ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 22' 31.8511"
14.3755142
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 53' 33.2984"
99.8925829
เลขที่ : 195300
กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
เสนอโดย สุพรรณบุรี วันที่ 19 มกราคม 2565
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 19 มกราคม 2565
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 1309
รายละเอียด

กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชุมชน ชาติพันธุ์

ชุมชนลาวเวียงบ้านดอนคา ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนขนาดใหญ่มีทั้งหมด ๒๐ หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีชาวลาวเวียงแทรกตัวอยู่ถึง ๗ หมู่บ้าน ประกอบด้วยหมู่ ๑ บ้านดอนคาหัวตาล หมู่ ๒ บ้านดอนคา หมู่ ๖ บ้านโนนหอ (โนนหอ บ้านโนนหัวนา บ้านโนนก่าม) หมู่ ๑๐ บ้านโนน หมู่ ๑๗ บ้านหนองหมู - โนนแดง หมู่ ๑๘ บ้านหนองทราย และหมู่ ๑๙ บ้านห้วย (บ้านห้วย บ้านยาว) โดยมีบ้านดอนคาเป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่บรรพบุรุษพาลูกหลานอพยพตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนเช่นในปัจจุบัน

นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ชาวลาวเวียงบ้านดอนคาทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่เป็นข้าวเจ้า ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ทางฝั่งตะวันออกของตำบลหรือรอบ ๆ ชุมชนบ้านดอนคาในปัจจุบัน ส่วนที่รองลงมา คือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และพืชไร่อื่น ๆ นิยมปลูกกันมากในฝั่งตะวันตกของตำบลเนื่องจากเป็นที่สูงและมีภูเขา

ด้านอาหารการกิน ยังคงวัฒนธรรมลาวอย่างฝังแน่นและเป็นเอกลักษณ์ สังเกตได้จากวัตถุดิบหลักที่ทุกครัวเรือนต้องมี นั่นคือ ปลาร้า ชาวบ้านนิยมนำมาปรุงในอาหารเกือบทุกชนิด เพราะช่วยให้รสชาติกลมกล่อม มีน้ำพริกปลาร้าและผัก เป็นอาหารหลักประจำบ้าน และอาหารอื่น ๆ ที่ขึ้นชื่อ ได้แก่ แกงผำ ด้านของหวานที่มีมาตั้งแต่โบราณ คือ ขนมก้นกระทะ ล้วนมีความผูกพันกับชาวลาวเวียงบ้านดอนคาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีกลุ่มคนต่างเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันทั้งชาวไทยและชาวจีน ก่อเกิดการผสมกลมกลืนและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางอาหาร เมื่อชาวลาวเวียงนำสูตรต้นตำรับแบบไทยมาประยุกต์ในรูปแบบของตนเอง เช่น นำแกงบอน แกงหอยขมซึ่งต้องใส่กะทิ มาเปลี่ยนเป็นน้ำปลาร้า กลายเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนซึ่งอร่อยอย่างลงตัว

ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวลาวเวียงบ้านดอนคาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ทั้งการแต่งกาย อาหารการกิน การเข้ารับการศึกษา รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาในชุมชน ผู้คนจากสังคมชนบทกลายเป็นคนในสังคมเมือง เมื่อถนนสายหลักตัดผ่านตัวตำบล การเดินทางสะดวกสบาย เข้าถึงอำเภออู่ทองในระยะทางเพียง ๑๒ กิโลเมตร เป็นเหตุให้บ้านดอนคาพัฒนาอย่างรวดเร็วตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม
ชาวลาวเวียงบ้านดอนคายังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี การดำรงชีวิต ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ภายในชุมชน เช่น บุญบั้งไฟ บุญข้าวจี่ บุญเบิกบ้าน และพร้อมถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้รู้จัก เพื่อส่งต่อความภูมิใจที่มีต่อบรรพบุรุษและวางรากฐานขนบธรรมเนียมอันดีงามไว้ให้สืบสานความเป็นชาติพันธุ์ลาวเวียงไว้มิให้สูญหาย

