ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 32' 16.4983"
14.5379162
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 59' 28.4114"
99.9912254
เลขที่ : 195228
กลุ่มชาติพันธุ์ไทย – จีน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
เสนอโดย สุพรรณบุรี วันที่ 5 มกราคม 2565
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 5 มกราคม 2565
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 1471
รายละเอียด

กลุ่มชาติพันธุ์ไทย – จีน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์

ชาวจีนที่อพยพส่วนใหญ่มาจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน คือ มณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน และไหหลำ ชาวจีนเหล่านี้ได้แก่ ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนไหหลำ รวม ๕ กลุ่มภาษาใหญ่ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวจีน ๕ กลุ่มภาษาดังกล่าวในประเทศไทย เห็นได้จากศาลเจ้า สมาคมตระกูลแซ่ สมาคมกลุ่มภาษา สมาคมถิ่นเกิด สมาคมอาชีพ
และโรงเรียนจีน เป็นต้น สาเหตุของการอพยพของชาวจีนเข้าสู่ไทยก็เพราะความไม่สงบภายในประเทศจีน ความอดอยาก การติดต่อค้าขาย และความสามารถในการเดินเรือของจีนออกสู่ทะเล สมัยราชวงศ์ถัง
(ค.ศ. ๖๑๘-๙๖๐) การเดินเรือออกสู่ประเทศต่าง ๆ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ในสมัยนั้นเมืองท่าสำคัญทางใต้ คือ เมืองกวางโจว เมืองเฉวียนโจว และเมืองหมิงโจว ซึ่งก็คือเมืองท่าสำคัญในมณฑลกวางตุ้ง ฮกเกี้ยน
และเมืองเจิ้นเจียงในปัจจุบันเมืองดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นเมืองท่าสำคัญสามารถออกสู่ทะเลได้แล้วยังเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศด้วย กล่าวคือจากเมืองศูนย์กลางทางการค้าทางทะเลเหล่านี้ สินค้าจะถูกลำเลียงจากเมืองท่าแล้วส่งต่อไปตามลำน้ำยังเมืองต่าง ๆ ของจีน และอีกด้านหนึ่งเมืองท่าเหล่านี้ยังเป็นที่รวมสินค้าชนิดต่าง ๆ ของจีนเพื่อส่งออกขายยังประเทศทางแถบเอเชียอาคเนย์และอินเดียด้วย

พื้นที่ชุมชน

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

จำนวนประชากร

ท่าพระยาจักร ตำบล อู่ทอง อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่ม

19,500 คน

ตำบล สามชุก อำเภอสามชุก สุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่มติดแม่น้ำ

32,450 คน

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชุมชน ชาติพันธุ์

ชุมชนคน “ไทย-จีน” แทรกตัวอยู่ตามตลาดเก่าแก่ในเมืองสุพรรณบุรีมานับร้อยปีตึกแถวไม้ที่เรียงรายตามริมแม่น้ำท่าจีนอบอวลไปด้วยชาวจีน ที่บ้างอพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ บ้างก็มาเพื่อการค้าขายลำเลียงสินค้ามาทางเรือลำใหญ่ ที่มีชื่อเรียกในภาษาจีนแต้จิ๋วว่า “ซงฮ่วยจุ๊น” เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนาไปขายต่อให้โรงสี หรือรับน้ำตาลและมะพร้าวจากสวนที่อัมพวามาขายที่ตลาดบางลี่ อยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันพี่น้องไทยเชื้อสายจีน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในย่านธุรกิจการค้า เช่น ตลาดสุพรรณบุรี ตลาดสามชุกหรือตลาดเก้าห้อง เป็นต้น

หากไปเยือนถิ่นชาวสุพรรณเชื้อสายจีนที่ ตลาดเก้าห้อง สถานที่ที่เมื่อสักเจ็ดสิบแปดสิบปีก่อนเป็นศูนย์กลางการค้าขายของชาวบ้าน เพื่อซึมซับเรื่องราว และความเป็นมาอันแสนยาวนานจากอาม่า
และอากงผู้ใจดี

อาม่า : “ตามที่คนจีนเค้าเล่ากัน คือหอบกันมาเสื่อผืนหมอนใบ มาเจอตรงไหนเหมาะก็อยู่กันตรงนั้น
มีลูกมีหลานกัน เหมือนสมัยพระเจ้าตาก เจอมุมไหนสร้างเจดีย์ สร้างศาลาตรงไหนก็จับจอง เท่าที่รู้คือเถ้าแก่รอด (นายบุญรอด เหลียงพานิช ) มาจากราชบุรี เป็นคนแรกที่มาเปิดตลาด เรารู้แค่ว่าเราเกิดในตลาดเก้าห้อง”

ชุมชนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดสุพรรณบุรี ยังมีประเพณีสำคัญที่ทำร่วมกันอย่าง “งานทิ้งกระจาด”
ที่จะทำทุก ๆ ปีหลังจากสารทจีน (ชิกง่วยบั่ว) ชาวจีนจะรวมตัวกันไปให้ทานที่สมาคมจีน เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ไปแจกหมู่ผู้รับทาน ซึ่งคุณยายอนงค์ เจ้าของร้านขนมไทยเจ้เซียมวัย 80 ปี เล่าบรรยากาศของงานทิ้งกระจาดให้ฟังว่า

“ที่งานทิ้งกระจาด จะมีของมาแจกกัน พวกข้าวสาร ขนม ของใช้เต็มไปหมด แล้วก็จะมี ‘การเปียของกัน’ หมายถึง ผู้ใหญ่เอาเงินไปซื้อของ ซื้อข้าวสาร แล้วก็ให้ลูกหลานเปียไปใช้ แล้วก็ค่อยเก็บเงินปีหน้า
อีกอย่างคือ จะมีงานประจำปีหนึ่งครั้ง มีงิ้วมาเล่น จะมีคนดูหรือไม่มีคนดูเขาไม่สนใจ แล้วก็มีกินเลี้ยง
โต๊ะจีนกินฟรีไม่เสียเงินเลย จะเป็นงานช่วงเดือนพฤษภา หรือมิถุนา ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่”

คนไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการทำบุญทำทาน ในรูปแบบต่าง ๆ มีการไหว้บรรพบุรุษในเทศกลาตรุษจีนและสารทจีน ประเพณีของชาวจีนในสุพรรณบุรีที่สำคัญคือ
ประเพณีการทิ้งกระจาด ทุก ๆ ปีหลังจากสารทจีน (ชิกง่วยบั่ว) ชาวจีนในตลาดสุพรรณบุรี รวมตัวกันไปให้ทานที่สมาคมจีนจะมีข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ไปแจกหมู่ผู้รับทาน (คือพวกที่ไปรับติ้ว)
และงานให้ทานทิ้งติ้วนี้เรียกกันว่า “งานทิ้งกระจาด”ที่มาของการทิ้งกระจาดในประเทศไทย ปัจจุบันมีชาวไทยเชื้อสายจีน อาศัยอยู่ในเมืองสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในย่านธุรกิจการค้า เช่นตลาดเก้าห้อง ตลาดสุพรรณบุรี ตลาดบ้านสุด ตลาดศรีประจันต์ และตลาดสามชุก ตระกูลวงศ์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ ตระกูล “แซ่เบ๊ ที่แปลว่า ม้า”

การประกอบอาชีพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์

ในปัจจุบันชาวจีนในสุพรรณบุรีส่วนใหญ่จะประกอบการค้าในย่านใจกลางเมือง เช่น ตลาดทรัพย์สิน (ตลาดสุพรรณบุรี) ตลาคเก้าห้อง ตลาดศรีประจันต์ และตลาคสามชุก และย่านธุรกิจสำคัญอีกหลายแห่ง
โดยอาชีพดั้งเดิมที่ชาวจีนยังคงนิยมทำ และสืบทอดเป็นมรดกกันมา คือธุรกิจด้านโรงสีข้าว จะมีขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไปแล้วแต่ทุนทรัพย์ ที่ตั้งส่วนใหญ่จะอยู่ริมน้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี ในอดีตการทำธุรกิจโรงสีข้าวมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะในการขนส่ง แต่ปัจจุบันนี้เมืองสุพรรณบุรี มีการคมนาคมที่สะดวก สามารถเดินทางโดยใช้ทางบก การเลือกทำเลที่ตั้งของโรงสีจึงเปลี่ยนไป แต่การขนส่งลำเรียงข้าวจากเรือลำเรียงยังพอมีอยู่บ้าง

สถานการณ์ของชุมชน

ชาวจีนในสุพรรณบุรี แบ่งออกเป็น 2กลุ่ม ตามฐานะ คือ “กลุ่มพ่อค้า” และ “กลุ่มแรงงาน แม้ว่าการศึกษาหรือฐานะของชาวจีนใน 2 กลุ่มนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจีนทั้งสองกลุ่มจะมีการแบ่งแยกกัน เพราะมีการจัดตั้งเป็นสมาคม เรียกว่า “สมาคมจีน” ใช้เป็นศูนย์กลางพบปะสังสรรค์ปรึกษาธุรกิจการค้า และใช้เป็นสถานที่แสดงขนบธรรมเนียมประเพณี ของชาวจีน

