เครื่องทองน้อย
เครื่องทองน้อย คือ เครื่องบูชาสักการะขนาดเล็ก ประกอบด้วย เชิงเทียน ๑ เชิงธูป ๑ กรวยปักดอกไม้ ๓ กรวย โดยมี เชิงธูปตั้งด้านซ้าย เชิงเทียนตั้งด้านขวา ของผู้จุด ใช้สำหรับ การบูชาพระบรมสารีริกธาตุ การสักการะพระบรมศพ พระบรมอัฐิ หรือพระบรมบูรพมหากษัตริย์ การบูชาพระธรรมในพิธีแสดงพระธรรมเทศนา การเคารพศพ อัฐิ หรือรูปของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือการตั้งให้ศพบูชาพระธรรม
วิธีการใช้งาน การวางพานพุ่มดอกไม้ทั้ง ๓ พานพุ่มให้อยู่ด้านนอกของพานรอง เมื่อจะบูชาสิ่งใดให้หันพุ่มเข้าหาสิ่งนั้นจากนั้น เช่น การบูชาพระบรมสารีริกธาตุ การสักการะศพ การบูชาพระธรรมในพิธีแสดงพระธรรมเทศนา โดยนำเชิงธูปที่ปักธูปไม้ระกำ และตั้งให้อยู่ทางด้านซ้ายมือ ส่วนเชิงเทียนที่ปักเทียนเอาไว้แล้ว ให้อยู่ทางด้านขวามือของผู้บูชา สำหรับในพิธีที่มีการตั้งเครื่องทองน้อยให้ศพบูชาธรรมในโอกาสที่มีการแสดงพระธรรมเทศนา ให้หันธูปและเทียนเข้าหาศพ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าหีบศพ
การตั้งเครื่องทองน้อยสำหรับผู้เสียชีวิตไปแล้ว สามารถใช้ได้ในทุกระดับชั้น ตามแห่ผู้จัดงานจะพึงพิจารณาถึงความเหมาะสม โดยให้ตั้งไว้หน้าหีบหรือโกศศพเมื่อมีการบำเพ็ญกุศล หากประสงค์ให้มีการใช้เครื่องทองน้อยสำหรับบูชาศพ และสำหรับศพบูชาธรรม ให้จัดเครื่องทองน้อยที่หันด้านธูป เทียนออกมาทางผู้จุด เรียกว่า "เครื่องนอก" และตั้งเครื่องทองน้อยที่จัดให้ด้านธูป เทียน หันเข้าหาศพ เรียกว่า “เครื่องใน” หากประสงค์ตั้งเครื่องทองน้อยทั้งสองเครื่องในระดับเดียวกัน ให้ตั้งเครื่องทองน้อย “เครื่องใน” ไว้ทางขวาของเครื่องนอก (ทรงวิทย์ เจริญกิจธนลาภ, ๒๖๖๓: ๗๖-๗๗)
ในกรณีที่ไม่มีเครื่องทองน้อย สามารถตั้งกระถางธูป ๑ กระถาง ปักธูป ๓ ดอก ตั้งเชิงเทียน ๑ คู่ แจกันดอกไม้ ๑ คู่ หรือเชิงธูป ๑ เชิงเทียน ๑ และพานวางดอกไม้ แทน โดยถือธรรมเนียมว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนพระโพธิ์สัตว์ที่เสด็จมาเพื่อสั่งสมบารมี ดังนั้นการตั้งเครื่องบูชา จึงใช้เช่นเดียวกับพระรัตนตรัย (เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน)
วิธีการจุดเครื่องทองน้อยจะจุดธูปก่อนเทียน โดยถือคติว่า คุณงามความดีที่ผู้วายชนม์ได้กระทำสั่งสมมา เปรียดุจของหอมซึ่งเป็นปัจจัยนำไปสู่สุคติภูมิที่ประดุจแสงสว่าง (เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน) วิธีการจุดเครื่องทองน้อย แยกออกไดเป็น ๒ กรณี ดังนี้ กรณีที่ ๑ ประธานพิธีเป็นพระสงฆ์ ศาสนพิธีกรพึงถวายเทียนชนวนจุดเทียนส่องธรรม อย่างเดียว รับศีลจบแล้ว เข้าไปถวายเทียนชนวนจุดเครื่องทองน้อยบูชาธรรม กรณีที่ ๒ ประธานพิธีเป็นฆราวาส จุดเทียนส่องธรรมและเครื่องทองน้อยคราวเดียวกัน แล้วจึงรับศีล วิธีการจุดเครื่องทองน้อย ขึ้นอยู่กับประธานพิธีและศพผู้ล่วงลับว่าเป็นพระสงฆ์หรือ เป็นฆราวาสและจุดเพื่อการอะไร ซึ่งแยกออกได้เป็น ๔ กรณี ดังนี้
กรณีที่ ๑ ประธานพิธีเป็นพระสงฆ์ ผู้ล่วงลับเป็นพระสงฆ์ ศาสนพิธีกรเชิญเทียนชนวนถวาย จุดเทียนส่องธรรม และจุดเครื่องทองน้อยบูชาศพ รับศีลจบแล้ว จึงจุดเครื่องทองน้อยบูชาธรรมทั้งที่ด้านหน้าประธานพิธีและด้านหน้าหีบศพแล้วจึงเริ่มอาราธนาธรรมต่อไป
กรณีที่ ๒ ประธานพิธีเป็นพระสงฆ์ ผู้ล่วงลับเป็นฆราวาสให้จุดเทียนส่องธรรม จุดเครื่องทองน้อย ที่หน้าศพทั้ง ๒ ชุด รับศีลจบแล้วจึงจุดเครื่องทองน้อยที่หน้าประธานพิธี
กรณีที่ ๓ ประธานพิธีเป็นฆราวาส ผู้ล่วงลับเป็นพระสงฆ์ ให้จุดเทียนส่องธรรม จุดเครื่องทองน้อย ที่หน้าประธานพิธี จุดเครื่องทองน้อยบูชาศพ รับศีลจบแล้ว จึงจุดเครื่องทองน้อยบูชาธรรมที่หน้าหีบศพ
กรณีที่ ๔ ประธานพิธีเป็นฆราวาส ผู้ล่วงลับเป็นฆราวาส ให้จุดเทียนส่องธรรม จุดเครื่องทองน้อย ทุกชุดในคราวเดียวกัน แล้วจึงรับศีล (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๖๑: ออนไลน์)
อ้างอิง
๑. กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. (๒๕๖๑). เครื่องทองน้อย กระทรวงวัฒนธรรม. เข้าถึงจาก https://www.m-culture.go.th/mculture_th60/download/T2.pdf
๒.ทรงวิทย์ เจริญกิจธนลาภ. (๒๕๖๓). การจัดงานพิธีการ และเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้อง (ฉบับปรับปรุง ๒๕๖๓). สระบุรี: โรงพิมพิชิต.