กมลาไสย
แหล่งท่องเที่ยวยุคก่อนประวัติศาสตร์
ประวัติความเป็นมาสมัยเดียวกับท้าวโสมพะมิตร ตั้งเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2334 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาชัยสุนทร ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรกผู้ครองเมืองกาฬสินธุ์ จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชัยสุนทร ติดต่อกันมาหลายคน จนถึงพระยาชัยสุนทรคนที่ 7 ชื่อท้าวกิ่ง ประมาณปี พ.ศ. 2396 มีราชวงศ์เกษเป็นว่าที่อุปราชต่อมาพระยาชัยสุนทร (กิ่ง) กับท้าวหนู ได้ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอรับพระราชทานสัญญาบัติ ในการเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และ ขอพระราชทานให้ท้าวหนูน้องชายเป็นว่าที่อุปราชด้วย ซึ่งก็ได้รับพระราชทานตามที่พระยาสุนทร (กิ่ง) ต้องการ เมื่อเป็นดังนี้ ความบาดหมาง ความแตกแยกก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ระหว่างพระยาชัยสุนทร (กิ่ง) และอุปราชหนูฝ่ายหนึ่ง กับราชวงษ์เกษ อีกฝ่ายหนึ่ง
ครั้นประมาณปี พ.ศ. 2409 พระยาชัยสุนทรกับราชวงศ์เกษ จึงพากันลงไปว่าความที่กรุงเทพฯ เพราะตกลงกันไม่ได้ในที่สุดราชวงศ์เกษ จึงขอเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอแยกจากราชวงศ์กาฬสินธุ์ แล้วไปตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ ของเมืองกาฬสินธุ์ ริมแม่น้ำปาว ห่างจากเมืองเดิมประมาณ 13 กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองบริเวณนี้เป็นดงใหญ่อุดมสมบูรณ์ มีหนองบัวมีบัวนานาชนิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเมืองขึ้น บริเวณที่เรียกว่า ปากน้ำดอกไม้ที่ไหลมาบรรจงกับลำน้ำปาว และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งราชวงศ์เกษขึ้นเป็น พระราษฎรบริหารเกษ เจ้าเมืองกระมาลาไสย เป็นคนแรกโดยมีเมืองสหัสขันธ์ และ เมืองกุดสิมนารายณ์มาขึ้นด้วย
พระราษฎรบริหาร (เกษ) ปกครองเมืองกระมาลาไสย อยู่ประมาณ 11 ปี ก็ถึงแก่กรรมเมืองสหัสขันธ์ และเมืองกุมสิมนารายณ์ ก็แยกตัวออกจากการปกครองเมื่อราวปี พ.ศ. 2421 ครั้นปี พ.ศ. 2422 จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งอุปราชทองบุตรของพระราษฎรบริหาร (เกษ) ขั้นเป็นพระราษฎรบริหารแทนพ่อแล้วตั้งราชวงศ์บัว น้องชายคนที่ 2 เป็นอุปราชสืบทอดจนมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปรับปรุงแบบการปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นกระทรวง ในส่วนภูมิภาคหัวเมืองใหญ่ๆ ตั้งขึ้น เป็นมณฑลเมืองกระมาลาไสย ให้เป็นอำเภอขึ้นตรง ต่อมณฑลอุบฯ และขึ้นตรงต่อมณฑลร้อยเอ็ด ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี พ.ศ. 2453 - 2468 ได้มีการปรับปรุงกิจการบ้านเมืองอีก โดยยุบมณฑลเป็นจังหวัด ได้แต่งตั้งอำเภอใหญ่ๆเป็นจังหวัด และอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ได้ยกฐานะเป็นจังหวัด ในปี พ.ศ. 2456 อำเภอกระมาลาไสยจึงได้มารวมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ชื่อใหม่ว่าอำเภอ "กมลาไสย"
แหล่งท่องเที่ยว