ชุมชนลาวเวียงบ้านดอนคา กำเนิดขึ้นเมื่อพ่อหงส์ – แม่อ่ำ พาลูกหลานมาสร้างบ้านเรือนบริเวณทิศเหนือห่างจากหมู่บ้านปัจจุบันประมาณ ๑ กิโลเมตร เรียกว่า “โนนบ้านเก่า” ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบลุ่ม ชาวลาวเวียงแต่ละครอบครัวจึงเข้าไปจับจองที่ทำกิน ต่อมาพ่อหงษ์ พบพื้นที่เป็นเนินดินเหมาะแก่การปลูกบ้านสร้างเรือน เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและใกล้แหล่งน้ำใช้ จึงพาลูกหลาน ย้ายจากโนนบ้านเก่า มาอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านดอนคาและตั้งมั่นอยู่จนปัจจุบัน

ชาวลาวเวียงมักสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในสายตระกูล แต่ละกลุ่มบ้านประกอบขึ้นรวมเป็นชุมชน การเชื่อมต่อระหว่างบ้านเรือนแต่ละหลังหรือแต่ละคุ้มเรือนค่อนข้างอิสระ นิยมปลูกเรือนและหันหลังคาเรือนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่หันมุมบ้านเข้าหากัน เพราะเชื่อว่าจะทิ่มแทงกันในหมู่เครือญาติ ผู้คนในชุมชนรู้จักมักคุ้นกันอย่างดี การปิดกั้นขอบเขตด้วยรั้วจึงไม่ปรากฏชัดเจน หากมีการแบ่งอาณาเขตมักเป็นรั้วเตี้ย ๆ แนวต้นไม้หรือกองวัสดุต่าง ๆ แทนการก่อรั้วทึบ ทางสัญจรภายในหมู่บ้านมีลักษณะเป็นอิสระ ประกอบด้วยทางหลักและทางรองที่คดล้อมลัดเลาะไปตามกลุ่มบ้านต่าง ๆ ลักษณะคล้ายใยแมงมุมแบบหลวม ๆ อีกทั้งยังแบ่งแยกพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินออกจากกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อชุมชนเริ่มแออัด ชาวบ้านบางกลุ่มเริ่มขยับขยายที่อยู่อาศัยออกไปรอบนอก เช่นลักษณะของชุมชนลาวเวียงบ้านดอนคาในทุกวันนี้ นอกจากนี้ ในแต่ละหมู่บ้าน ยังมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อประโยชน์ใช้สอยให้ตรงกับความต้องการของผู้คนที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น เปลี่ยนสระน้ำจากที่เคยใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภค กลายมาเป็นลานสาธารณะหรือสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ดังเช่น สระหนองเบน ถูกปรับบริบทของพื้นที่ โดยทำเป็นสระคอนกรีตมีแนวทางเดินโดยรอบให้ชาวดอนคาเข้าไปใช้เดิน วิ่งเพื่อออกกำลังกาย ใกล้ ๆ กันเป็นที่ตั้งของเครื่องออกกำลังกายและลานเต้นแอโรบิค สถานที่พักผ่อนหย่อนใจยอดฮิตของคนในชุมชน อย่างไรก็ตาม ยังมีบางครัวเรือนนำน้ำไปใช้รดต้นไม้ นอกจากนี้ ยังพบว่าบริเวณสระหนองไผ่เดิมปัจจุบันได้ถมจนกลายเป็นลานกว้างสำหรับใช้ตากข้าวและพื้นที่สาธารณะเพื่อทำประโยชน์อื่น ๆ ให้แก่ชุมชน

