กลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ในเขตพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี
ประวัติศาสตร์ของกลุ่มชุมชน ชาติพันธุ์
จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอที่มีชาวลาวครั่งอยู่นั้นอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง อำเภอด่านช้าง
และอำเภอเดิมบางนางบวช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำเภอเดิมบางนางบวช มีชาวลาวครั่งอาศัยอยู่
จำนวน ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าสะแก ตำบลบ่อกรุ และตำบลหนองกระทุ่ม ซึ่งจำนวนประชากรส่วนใหญ่ เกือบ ๘๐% เป็นชาวลาวครั่งที่มีภาษา วัฒนธรรม ประเพณีที่แตกต่างออกไป นอกจากนั้นยังมีผ้าทอที่สวยงามและประณีตที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง ชาวลาวครั่งในเขตอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี อาศัยอยู่ใน ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าสะแก อาศัยอยู่ที่บ้านวัดขวาง บ้านทุ่งก้านเหลืองและบ้านใหม่ไร่อ้อย
จะใช้นามสกุล “ภูฆัง” ส่วนลาวครั่งกว่าร้อยละ ๘๐ ซึ่งอาศัยอยู่ที่ตำบลหนองกระทุ่มและตำบลบ่อกรุ
ส่วนใหญ่ใช้นามสกุล “กาฬภักดี” เอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวลาวครั่งที่สามารถแบ่งแยกได้ทันทีที่พบคือ
ภาษาพูด ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่มีเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสูง ชาวลาวครั่ง มักเรียกตัวเองตามสำเนียงภาษาท้องถิ่นว่า “ลาวขี้คัง” หรือ “ลาวคัง” นอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่
บรรพบุรุษซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ประเพณียกธง ที่ยังยึดถือและสืบต่อปฏิบัติกันมาโดยจัดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี และประเพณีขึ้นศาลจ้าวนาย ชาวลาวครั่งจะมีความผูกพันทางเครือญาติ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุผลที่มีการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์และการธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับประเพณียกธงนั้น เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีและร่วมมือร่วมใจของประชาชนในท้องถิ่น จะมีการทำพิธีในช่วงสงกรานต์ซึ่งแต่ละหมู่บ้านหรือแต่ละตำบล กำหนดวันไม่พร้อมกัน ส่วนมากมักกำหนดวันจัดงานในระหว่างเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ บรรดาบุตรหลานนอกพื้นที่หรือผู้ที่เดินทางไปต่างจังหวัดจะเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดและรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ สำหรับการทำธงซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวลาวครั่งนั้นจะเริ่มดำเนินการโดยการจัดเตรียมคันธง