๑.วัดโพธิ์เสมาราม หรือวัดบ้านก้อม อยู่ในอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสูงยาง ไม่ไกลจากพระธาตุยาคู เป็นวัดโบราณ เป็นวัดเก่าที่ชาวบ้าน ได้นำใบเสมาหินสมัยทวาราวดี ที่ขุดพบมารวบรวมไว้จำนวนมาก มีใบเสมาหินขนาดใหญ่ที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของอีสานเนื่องจากแทบจะไม่พบในภาคอื่นเลย ใบเสมาที่พบใน เมืองฟ้าแดดสงยางมีความโดดเด่น คือ นิยมแกะสลักภาพเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและชาดก มีใบเสมาจำลองหลักที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด สลักภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระเจ้าสุทโธทนะ พระราหุล และนางยโสธราพิมพา เข้าเฝ้าแสดงสักการะอย่างสูงสุดด้วยการสยามพระเกศาเช็ดพระบาทพระองค์พระพุทธเจ้า เรียกเสมาหินภาพ พิมพาพิลาป ซึ่งใบเสมาหลักนี้ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น
๒.ใบเสมาฟ้าแดดสงยาง
เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณมีแผนผังคล้ายใบเสมา มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ จากการศึกษาบริเวณโนนเมืองเก่าพบว่ามีชุมชนโบราณเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 และเมื่อวัฒนธรรมทรารวดี แผ่เข้ามาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-16 จึงมีการกระจายตัวมาอยู่นอกบริเวณโนนเมืองเก่า และมีอาศัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาทั้งสองพื้นที่ ใบเสมาที่ไม่ได้สลัก” ถูกเรียงรายตามทางเดินวัดโพธิ์ชัยเสามาราม ไว้ให้ เมืองฟ้าแดดสงยาง ชาวบ้านนิยมเรียกว่าเมืองเสมา เพราะพบใบเสมาหินทรายจำนวนมากทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง บางส่วนยังอยู่ที่เดิม บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม และบางส่วนอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
ใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยางเป็นใบเสมาศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษ 14 - 15 มีทั้งแบบสลักลวดลายแยยเรียน การสร้างใบเสมานั้นอาจเพื่อใช้ปักแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ ทางศาลนาหรือเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับเคารพบูชา โดยรูปร่างใบเสมาอาจแบ่งเป็น 3 แบบใหญ่ๆ ได้ แบบแท่งหินธรรมชาติ แบบแผ่นหิน และแบบแท่งหิน
นอกจากใบเสมาสลักแล้ว ยังมีโบราณสถานศิลปะทวารวดีที่โดดเด่นอีก นั่นก็คือ ”พระธาตุยาคู” ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์ทั้ง 14 องค์ ที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ไม่สอปูน นับเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพสมบูรณ์แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานหลายศตวรรษ
จะเห็นได้ว่าในแต่ละยุคสมัยมีเอกลักษณ์ในศิลปะที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างงดงาม แม้กาลเวลาจะผ่านมานาน ความงดงามเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน หากเพียงเราได้มีจิตสำนึกอนุรักษ์และปกป้องไว้ เหล่าลูกหลานรุ่นหลังของเราก็สามารถเชยชมมรดกล้ำค่านี้ได้ตราบนานเท่านาน
๓.พระธาตุยาคู หรือ พระธาตุใหญ่
ประวัติความเป็นมา พระธาตุยาคู พระธาตุยาคู หรือ พระธาตุใหญ่ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐปรากฏการก่อสร้าง 3 สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น 4 ทิศ มีปูนปั้นประดับสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน
จากการตรวจสอบหลักฐานสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยทวารวดี ต่อมาคงปรักหักพังไปตามกาลเวลาและเพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา คงสร้างเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนซ้อนทับฐานเดิมและในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คงมีการสร้างต่อเติมส่วนยอดให้สูงขึ้นอีก จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๒๒ กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์องค์นี้ รวมทั้งได้จดทะเบียนเป็นโบราณสถาน พระธาตุยาคูนี้ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ จึงจัดให้มีเทศกาลบูชาพระธาตุประจำปี ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เพื่อขอฝนและความสงบร่มเย็นแก่หมู่บ้าน ลักษณะทั่วไป เป็นพระธาตุเจดีย์ขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง ก่อด้วยอิฐดินเป็นเจดีย์ทรง ๘ เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๑๒ มีขนาดฐานกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๐ เมตร สร้างซ้อนกันในลักษณะเป็นจัตุรมุข มีบันไดทางขึ้น ๔ ทิศ ความสูงวัดจากฐานถึงยอดสูง ๘ เมตร หลักฐานที่พบ เจดีย์ทรง ๘ เหลี่ยม ใบเสมาหินทราย
เส้นทางเข้าสู่พระธาตุยาคู
จากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปตามเส้นทางหลวงสาย 214 (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร หรือจากตัวอำเภอกมลาไสย ไปตามถนนหน้าโรงเรียนกมลาไสย ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ถึง แยกบ้านเสมา
๔. พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอำเภอกมลาไสย
ที่ตั้งตั้งอยู่ในตัวอำเภอกมลาไสยถนนราษฎรบริหาร หมู่ที่ 1บ้านในเมือง ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เส้นทางกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด ระยะทาง 12กิโลเมตร ทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ เมื่อ วันที่ 9 ธันวาคม 2549
ประวัติความเป็นมาอำเภอกมลาไสยมีประวัติศาสตร์และส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมมาอย่างยาวนาน มีแหล่งโบราณสถาน และโบราณวัตถุ คือเมืองฟ้าแดดสงยาง อีกทั้งมีการสืบสานประเพณีวัฒนธรรม การแข่งขันเรือยาว การเส็งกลางกิ่ง และประเพณีสิบสองเดือนในทุกชุมชนอีกมากมาย พิพิธภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้รวบรวม โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของเมืองฟ้าแดดสงยางสมัยทวาราวดี ที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตลอดทั้งสิ่งของเครื่องใช้ของภูมปัญญาท้องถิ่นในอดีต มาแสดงไว้ให้นักเรียน นักศึกษาตลอดทั้งประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ซึงเป็นข้อมูลเบื้องต้นของเมืองฟ้าแดดก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเข้าชมเมืองฟ้าแดดสงยางในสถานที่จริงต่อไป
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้รับการผลักดันในเรื่องงบประมาณ จากอดีต ส.ส.ภัทรา วรามิตร ประสานการสนับสนุนงบยุทธศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์ หรืองบผู้ว่า CEO เพื่อให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้ดำเนินงาน