ส่วนนามสกุลที่ใช้ในตำบาลนั้น ตามตำนานเล่าขานกันมาว่า พ่อคุณปลัด ท่านเป็นผู้มี ความรู้ความสามารถท่าน จึงเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เดิมท่านเป็นหลาน ของเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ เนื่องจากท่านไม่ชอบทําสงคราม รบทัพจับศึกกับใครจึงแยกย้าย จากญาติพี่น้องมาหาความสงบ เนื่องจากเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการปกครองผู้คน เป็นผู้วางแผน พัฒนาหมู่บ้านให้เจริญรุ่งเรือง จนได้เป็นปลัดหมู่บ้านและปลัดแขวง ในสมัยรัชกาลที่6 พระองค์ทรง กําหนดให้ชาวไทยทุกคนมีนามสกุลใช้กันทุกครอบครัว ลูกหลานของพ่อคุณปลัดจึงเป็นต้นกําเนิดของ นามสกุล “กุลวงศ์” และตระกูล “หงษ์เวียงจันทร์” สืบสายโลหิตมาจาก พ่อคุณหงษ์-แม่คุณอําที่มีเครือ ญาติ ลูกหลานสืบทอดวงศ์ตระกูลสืบต่อกันมา รวมทั้งครอบครัวของพ่อคุณผา-แม่คุณซา จะเป็น ตระกูลที่ใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านดอนคา มีชื่อว่า “เหมเวียงจันทน์” สืบทอดมาจากครั้งที่อพยพมาจาก เวียงจันทน์เช่นกันเป็นตระกูลมั่งคั่ง เป็นนายฮ้อยที่ขาย ช้างม้า วัวควาย เป็นอาชีพ จึงเป็นผู้ที่มีฐานะดี เป็นผู้ที่มีคนนับหน้าถือตา ส่วนตระกูล “นนท์ช้าง” สืบเชื้อสายจากตระกูลหงส์เวียงจันทร์ที่สมรสกับ ตระกูลอื่น ลูกหลานเกิดมาได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดนนท์ช้าง จึงเป็นต้นตระกูล “นนท์ข้าง” สืบมา ส่วนตระกูลอื่นๆ เช่น ยศวิชัย, ตุ่มศรียา, ปลัดม้า, นนท์แก้ว และพันธ์จันทร์ล้วนเป็นตระกูล เก่าแก่ที่มีประวัติสืบทอดกันมาเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี จนได้รับแต่งตั้งให้มียศมีตำแหน่ง ใน สมัยก่อนเมื่อทางการกําหนดให้มีนามสกุลใช้ลูกหลาน จึงดำรงตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ของบรรพบุรุษ มาตั้งเป็นอนุสรณ์และความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน

พื้นที่ชุมชน

ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

จำนวนประชากร

ตำบล ดอนคา อำเภอ อู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี

พื้นที่ลาบลุ่ม

1,560 คน

การประกอบอาชีพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์

ชาวลาวเวียงบ้านดอนคาประกอบอาชีพทำนาเป็นหลักตั้งแต่อดีต โดยทำกันปีละครั้ง เรียกว่า
นาปีหรือนาน้ำฝน อาศัยแรงงานจากควาย ดังนั้น ใต้ถุนเรือนทุกหลังจึงมีพื้นที่บางส่วนกันไว้ใช้เลี้ยงควาย

สถานการณ์ของชุมชน

ชุมชนลาวเวียงตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นชุมชนที่มีขนาดใหญ่ เพราะมีประชากรมากถึง ๓,๗๒๔ คน และจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น ๑,๒๗๔ หลังคาเรือน ประชากรร้อยละ ๙๐ ประกอบอาชีพเกษตรกรทำนา ทำไร่

วิถีชีวิต / วัฒนธรรม

ชาวลาวเวียงบ้านดอนคา นิยมอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ เมื่อแต่งงาน คู่สามีภรรยาจะนิยมออกมาสร้างบ้านเรือนของตนเองใกล้บ้านของพ่อแม่ โดยมีลูกคนสุดท้องหรือลูกผู้หญิง อยู่ดูแลพ่อและแม่ที่เรือนเดิม ทำให้เรือนนั้นตกเป็นของลูกหลานคนสุดท้องสืบต่อกันเรื่อยไป