โดยผู้ชายจะการช่วยกันตัดไม้ไผ่ ที่มีความยาว สภาพสวยสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพื่อมาตกแต่งให้สวยงาม ในขณะที่ผู้หญิงนั้นจะต้องจัดเตรียมผ้าทำธงธง โดยการนำผ้าผ้ายซึ่งทอให้มีขนาดกว้าง ๔๕ นิ้วยาว ๕ เมตร มาประดับตกแต่งให้สวยงาม โดยไม่จำกัดแนวความคิดในการตกแต่ง การตกแต่งผ้าธงทำได้โดยการปักลวดลายให้สวยงาม ด้วยผ้าที่มีสีสันสดใสพร้อมทั้งติดภู่ห้อยที่ทำจากฝ้ายทำเป็นลูกตุ้มเล็ก ๆ ถักทอ ร้อยเรียงให้สวยงาม ประดับชายผ้าหรือชายธงเพื่อให้เกิดการถ่วงน้ำหนัก
แล้วนำมาประดับตกแต่งเย็บตรึงติดกับปลายไม้ไผ่หรือลำธง จากนั้นก็นำเข้าแห่ร่วมขบวนเวียนรอบโบสถ์หรือศาลาวัดหรือสถานที่สำคัญในวัด ซึ่งสถานที่แห่ธงนั้นต้องมีพื้นที่กว้างขวาง เนื่องจากจำนวนของคนที่เข้าร่วมแห่มีจำนวนมากและต้นธงหรือคันธงที่ทำจากไม้ไผ่มีความยาวมาก มีการแห่ธงรอบ ๆ สถานที่สำคัญในวัด
จำนวน ๓ รอบเพื่อความเป็นสิริมงคลในระหว่างที่ทำการแห่ธงนั้น ผู้ร่วมขบวนแห่จะมีการฟ้อนรำและมีมโหรีบรรเลงเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองธง เมื่อครบ ๓ รอบแล้วจะนำคันธงเหล่านั้นไปปักลงหลุมต่าง ๆ ที่ขุดเตรียมไว้ให้ ซึ่งในการนำธงลงไปปักไว้ในหลุมนั้นเพื่อความสนุกสนาน และมักจะมีการกลั่นแกล้งจากคณะผู้แห่ธงคันอื่นซึ่งไม่ยอมให้มีการปักธงในลงหลุมที่ได้ขุดเตรียมไว้ เปรียบเสมือนหนึ่งการพบเจออุปสรรคขวากหนามที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้และเมื่อปักธงลงในหลุมได้เรียบร้อยแล้วก็จะมีการเฉลิมฉลองโดยการฟ้อนรำในท่วงท่าต่าง ๆ ซึ่งทุกคนต่างพร้อมใจกันในการเล่นดังกล่าว ผ้าธงที่ติดอยู่บนปลายธงที่ได้รับการตกแต่งให้สวยงามนั้น
เมื่อได้รับแรงลมพัดผ่านจะพลิ้วไหวกวัดแกว่งสวยงามมาก เนื่องจากการมีการตกแต่งถ่วงน้ำหนักด้วยตุ้มที่ทำจากฝ้ายที่เชิงชายผ้าธง
การแต่งกายของชาวลาวครั่ง ในชีวิตประจำวันจะแต่งกายตามปกติ ยกเว้นในการจัดงานประเพณีหรืองานที่มีการรวมกลุ่ม ผู้ชายจะมีผ้าขาวม้าคาดเอวเป็นลายตารางหมากรุก ๕ สี ส่วนผู้หญิงจะมีการแต่งกายด้วยผ้าทอมัดหมี่ ต่อผ้าซิ่นตีนจก ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนตัวผ้าซิ่น นิยมทอด้วยผ้ามัดหมี่ทอแซมสลับกับการ “ทอแบบขิด” เป็นลายทางเล็ก ๆ สีเหลืองหรือสีขาวคั่นระหว่างผ้ามัดหมี่เพื่อแบ่งช่องลวดลายผ้าสำหรับเน้นลวดลาย
ชุมชนพุน้ำร้อนเป็นแหล่งรวมชาติพันธุ์ ไทยกับลาวครั่ง โดยไม่มีลาวอื่น สมัยก่อนจะมีแต่ลาวครั่งล้วน ๆ การอพยพจะแยกออกเป็น ๓ ช่วง ได้แก่
- ช่วงแรกไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ แต่คาดการประมาณต้นกรุงธนบุรี มีการกวาดต้อนลาวออกไปทางตะวันตกเอาไปไว้ที่ ราชบุรี, กาญจนบุรี เพื่อเป็นเมืองหน้าด่านของพม่า เป็นที่ตั้งกรุงธนบุรี
เดิมอพยพมาอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ได้แก่นครปฐม, ดอนตูม หลังจากนั้นก็ได้มีการแตก และอพยพออกไปตามที่
ต่าง ๆ รวมถึงที่จังหวัดสุพรรณบุรี มาอยู่ที่ห้วยน้ำโจรติดกริมห้วยกระเสียว
- ช่วงที่ ๒ ได้อพยพเข้ามาห่างจากพุน้ำร้อนเดิมประมาณ ๒ กิโลเมตร จากนั้นเกิดไฟไหม้หมู่บ้าน (บ้านแตก) ปัจจุบันเป็นป่า เลยแยกย้ายอพยพ และแตกออกไป ๓ จุด คือ ที่พุน้ำร้อนในปัจจุบัน,
เขื่อนกระเสียว, นิคมกระเสียว และทับกระดาน
- ช่วงที่ ๓ มีการเข้ามาของสัมปทานป่าไม้ (ประมาณ ๒๕๑๗ - ๒๕๒๐) ได้มีการอพยพแยกออกไปเพื่อตั้งหมู่บ้านใหม่ ได้แก่ วังยาว, ห้วยเข้, หนองผือ, โป่งแถว
ภายหลังเกิดเหตุการ “เสือดำ” มาปล้นเลยมีการย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านสะบัวก่ำ ในหมู่บ้านเดิมจะมีแต่ชาวลาวครั่ง โดยทุกคนในหมู่บ้านจะใช้นามสกุล “กาฬภักดี” ซึ่งแต่ก่อนชาวลาวครั่งจะไม่มีนามสกุลใช้ กำนันจึงตั้งนามสกุลให้ ปัจจุบันในชุมชนจะมีชาวลาวครั่ง, ไทยถิ่น และไทยจีน ผสมรวมกันอยู่จากการแต่งงาน
พื้นที่ชุมชน | ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ | จำนวนประชากร |
ตำบล บ่อกรุอำเภอเดิมบางนางบวช สุพรรณบุรี | พื้นที่ลาบลุ่ม | 4,780 คน |
บ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี | พื้นที่ลาบลุ่ม | 1,260 คน |
บ้านสระบัวก่ำ ตำบล หนองมะค่าโมง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี | พื้นที่ลาบลุ่ม | 980 คน |
บ้านก้านเหลือง ต.ป่าสะแก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี | พื้นที่ลาบลุ่ม | 650 คน |
ตำบล ดอนคา อำเภออู่ทอง สุพรรณบุรี | พื้นที่ลาบลุ่ม | 1,100 คน |
การประกอบอาชีพของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์
ชาวลาวครั่งประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ร้อยละ ๙๐ โดยเป็นการ ทำสวน, ทำไร่ข้าว (เลื่อนลอย), เลี้ยงวัว, เลี้ยงควาย, เลี้ยงหมู ที่เหลือจะเป็นการ ค้าขาย และรับจ้าง
ในอดีตหลังจากหมดฤดูการทำการเกษตรชาวลาวครั่งจะใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ในการทอผ้าไว้สำหรับใช้เองในบ้านและแลกเปลี่ยนกันในชุมชน แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบันการทอผ้าจึงลดน้อยลง แต่ยังคงมีกลุ่มทอผ้าที่ยังคงวัฒนธรรมการทอผ้าแบบดั้งเดิมเอาไว้
วิถีชีวิต / วัฒนธรรม
วิถีชีวิตยังคงเดิม แต่ปัจจุบันการแต่งกายจะเป็นไปตามยุคสมัย จะมีการใส่ชุดประจำถิ่นเฉพาะงานบุญ งานประเพณีบ้าง เป็นบางส่วน งานประเพณีส่วนใหญ่จะไปรวมตัวกันที่ “วัดขวาง” จะรวมกันเฉพาะชุมชน หรือเฉพาะคนที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ เหมือนเป็นการรวมตัวของญาติ