วิถีชีวิต / วัฒนธรรม

ชาวจีนเป็นนิยมระบบ “สังคมชายเป็นใหญ่” การสืบสายโลหิตจะใช้โคตรตระกูลฝ่ายชาย
เป็นตัวกำหนด “แซ่” ซึ่งแซ่จะเป็นตัวกำหนดการมีบรรพบุรุษร่วม เป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยึดโยง
ความเป็นพวกพ้องเดียวกัน ระบบครอบครัวของชาวจีนมีลักษณะเป็น “ระบบกงสี” ซึ่งระบบกงสีในอดีต
เป็นระบบการผลิตในวิถีครัวเรือน โดยในกงสีจะประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก ลูกสะใภ้ และหลาน สังคมชาย
เป็นใหญ่ของครอบครัวจีน พ่อจะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด มีหน้าที่สำคัญคือการทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อหารายได้ดูแลสมาชิกในกงสี ทุกคนในกงสีจะร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน รายได้ที่มาจากการทำงานของทุกคน
ถือเป็นผลผลิตส่วนรวมของกงสี และสมาชิกในครอบครัวจะได้รับการแบ่งสรรจากกงสี สำหรับการสืบทอดมรดกชาวจีนจะให้มรดกแก่ลูกชายคนโตมากที่สุด เนื่องจากถือว่าเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล ปัจจุบันรูปแบบความสัมพันธ์ของครอบครัวชาวจีนเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากเป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
โดยมีการแยกครอบครัวออกจากระบบกงสีแบบเดิม มีการแต่งงานทั้งกับชาวจีนด้วยกันและชาวไทย
รวมถึงมีการขยายตัวออกไปอาศัยยังพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้น

ความรู้ / ภูมิปัญญา

ด้านการศึกษา ในอดีตชาวจีนที่เข้ามาในจังหวัดสุพรรณบุรีนั้นได้รับการศึกษาค่อนข้างน้อย
เพราะต้องประกอบอาชีพค้าขาย นิยมให้เรียนแค่พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น การศึกษาภาษาจีนยังอยู่ในวงแคบ ผู้ที่มีฐานะดี ถึงจะได้รับโอกาสในการเรียนในระดับสูง แต่ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมส่งลูกหลานให้เรียนในระดับที่สูงขึ้น ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ การศึกษาของคนจีนในจังหวัดสุพรรณบุรี
แบ่งออกเป็น 2กลุ่ม ตามฐานะ คือ กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มแรงงาน

ประเพณี / เทศกาล ของชาวจีนในสุพรรณบุรี ที่สำคัญ ได้แก่

“เทศกาลตรุษจีน”(ไหว้เทพเจ้า และบรรพบุรุษ) ถือเอาวันที่ 1 เดือน 1 ของจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนจีน ถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญที่สุดของชาวจีนเพราะชาวจีนจะทำพิธีไหว้พระ ไหว้เจ้า
เพื่อขอพร และไปไหว้บรรพบุรุษผู้ถ่วงลับไปแล้ว ที่วัดจีน และศาลเจ้า ในเทศกาลนี้จะมีการแสดงงิ้ว
เพื่อเป็นการตอบแทนเทพเจ้า

“สารทจีน”(ไหว้ผีบรรพบุรุษ) เป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ ส่วนของไหว้
และการตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษก็จะไม่ได้เยอะเท่ากับวันตรุษจีน

“ประเพณีการทิ้งกระจาด”ทุก ๆ ปี หลังจากสารทจีน ชาวจีนในตลาดสุพรรณบุรี จะรวมตัวกันไป
ให้ทานที่สมาคมจีน จะมีข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ไปแจกผู้รับทาน

ศาสนา

ชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีการทำบุญทำทาน ในรูปแบบต่าง ๆ มีการไหว้
บรรพบุรุษในเทศการตรุษจีน และสารทจีน

ศิลปะ / การแสดง

การแสดงส่วนใหญ่จะมีในงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานตรุษจีน โดยจะมีการจัดขบวนเชิดสิงโต มังกร ขบวนธงทิว โดยสาวงามจากท้องถิ่นต่าง ๆ ในจังหวัด มีชุดฟ้อนรำลำกลองยาว ล่อโก๊ว ที่สำคัญคือมีขบวนหาบสิ่งของเพื่อไปอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมือง มหรสพต่าง ๆ โดยเฉพาะงิ้ว

ตำนาน

ขุนจำนงจีนารักษ์ นามเดิมว่า หุย แซ่เฮง ต่อมาหลังจากจบการศึกษาจากประเทศจีนและได้เดินทางกลับมายังประเทสไทย โดยได้กลับมาทำการค้าขายต่อจากบิดา ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองมีคนรู้จักมากมายเนื่องจากเป็นผู้มีจิตรใจดี มีเมตาจึงได้รับพระราชทานยศ เป็น ขุนจำนงจีนารักษ์ ตำแหน่งกรรมการพิเศษจังหวัดสุพรรณบุรี นายอากรสุรา - ฝิ่น ศักดินา 400 ไร่ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่
8 พฤศจิกายน พ.ศ.2474 เมื่อรัฐบาลประกาศยกเลิกการสูบฝิ่น ท่านจึงหันมาทำสวนทำไร่ และเสียชีวิตเมื่อพ.ศ. 2517 รวมอายุได้ 83 ปี ที่บ้านของท่านเอง

สถานที่ตั้ง
จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
บุคคลอ้างอิง นางสาวทิพย์สุดา อิ่มใจ อีเมล์ spbcul@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
ตำบล สนามชัย อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์ 035536058
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่