ลำดับการเรียกคนในครอบครัวของชาวลาวเวียงจะแตกต่างจากการคนไทย ได้แก่ “โซ่น” ในภาษาลาวเวียงบ้านดอนคาคือ ทวด หากเป็นผู้ชายจะเรียกว่า “พ่อโซ่น” ผู้หญิงจะเรียกว่า “แม่โซ่น” นอกจากนี้ ยังใช้เป็นคำเรียกผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนอีกด้วย คำว่า โซ่น ยังใช้เรียกตาและยาย โดยตาจะเรียกว่า “โซ่นใหญ่” และยายจะเรียกว่า “โซ่นน้อย” หรือเรียกว่า “คุณใหญ่คุณน้อย” ก็ได้เช่นกัน (คุณมาจากคำว่าพ่อคุณ แม่คุณ) น้าชายน้าหญิงจะเรียกว่า “น้าบ่าว” หรือ “บ่าว” แทนน้าผู้ชาย และ “น้าสาว” หรือ “สาว” อา(น้องของพ่อ) อาหญิงเรียกว่า “อา” ส่วนอาชายจะเรียกว่า “อาว” พี่เขยเรียกว่า “พี่อ้าย” พี่สะใภ้เรียกว่า “พี่นาง” พี่ชายของตนเองหากได้บวชเรียนมาแล้วจะเรียกว่า “อ้ายทิด” พี่ชายเรียกว่า “อ้าย” พี่สาวเรียกว่า “เอื้อย” ส่วนบุคคลอื่น ๆ ก็เรียกเช่นเดียวกับลำดับญาติของไทย

ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งของระบบเครือญาติของชาวลาวเวียงบ้านดอนคา เนื่องด้วยการอาศัยอยู่ที่บ้านดอนคาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรือนของลูกหลานจะนิยมตั้งเรือนใหม่ไม่ห่างจากเรือนดั้งเดิมที่เป็นเรือนของพ่อแม่ ชาวลาวเวียงจะถือเครือญาติมีความสำคัญมาก โดยการเรียกญาติก็จะมีวิธีการเรียกที่ต่างจากชุมชนอื่น ๆ โดยชาวลาวเวียงจะดูตั้งแต่บรรพบุรุษว่าเป็นพี่หรือเป็นน้อง หากเป็นพี่ลูกหลานรุ่นต่อมาก็จะถือเป็นเชื้อสายฝ่ายพี่ โดยฝ่ายพี่จะถูกเรียกจากญาติว่าเป็นลุงหรือป้า และหากเป็นเชื้อสายฝ่ายน้อง ก็จะถูกเรียกจากญาติว่า น้าบ่าว น้าสาว อาว อา จะสังเกตได้ว่า แม้ในบางครั้ง ญาติที่เกิดก่อนพ่อและแม่แต่เป็นลูกฝ่ายน้อง ปกติจะต้องเรียกแทนด้วยคำว่าป้าหรือลุง แต่ชาวลาวเวียงก็จะเรียกว่าน้าตามศักดิ์ฝ่ายน้อง โดยลักษณะดังกล่าวแสดงออกให้เห็นว่า ลูกหลานถือบรรพบุรุษเป็นใหญ่และให้ศักดิ์ความเป็นญาติตามบรรพบุรุษ

ความรู้ / ภูมิปัญญา

ภูมิปัญญาลาวเวียงบ้านดอนคา โดดเด่นในเรื่องการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษผ่านการรู้จักทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะทำขึ้นจาก ไม้ไผ่ นำมาจักสานเป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กระบุง ตะกร้า ตะแกรง กระด้ง กระเซอ ฯ สำหรับใช้ในเรือน นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์เป็นเครื่องมือทำมาหากิน เช่น สุ่มดักปลา คันเบ็ดตกปลา ไซ ค้อง อีโง่(ลอกดักปลา) ฯ ตลอดจนอุปกรณ์ในการทอผ้า เช่น กวัก และ กี่ทอผ้า เป็นต้น

สมัยก่อนจะมีหมอยาพื้นถิ่น เพื่อรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่บ้าง แต่จะนำมาใช้เป็นบางอย่าง เช่น การเป่าเพื่อรักษาโรคงูสวัด การกวาดคอ ส่วนการรักษาแบบเดิมจะมีอยู่ในแค่ตำรา

ปัจจุบัน ชาวบ้านดอนคาหลายคนยังคงนำเอาไม้ไผ่มาใช้ประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้และพัฒนากลายเป็นสินค้าของชุมชน เช่น ตะกร้า กระบุง กระจาด กระด้ง ซึ่งพ่อค้าแม่ขายจากต่างถิ่นจะเข้ามารับซื้อถึงหน้าบ้าน