สิ่งของที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
ห้องเจ้าเมือง แสดงถึง ประวัติศาสตร์ความเป็นมาตลอดทั้งเชื้อสายเจ้าเมือง ถึงปัจจุบัน และสิ่งของ เครื่องใช้ ประจำตัวของเจ้าเมือง
ห้องจัดแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดให้มีการแสดงผ้าพื้นเมือง อายุกว่า 200 ปี ผ้าไหม ผ้าไหมแพรวา ผ้าทอพื้นเมือง ผ้าถุง ผ้าขาวม้า กระเป๋าถือสตรี หมอนขิต หมอนสามเหลี่ยม ผลิตภัณฑ์จากผ้า ประวัติคนดีศรีกมลาไสย
ห้องโถงใหญ่ จัดแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาประวัติความเป็นมาเมืองฟ้าแดดสงยาง ประวัติเมืองกมลาไสย ใบเสมาจารึกอักษร พระพุทธรูป พระพิมพ์ วัตถุโบราณสมัยทวารวดี ตลอดทั้งสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงที่ตั้งเมือง เครื่องมือ เครือใช้ ในอดีต พระพุทธรูโบราณ ใบลานจารึกอักษรธรรม หนังสือ แบบเรียนในอดีต อายุกว่า 100 ปี
ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น/ของฝาก ของที่ระลึก
ธุง เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมสำคัญของชาวอีสานมาอย่างยาวนาน เชื่อกันว่าสามารถใช้ป้องกันสิ่งเลวร้ายหรือสิ่งไม่ดีที่มองไม่เห็น ภูตผีวิญญาณต่างๆที่จะมารบกวนงานบุญ หากเห็นธุงแล้วจะถอยออกไปพร้อมกันยังเป็นการบอกกล่าวบวงสรวงเทพยดาในพื้นที่ว่ามีการทำบุญ และมีพิธีการสำคัญให้มาช่วยปกป้องคุ้มครองธุงของอีสานนิยมทอเป็นผืนยาวๆ มีรูปสัตว์หรือรูปภาพต่างๆ ตามความเชื่อบนผืนธุง เช่น จระเข้ เสือตะขาบ นางเงือก เทวดา และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีการดัดแปลงวัสดุธรรมชาติอื่นมาเป็นธุงด้วย
ความหมาย
ธุง เป็นภาษามาตรฐานในประเทศไทย ซึ่ง ภาคอีสานจะเรียกว่า ธุง ภาคเหนือ เรียกว่า ตุง ชาวไทยใหญ่ เรียกว่า ตำข่อน ประเทศพม่า เรียกว่า ตะขุ่น ประเทศลาว จะเรียกว่า ทง หรือ ทุง ซึ่งภาษาอีสานและภาษาลาวมีความคล้ายคลึงกัน ใช้คำว่า ธุง / ทุง ออกเสียงเหมือนกัน แต่ด้วยภาษาลาวไม่มี “ธ” ทำให้ใช้ “ท” เป็นตัวอักษรแทน “ธ” ซึ่งภาษาอีสานใช้พยัญชนะแบบไทย จึงใช้ “ธ” เป็นพยัญชนะเท่านั้น ในด้านความหมายและการออกเสียงถือได้ว่า ทั้งสองคำนี้ไม่มีความแตกต่างกัน คำว่า ธุง/ทุง/ตุง/ มาจากรากศัพท์เดียวกัน ในภาษาบาลี ใช้ คำว่า ธช ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า ธฺวชฺ เมื่ออาณาจักรต่างๆ ในอุษาคเนย์รับมาใช้ จึงปรับเปลี่ยนไปตามความถนัดของการออกเสียงในท้องถิ่นของตนเอง
ประเภทของธุง
ทั้งนี้ วิทยา วุฒิไธสง (๒๕๖๑) ได้แบ่งประเภทของธุงอีสาน ๖ ประเภท ดังนี้
๑) ธุงราว ทำจากผ้าหรือกระดาษอาจเป็นรูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมหรืออื่นๆ นำมาร้อยเรียงเป็นราวแขวนโยง
๒) ธุงไชย เป็นเครื่องหมายของชัยชนะหรือสิริมงคลทอจากเส้นด้ายหรือเส้นไหมสลับสีบางครั้งใช้ไม้ไผ่คั่น นิยมใช้ลายประจำยาม ลายปราสาท ลายเครือเถา ลายสัตว์ ลายดอกไม้
๓) ธุงสิบสองราศี นิยมทำด้วยกระดาษ ลักษณะของตุงสิบสองราศี มีรูปนักษัตรหรือสัตว์ สิบสองราศีในผืนเดียวกัน เชื่อว่าในครอบครัวหนึ่งอาจมีสมาชิกหลายคน แต่ละคนอาจมีการเกิดในปีต่างกัน หากมีการนำไปถวายเท่ากับว่าทุกคนในครอบครัวได้รับอานิสงค์จากการทานตุงเท่าๆ กัน ถือว่าเป็นการสุ่มทาน ใช้เป็นตุงบูชาเจดีย์ทรายในวันสงกรานต์
