนองทึง กำหนดจัดงานระหว่างเดือนธันวาคม ของทุกปี โดยมีการจัดนิทรรศการ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การประกวดร้องสรภัญญะ และการประกวดร้องเพลงทั้งในประเภทเยาวชน และประชาชน
แหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมวัดสว่างหัวนาคำ มีแหล่งเรียนรู้ในชุมชน มีการรวมกลุ่มอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ กลุ่มผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ธุง กลุ่มทอผ้า กลุ่มจักสาน สวนกวางโอเคกาฬสินธุ์ ที่เป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ธุง และสินค้าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนได้
หาดทรายเทียม
หาดทรายเทียม เป็นหาดทรายแนวยาวกว้าง ณ สวนสาธารณะหนองทึง ตำบลหัวนาคำ
ซึ่งล้อมรอบ องค์พระพุทธวิชัยญาณ ที่กำลังก่อสร้างบริเวณกลางสวนสาธารณะ
งานเทศกาล ประเพณีที่โดดเด่น
ชุมชนคุณธรรมวัดสว่างหัวนาคำโดยศูนย์รวมใจของชาวบ้านหัวนาคำ คือ พระครูศรีปริยัติโชติธรรม เจ้าคณะอำเภอยางตลาด ร่วมกับชาวบ้านจัดประเพณีบุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ชาวไทยอีสานถือแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป
ชุมชนคุณธรรมวัดสว่างหัวนาคำ จัดงานประเพณีบุญผะเหวด เทศมหาชาติ แบบยิ่งใหญ่ ทุกปี มีขบวนนางรำ จำนวน ๕๐๐ คน ฟ้อนรำอย่างอ่อนช้อย งดงาม ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน พร้อมชาวบ้านตำบลหัวนาคำ และตำบลใกล้เคียงร่วมขบวนแห่ผ้าผะเหวด อันมีความยาว ๑ กิโลเมตร
ผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม
1. เครื่องจักสาน
เครื่องจักสานชาวบ้านหัวนาคำมีการรวมกลุ่มกันทอผ้าฝ้าย ร่ม ธุง และจักสานไม้ไผ่เป็นลวดลาย ฝีมือประณีตสวยงามมากผลิตภัณฑ์ได้แก่ กระติบ กระเป๋าและภาชนะต่าง ๆ และมีการทอผ้าย้อมสีธรรมชาต ที่มีคุณภาพดี ราคาถูก โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทอด้วยกี่พื้นบ้าน ย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ รากไม้ เป็นที่นิยมของท้องถิ่น มีการแปรรูปแบบให้หลากหลาย ใช้เป็นเครื่องใช้ได้หลายชนิด กลุ่มมีความก้าวหน้ามีการติดต่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในรูปเครือข่าย กลุ่มที่ผลิตเหมือนกันทั้งในตำบล และอำเภอการจำหน่ายมีแนวโน้มที่จะดำเนินการในเชิงธุรกิจ และมีตัวแทนกลุ่มไปจำหน่ายผลิต หากนักท่องเที่ยวสนใจ สามารถเที่ยวชมขั้นตอนการทำงานฝีมือหัตถกรรมและผลงานของกลุ่มหัตถกรรม จักสานไม้ไผ่ ซึ่งมีทั้งกระติบ กระเตาะ กระเป๋าสานไม้ไผ่ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งชมการทอผ้าของกลุ่มทอผ้าภายในหมู่บ้าน
๒. ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ
๒.๑ ธุงสายฝีมือในการทอผ้าของหมู่บ้านหัวนาคำ เป็นลายขิดสีธรรมชาติ ด้วยชาวบ้านที่มีอายุมากแล้ว เพื่อรักษาไว้ซึ่งผ้าท้องถิ่น รังสรรค์ ไว้เพื่อประดับตกแต่งบริเวณวัด ในเทศกาลต่าง ๆ
๒.๒ การผลิตร่มจากผ้าขาวม้า เพื่อใช้ประดับตกแต่งสถานที่ และจำหน่ายในราคาถูก
ศิลปะและการแสดง
ศิลปะการแสดงพื้นบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว
ศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ในชุมชนเป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรมเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เช่น รำเซิ้งอีสาน รำกลองยาว เป็นต้น
เกิดการพัฒนารูปแบบการต้อนรับนักท่องเที่ยว โดยใช้อัตลักษณ์ชุมชนเป็นตัวเชื่อมโยง เช่น การจัดรูปลักษณ์ของอาหารพื้นบ้าน การจัดพาข้าวสำหรับนักท่องเที่ยว มีการออกแบบให้มีรูปลักษณ์สวยงาม สะอาด น่ารับประทาน มีการชูเมนูอาหารพื้นถิ่นที่น่าสนใจ อาทิ
อาหารคาว/หวาน
- อาหารแปรรูป -หมกเห็ด - หมกหน่อไม้ – หมกกบ
- ต้มปลาใบขามอ่อน -ลาบปูนา -ต้มไก่บ้าน
- ปลาร้าทรงเครื่อง -ผักลวกจิ้มน้ำพริก
- ลาบ ก้อย ต้ม
- ขนมเทียน – น้ำอัญชัน กระเจี๊ยบ
ผลิตภัณฑ์ชุมชน/ผลิตภัณฑ์CPOT
- ธุงประดับ และ ร่มผ้าขาวม้า
เทศกาลประเพณีที่โดดเด่น
ชุมชนคุณธรรมวัดสว่างหัวนาคำโดยศูนย์รวมใจของชาวบ้านหัวนาคำ คือ
พระครูศรีปริยัติโชติธรรม เจ้าคณะอำเภอยางตลาด ร่วมกับชาวบ้านจัดประเพณีบุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ชาวไทยอีสานถือแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป
ชุมชนคุณธรรมวัดสว่างหัวนาคำ จัดงานประเพณีบุญผะเหวด เทศมหาชาติ แบบยิ่งใหญ่ ทุกปี มีขบวนนางรำ จำนวน ๕๐๐ คน ฟ้อนรำอย่างอ่อนช้อย งดงาม ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน พร้อมชาวบ้านตำบลหัวนาคำ และตำบลใกล้เคียงร่วมขบวนแห่ผ้าผะเหวด อันมีความยาว ๑ กิโลเมตร
ติดต่อชุมชน/การเดินทาง
การเดินทาง : ออกจากกาฬสินธุ์ เดินทางโดยถนนเส้นขอนแก่น - กาฬสินธุ์ กิโลเมตรที่ ๔๒.๙ กิโลเมตร ถึงบ้านหัวนาคำ ตำบลหัวนาคำ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ประตูทางเข้าวัดที่สวยงาม อยู่ด้านซ้ายมือ เลี้ยวซ้าย ตรงไป ประมาณ ๕๐๐ เมตร ถึงชุมชนคุณธรรม
วัดสว่างหัวนาคำ
*****
รายชื่อติดต่อสอบถาม (ชื่อผู้ประสานงานชุมชน/เบอร์โทรศัพท์/เพจ/Facebook/Line)
โครงสร้างองค์การชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ชุมชนคุณธรรมบ้านหัวนาคำ ตำบลหัวนาคำอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์
ช่องทางOnline
-Facebook : วัดสว่างหัวนาคำ กาฬสินธุ์
ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวชุมชน ชื่อ พระครูศรีปริยัติโชติธรรม ตำแหน่งเจ้าอาวาส
เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๕-๐๑๑-๑๔๑๙