ประเพณี / เทศกาล

ชุมชนดอนคาจะมีประเพณีที่หลากหลาย ได้แก่“ประเพณีบุญข้าวจี่”เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ โดยจะมีการปั้นข้าวจี่ถวายพระ (ข้าวจี่ที่นี้จะทำเป็นก้อน แล้วเอาไปย่างจากนั้นจะชุบน้ำตาล และก็ไข่ จะทำเฉพาะมีประเพณี),“สารทลาว”,“ตักบาตรเทโว”,“บุญบั้งไฟ”เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ของทุกปี แห่ก่อนงาน ๑๕ ค่ำ ๑ วัน เพื่อขอฝน มีการจุดบั้งไฟ และประกวดภายในงาน, “พิธีเบิกหอบ้าน” เดือน ๖ วันพฤหัสแรก ก็จะทำการ ตักบาตร ทำบุญ นำต้นกล้วยมาทำเป็นรูปคน มีการแต่งตัวให้ แล้วเอาไปใส่กระทง เป็นการสะเดาะเคราะห์ถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ จะไปทำที่หอเจ้านาย (เป็นศาลบรรพบุรุษที่ก่อตั้งหมู่บ้าน),“ทำบุญสงกรานต์”โดยมีการทำบุญ ๓ วัน พอทำบุญครบ ๓ วันก็จะมาเป็น“ประเพณีแห่ดอกไม้”จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๗ ใช้เวลา ๓ วัน ชาวลาวเวียงตำบลดอนคาจะไม่มีประเพณียกธงสงกรานต์

ศาสนา

ชาวลาวเวียงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต โดยทำหน้าที่เป็นกลไกในการกล่อมเกลาโน้มน้าวจิตใจ และสร้างจิตสำนึกในแง่ศีลธรรมจรรยาเพื่อให้เกิดความประพฤติที่ถูกต้องให้กับชาวบ้านมาตั้งแต่ในอดีต

ความเชื่อจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์

การบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ในสังคมไทยพบร่องรอยว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คำว่า “บาย” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ข้าว” ข้าวที่เป็นศรีหรือเป็นสิริมงคลเพื่อเป็นเครื่องสังเวยให้กับเทพ ข้าวจึงเป็นส่วนประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญตามความเชื่อของพราหมณ์ ขวัญเป็นคำโบราณที่ใช้มานานและยังเป็นความเชื่อของกลุ่มคนในภูมิภาคเอเชีย ชาวลาวเรียกขวัญว่า “ขวน” โดยเชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยสิ่งที่มองเห็นเป็นรูปร่าง และสิ่งที่มองไม่เห็น คล้าย ๆ กับวิญญาณแต่ไม่ใช่วิญญาณ เป็นสิ่งสำคัญที่คน สัตว์ หรือแม้กระทั่งสิ่งของบางชนิดต้องมีขวัญ โดยคนคนหนึ่งจะมีเพียงหนึ่งขวัญ ถ้าหากเวลาใดขวัญออกห่างจากร่างกาย จะส่งผลให้คนนั้นมีอาการอ่อนแอ เจ็บป่วยและอาจเสียชีวิตไปในที่สุด โดยเชื่อกันว่าการที่ร่างย้ายจากสถานะหนึ่งหรือย้ายจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่งอย่างกะทันหัน เช่น การไปทำงานต่างถิ่น การไปเที่ยวสนุกสนานจนลืมตัว อาจทำให้ขวัญเหินห่างจากร่างได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ขวัญออกจากร่างกาย หรือให้ขวัญกลับเข้าสู่ร่างเดิม จึงมีพิธีเรียกขวัญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับขวัญ บำรุงขวัญให้กำลังใจ และถือเป็นการอวยพรให้ประสบความสุขความเจริญ

ความเชื่อเรื่องขวัญก่อให้เกิดพิธีสู่ขวัญโดยชาวลาวเวียงนิยมบายศรีสู่ขวัญทุกช่วงเวลาของชีวิต เช่น การสู่ขวัญนาค เพื่อเป็นสิริมงคล โดยมุ่งการสอนให้ยึดมั่นในพุทธศาสนา การปฏิบัติตนเมื่อเป็นพระภิกษุ และระลึกถึงคุณบิดามารดา