“วิถีชีวิต”สมัยก่อนชาวลาวครั่งจะใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกัน ในเรื่องของงานบุญ งานประเพณี จะให้ความสนใจกันเป็นพิเศษ ส่วนภาษาก็จะใช้ภาษาลาวเป็นหลัก ภายหลังเริ่มมีการใช้ชีวิตรวมกลุ่มกับคนไทย จึงทำให้การพูดภาษาท้องถิ่นจะทำกันเฉพาะภายในครอบครัว หรือกับกลุ่มชาวลาวด้วยกัน ปัจจุบันการพูดภาษาลาวยังคงมีใช้กันอยู่กับคนรุ่นเก่า แต่กลับคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยพูดกันแล้ว แต่ยังคงสำเนียงท้องถิ่นไว้อยู่ การแต่งการในปัจจุบันจะเป็นการแต่งกายแบบสมัยใหม่ เป็นเสื้อผ้าที่หาซื่อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
แต่จะใส่ “ผ้าถุงตีนจก” ตามงานประเพณีต่าง ๆ เป็นหลัก
“วัฒนธรรม”สมัยก่อนการทอผ้าจะทำไว้ใช้ภายในครัวเรือน หรือทำไว้สำหรับเป็นของรับไหว้
ฝ่ายผู้ชาย โดยจะนำผ้าที่ทอมาทำเป็น หมอน, ผ้าขาวม้า, ผ้าถุง เป็นต้น ปัจจุบันวัฒนธรรมการให้ของไว้ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แต่จะเป็นการให้เฉพาะญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายเท่านั้น ยังมีการใช้ภาษาลาวอยู่บ้างในชุมชนเป็นการคุยกันเกลุ่มในของผู้ใหญ่ ส่วนเด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยพูดลาว สำเนียงเป็นภาษาพื้นถิ่น
ชาวลาวครั่งบ้านพุน้ำร้อน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับการทอผ้า
มาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันมีการรักษาคุณค่าของลวดลายต่าง ๆ จากการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมตกแต่ง
ด้วยการจกลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจากสิ่งของใกล้ตัวที่ใช้ในวิถีชีวิตหรือวัฒนธรรม ความเชื่อ
ของท้องถิ่น
ปัจจุบันผ้าทอของบ้านพุน้ำร้อนมีสัดส่วนที่ถูกต้องตามภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยมีการกำหนดว่า
ลายกว้างเท่าใดสีต้องกว้างเท่านั้น หรือสีกว้างมากกว่า ทาสีเข้มกว่ารายถือว่าทำผิด มาตราส่วน และมีอะไรหลายอย่างที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว
ในสมัยก่อน ชุมชนของชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง ตำบลบ่อกรุ อำเภอเดิมบางนางบวช
จังหวัดสุพรรณบุรี นิยมทอผ้าทั้งผ้าไหมและฝ้าย ย้อมด้วยสีแดง ซึ่งเป็นสีธรรมชาติจากครั่ง แต่ปัจจุบันใช้สีวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ การทอใช้ฝ้ายเป็นเส้นยืนและเส้นไหมเป็นด้ายพุ่ง จะทำให้ผ้าที่ทอได้มีความแข็งแรงไม่เละหรือนิ่มจนเกินไป ลักษณะเด่นของผ้าทอมัดหมี่ในชุมชนจะเป็น หมี่ตา มีขิดเครือแดงคั่นระหว่างลาย
และหมี่น้อย มีมะจับ ๓ ปอยคั่นกลาง
ความรู้ / ภูมิปัญญา
ปัจจุบันยังคงมีการใช้สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อรักษาโรคทั้งภายในชุมชน และชุมชนใกล้เคียง โดยจะมีศูนย์รวมในการจัดยาสมุนไพรอยู่ที่วัดพุน้ำร้อน แต่ก็จะมีหมอยาประจำอยู่ตามชุมชน (จะมีประมาณ ๒-๓ ตะกูล) การหาสมุนไพรจะเป็นการเข้าป่าชุมชน เพื่อไปเก็บสมุนไพรสำหรับการทำยา