๔) ธุงเจดีย์ทราย ใช้ปักประดับที่เจดีย์ทราย ทำจากกระดาษสีต่างๆ ให้หลากสี ตัดฉลุลายด้วยรูปทรงสวยงาม เมื่อได้ตุงนำมาร้อยกับเส้นด้าย ผูกติดกับกิ่งไม้หรือกิ่งไผ่ ปักไว้ที่เจดีย์ทรายในวัด ธุงตะขาบ ธุงจระเข้ เป็นผ้าผืนที่มีรูปจระเข้หรือตะขาบไว้ตรงกลาง เป็นสัญลักษณ์ในงานทอดกฐิน ใช้แห่นำขบวนไปทอดยังวัด บนความเชื่อเกี่ยวกับจ้าวแห่งสัตว์ในท้องถิ่นที่จะมาช่วยปกป้องคุ้มครอง ในงานบุญกุศลบางแห่งอาจมีรูปเสือ ที่เป็นเจ้าแห่งป่าร่วมด้วย
๕) ธุงไส้หมู เป็นงานศิลปะประดิษฐ์ที่เกิดจากการตัดกระดาษสีหรือกระดาษแก้วสีต่างๆ เมื่อใช้กรรไกรตัดสลับกันเป็นลายฟันปลาจนถึงปลายสุด แล้วคลี่ออกและจับหงายจะเกิดเป็นพวงกระดาษสวยงาม นำไปผูกติดกับคันไม้ไผ่หรือแขวนในงานพิธีต่างๆ เช่น ตกแต่งปราสาทศพ ปักเจดีย์ทราย ประดับครัวทาน และอื่น ๆ
๖) ธุงใยแมงมุม เป็นตุงที่ทำจากเส้นด้ายจากเส้นฝ้ายหรือเส้นไหม ผูกโยงกันคล้ายใยแมงมุม นิยมใช้แขวนตกแต่งไว้หน้าพระประธาน หรือโดยรอบในงานพิธีกรรม ในการปกป้องคุ้มครองคล้ายกับตุงไชย ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในภาคอีสาน เช่น การประดับธุงใยแมงมุมของวัดไชยศรี งานบุญผะเหวดบ้านสาวะถี และการประดับในงานร่วมสมัย
ธุง มีหลายรูปแบบสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามความคิด และไอเดีย ของผู้ผลิตคิดค้นประดิษฐ์โดยไม่มีขอบเขต ตวามความเหมาะสม
ธุงสี่เหลี่ยม หมายถึง อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ
อันเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ดังนี้
ทุกข์ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์
สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุให้เกิดความทุกข์
นิโรธ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์
มรรค คือ ความจริงที่ว่าด้วยทางแห่งความดับทุกข์
ธุงหกเหลี่ยม หมายถึง ทิศทั้งหก
เบื้องบน – เบื้องล่าง
เบื้องหน้า – เบื้องล่าง
เบื้องซ้าย – เบื้องขวา
ธุงแปดเหลี่ยม หมายถึง มรรค ๘ คือ
ทางการดำเนินชีวิตอันประเสริฐทางเดินของใจเป็นการเดินทางจาก
ความทุกข์ไปสู่ความเป็นอิสระหลุดพ้นจากทุกข์ซึ่งมนุษย์หลงยึดถือ
และประกอบขึ้นใส่ตนด้วย อำนาจของอวิชชา มรรคมีองค์แปด
คือต้องพร้อมเป็นอันเดียวกันทั้งแปดอย่างดุจเชือกฟั่นแปดเกลียว
ธุงสิบเหลี่ยม หมายถึง การทำความดี ๑๐ ประการ
ได้แก่ การให้ทาน การสมาทาน การภาวนา ความอ่อนน้อม
ถ่อมตน เต็มใจช่วยเหลือผู้อื่น การแสดงธรรม การฟังธรรม
การมอบความดีให้แก่กันและกัน การพลอยยินดีกับผู้อื่น
ทำความเห็นให้ตรงกับผู้อื่น
ธุง ๓ มิติ หมายถึง พระรัตนตรัย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ธุงฟ้าหยาด หมายถึง ที่มีความสวยงามสลับสีสันลวดลายหลากสี
2) จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คุณสมบัติขนาด สี น้ำหนัก ปริมาณ ราคา
๑. เพื่อเป็นพุทธบูชาถวายพระในงานบุญเดือน ๓
๒. ถวายปู่พระธาตุยาคู
๓. เป็นอาชีพที่เพิ่มรายได้ได้ดีมากให้กับชุมชน
๔. เป็นการฝึกสมาธิป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้
๕. เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำด้วยมือล้วนๆ อย่างประณีตบรรจง
๖. เป็นที่ต้องการของตลาด
๗. มีหลากหลายรูปแบบ หลายสีสัน