การสู่ขวัญแต่งงานเพื่อให้เกิดความสุขสวัสดิ์โชคดีแก่คู่บ่าวสาว มีความมุ่งหมายเพื่อสอนเกี่ยวกับการครองเรือน แต่เดิมพิธีการสู่ขวัญจะจัดให้เฉพาะคู่บ่าวสาวที่ปฏิบัติตนตามธรรมเนียมไม่ชิงสุกก่อนห่ามเท่านั้น แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนไป โดยสามารถทำพิธีสู่ขวัญให้กับคู่บ่าวสาวในทุกกรณี

การสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่จัดขึ้นเมื่อมีการย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของเรือน ตามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ที่ดินและไม้ที่นำมาสร้างบ้านมักมีเจ้าของรักษาอยู่ เมื่อจะเข้าพักอาศัยหรือประกอบกิจกรรมใด ๆ จึงต้องประกอบพิธีที่เป็นสิริมงคลเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีทั้งปวง

การสู่ขวัญโชคชัยเป็นพิธีสู่ขวัญเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มาเยือนหรือจากไปตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น การสู่ขวัญเมื่อมีญาติผู้ใหญ่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นเข้ามาเยี่ยมเยียน เป็นต้น

สำหรับคนลาวเวียง ผีคือวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือที่มีอยู่แล้วโดยไม่ทราบว่ามีมาแต่เมื่อใดหรือมีมาอย่างไร ผีเหล่านี้ประกอบด้วยผีประเภทต่าง ๆ เช่น ผีนา ผีป่า ผีเขา ผีบ้านผีหมู่บ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีฟ้า ผีแถน และผีอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งผีที่เกิดจากการกระทำของบุคคล เช่น ผีปอบ ความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อที่มีมาแต่เดิม ผสมผสานกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาจนแทบจะแยกกันไม่ออกว่าพิธีกรรมใดเกิดจากความเชื่อในพระพุทธศาสนาหรือพิธีกรรมใดเกิดจากความเชื่อเรื่องผี ดังเช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษของชาวลาวเวียง ที่สะท้อนผ่าน “พิธีเบิกหอบ้าน” ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อแสดงความเคารพสักการะผีบรรพบุรุษ โดยจะทำพิธีหอผีบรรพบุรุษประจำชุมชน เป็นสื่อสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าชาวลาวเวียงในพื้นที่นั้น ๆ สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ชาวลาวเวียงเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนและชาวบ้านที่เดินทางออกไปทำงานนอกชุมชน แต่เดิมนั้นเป็นเพียงพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษโดยเฉพาะแต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ชาวลาวเวียงจึงได้นำเอาพิธีทางศาสนาเข้ามาผสมผสาน โดยมีการนิมนต์พระมาสวดมนต์ในพิธี สะท้อนการผสมผสานระหว่าง ผีและพุทธในคราวเดียวกัน

พิธีเบิกหอบ้านจะจัดขึ้นในเดือนเจ็ดของทุกปี เมื่อกำหนดวันที่จะทำพิธีได้แล้วจะนำพระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น ณ บริเวณลานหน้าหอบ้าน ชาวลาวเวียงจะมาพร้อมกันในบริเวณลานพิธี ที่จัดที่มีการจัดเตรียม โดยมีขันน้ำสำหรับทำน้ำมนต์และฝ้ายมงคลสำหรับเข้าร่วมพิธีด้วย เพื่อรับการสวดให้เกิดความเป็นสิริมงคลและชาวบ้านจะนำไปไว้บริเวณบ้านเรือนของตน ต่อมาในช่วงเช้า ชาวลาวเวียงทุกหลังคาเรือนจำทำกระทงกล้วยสามเหลี่ยมที่เรียกว่า “กระทงหน้าวัว” พร้อมแต่งเครื่องสักการะบูชาเป็นต้นว่า ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม แกงหวาน เมี่ยง หมาก พริกเกลือ ปั้นรูปคนรูปสัตว์ในครัวเรือนของตนใส่ในกระทงนั้นด้วย เพื่อถวายบูชาแก่ท้าวมหาราชทั้งสี่ที่รักษาประจำทิศ เพื่อให้หายทุกข์โศกโรคภัยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ตามความเชื่อของชาวลาวเวียงที่ว่า ท้าวทั้งสี่จะนำความอัปมงคลออกไปจากครัวเรือน ความเชื่อเรื่องผีใจความสำคัญอาจจะไม่อยู่ที่ผีแต่อยู่ที่ “จิตสำนึกของมนุษย์” ก็เป็นได้ ในปัจจุบันยังพบว่า แม้ชาวลาวเวียง ในตำบลดอนคา หันมานับถือศาสนาพุทธ แต่ชาวบ้านในชุมชนก็ยังเชื่อถือเรื่องของโชคลาภ ดวงชะตา ปีชง จึงทำให้มีการทำสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม และเสริมดวงชะตา มีอยู่และนิยมกันในชุมชน โดยจะมีการทำบุญควบครูรวมด้วยซึ่งจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในวัด และในเทศกาลงานบุญ ประเพณีต่าง ๆ

ข้อห้าม ข้อปฏิบัติของชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียง

ข้อคลำคือข้อห้ามในการดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของชาวลาวเวียง ที่สืบทอดจากอดีตจนมาถึงปัจจุบัน เหตุที่ต้องมีข้อห้ามในการใช้ชีวิต เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และเพื่อเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตให้มีความสุขของคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยมีหลักการดำเนินชีวิตตามหลักฮีต 12 คอง 14 โดยฮีต 12 คือประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวบ้านดอนคายังคงปฏิบัติสืบทอดเป็นประจำ เพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนา แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และแสดงออกถึงความสามัคคีของคนในชุมชน คอง 14 คือ ครรลองการปฏิบัติของชาวบ้าน พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนชาติพันธุ์ลาวเวียง

“ธาตุ” ในภาษาของชาวลาวเวียงแปลว่า สถูปหรือเจดีย์ที่ใช้บรรจุอัฐิกระดูกของคนในอดีต หากเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ หรือ พระเถระ จะเรียกว่า “พระธาตุ” ดังนั้น “โนนธาตุ” หรือ “โพนธาตุ” จึงเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นซากโบราณสถานคล้ายฐานเจดีย์ จากข้อสังเกตุหลายประการเชื่อว่า โบราณสถานดังกล่าวน่าจะมีความเก่าแก่และอยู่ในยุคสมัยของทวารวดีที่พุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ โดยเจดีย์ลักษณะดังกล่าวกระจายตัวอยู่ในพื้นที่เขตอำเภออู่ทอง ส่วนพื้นที่บ้านดอนคานั้นปรากฎซากโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์อยู่ด้วยกันสามแห่ง คือ โนนธาตุหนองสองห้อง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของหมู่บ้าน โนนธาตุ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน และหนองตาวงศ์ ที่พบซากฐานโบราณสถาน เศษหม้อดินเผา รวมถึงฐานโยนีที่ปัจจุบันอยู่ที่วัดโภคาราม พื้นที่ดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานของการอยู่อาศัยของคนโบราณก่อนที่ชาวลาวเวียงจะเดินทางเข้ามาตั้งชุมชน

เมื่อชาวลาวเวียงได้เข้ามามีบทบาทและครอบครองพื้นที่บ้านดอนคาในปัจจุบัน จึงเริ่มการสร้างบ้านเรือนและจับจองพื้นที่ทำกิน เมื่อพื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านเริ่มมีเจ้าของจับจองแล้ว ชาวบ้านจึงเริ่มขยายพื้นที่ในการทำเกษตรกรรมออกไปอีกเพราะชาวลาวเวียงเป็นคนที่มีความมานะอดทนสูง จึงทำให้ไปพบกับซากเจดีย์ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ดอน ด้วยความที่ชาวลาวเวียงมีความเชื่อในสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ และความศักดิ์สิทธิ์ของโนนธาตุ ชาวบ้านจึงให้ความเคารพและเหลือพื้นที่ดังกล่าวเอาไว้

ต่อมาเมื่อความศักดิ์สิทธิ์ของโนนธาตุเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวบ้านดอนคา จึงเกิดประเพณีการไหว้
พระธาตุขึ้นที่โนนธาตุ จัดขึ้นในเดือน 4 แต่ประเพณีนี้ก็จัดขึ้นได้ไม่กี่ปีก็มีเหตุให้ต้องหยุดลง และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวส่วนกลางก็ได้พยายามส่งนักโบราณคดีมีสำรวจพื้นที่ถึงสองครั้งเพื่อลงทะเบียนเป็นโบราณสถานและทำการปรับปรุง แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่แสดงออกถึงความไม่พอใจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาพื้นที่ จึงทำให้ต้องยกเลิกการสำรวจไป

ศิลปะ / การแสดง

ลิเกลาว หรือ หมอลำเรื่องต่อกลอน เป็นการรับเอาวัฒนธรรมจากภาคอีสานมาสู่ชุมชนบ้านดอนคา เนื่องจากในอดีตนอกจากการตั้งถิ่นฐานของชาวลาวเวียงบ้านดอนคาแล้ว ยังมีการเข้ามาอาศัยของชาวอีสานที่หนีความแห้งแล้งออกมาหาพื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์และเดินทางมาถึงพื้นที่ชุมชนบ้านดอนคาในปัจจุบัน

ในสมัยของพระครูศุภการโกศล (เงิน สุภวโร, หงษ์เวียงจันทร์) เจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดโภคาราม ท่านมีความชอบในวัฒนธรรมหมอลำของชาวลาว แต่เนื่องด้วยบ้านดอนคาขาดการสืบทอดหมอลำและไม่มีหมอลำในชุมชนของตนเอง จึงนำหมอลำจากภาคอีสานมาทำการแสดงในงานบุญประเพณีที่สำคัญหลายครั้ง รวมถึงหมอลำเรื่องต่อกลอนด้วย ต่อมาท่านจึงได้จัดตั้งคณะลิเกลาวของบ้านดอนคาขึ้นเพื่อทำการแสดงในงานของชุมชน โดยอาจารย์สุนทร ชัยรุ่งเรือง ปราชญ์ด้านหมอลำของภาคอีสานเป็นผู้ถ่ายทอดและฝึกซ้อมให้กับชาวบ้านในขณะนั้น จึงถือเป็นการแสดงลิเกลาวคณะแรกที่เกิดขึ้นในชุมชน

ปัจจุบันด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีความเจริญด้านความบันเทิงเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การละเล่นที่มีความสำคัญในการสร้างความสนุกสนานของคนในอดีตจึงถูกลดความสำคัญลงและหายไปจากชุมชนในที่สุด เหลือเพียงภาพความทรงจำและความสนุกที่เกิดขึ้นในสมัยที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยุคปัจจุบันกำลังเป็นหนุ่มสาว จึงเป็นเพียงเรื่องเล่าที่เล่าในลูกหลานฟังว่าบ้านดอนคาเคยมีลิเกลาวหรือการแสดงหมอลำเรื่องต่อ

ตำนาน

จะเป็นเรื่องของความเชื่อ และประเพณี“งานศพ”สมัยก่อนถ้าเสียชีวิตที่บ้านก็จะจัดงานที่บ้าน แต่ถ้าเสียชีวิตข้างนอกก็จะจัดที่งานวัด เวลาจะเผาศพ ถ้าตรงกับวันพระเพื่อไม่ให้คนในบ้านตายตามก็จะมีการแก้เคล็ด โดยการนำแผ่นหินมาวางตรงจุดที่วางศพ (หลังจากที่เคลื่อนย้ายศพไปวัดแล้ว) จากนั้นก็จะให้เจ้าบ้าน (เจ้าของบ้าน) นอนลงไปที่หิน เพื่อเป็นการบอกกับวิญญาณคนตายว่าไม่มีที่ให้อยู่แล้ว ให้ออกไปจากบ้าน เมื่อเสร็จพิธีศพแล้ว จะทำการนำน้ำมาลาดพื้น เพื่อลบรอยเท้า

สถานที่ตั้ง
อำเภอ อู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
บุคคลอ้างอิง นางสาวทิพย์สุดา อิ่มใจ อีเมล์ spbcul@gmail.com
อีเมล์ spbcul@gmail.com
อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่