“อาหาร” หลักของชาวลาวครั่ง ได้แก่ ขนมจีน (ขนมเส้น) น้ำยาป่า, กินข้าวจ้าวเป็นหลัก, อั่วดอกแคร์, ข้าวโกรก (ข้าวเกรียบเว้า)
ในอดีตจะมี “หมอสู่ขวัญ” ไว้สำหรับผูกข้อไม้ ข้อมือ เพื่อเรียกขวัญให้กลับมา ปัจจุบันการสู่ขวัญ หรือการเรียกขวัญพระจะเป็นคนทำแทน
ประเพณี / เทศกาล
ชาวลาวครั่ง เมื่อถึงงานประเพณีต่าง ๆ จะมีการรวมกลุ่มในชุมชนเพื่อทำบุญ และจัดประเพณีต่าง ๆ
ที่วัดพุน้ำร้อน หรือที่เรียกว่าฮีตสิบสอง คลองสิบสี่(ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธ์ลาว ซึ่งร่วมถึงชาวลาวอีสานที่ปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็น เอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติด ารงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ ได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดีและ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้นฮีตสิบสองจึงหมายถึงประเพณีที่ ชาวลาวในภาคอีสานและประเทศลาวปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี เป็นการ ผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตร เข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา)
หลังงานประเพณี “เข้าพรรษา”, “ออกพรรษา”, “สงกรานต์” จะมีประเพณียกธงวันที่ 16 เมษา เป็นการสิ้นสุดประเพณีสงกรานต์, “สาร์ทลาว” (วันเดียวกับข้าวต้มลูกโยนของทางใต้) จะเป็นการไปตักบาตร ทำบุญปกติ แต่จะมีการตักบาตรกระยาสารทร่วมกัน (เป็นการทำกระยาสารทร่วมกันเฉพาะเครือญาติ), “ทำบุญกลางบ้าน” เป็นการทำบุญให้กับบรรพบุรุษ ในช่วงเดือน พ.ค. จะทำปีละครั้ง โดยการนำต้นกล้วยมาทำเป็นกระบะ 4-6 ช่อง (แล้วแต่บ้าน) ในแต่ละช่องจะมีการใส่ของที่เป็นตัวแทนของคนในบ้าน เช่น “ครอบครัว” ก็จะเป็นการปั้นหุ่นตามจำนวนคนในครอบครัว มีทั้งหุ่นแบบผู้หญิง และผู้ชาย “เครื่องครัว” จะเป็น พริก เกลือ “อาหาร” โดยมีความเชื่อว่าถ้าทำสวยก็จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองให้กับครอบครัว เมื่อไปทำบุญก็จะต้องนำน้ำกับทรายไปด้วย เพื่อไปเข้าพิธี เมื่อพิธีจบลงก็จะนำน้ำ และทรายไปรดบ้าน แล้วนำทรายไปวางไว้กลางหมู่บ้าน “คุ้ม” เพื่อให้บรรพบุรุษรับรู้ว่าลูกหลานได้ทำบุญไปให้แล้ว
ประเพณีแห่น้ำดอกไม้ เมื่อถึงสงกรานต์ชาวลาวจะทำการนำพระพุทธรูปใส่เสลี่ยงตกแต่งด้วยดอกไม้ แห่ไปที่หอเจ้านาย ไปหาญาติ ปู่ย่าตายาย ผู้อาวุโส ตามเครือญาติ เพื่อขอขมา พบปะสังสรรค์ รดน้ำดำหัว เวลาไปจะแห่ยกขบวนกันไป มีการร้องรำทำเพลง ฟ้อนรำ รวมไปถึงการเล่นดนตรี ไปตลอดทาง การแห่จะเป็นการเดินเท้า เมื่อขบวนไปถึงหมู่บ้านไหน หมู่บ้านนั้นก็จะทำการจัดเลี้ยงต้องรับ เวียนไปจนครบหมู่บ้าน แล้วจึงวนกลับมาที่เดิม
“ทำบุญขนมเส้น” หรือขนมจีน เดือน 3 (เป็นงานประจำปี) จะมีการรวมกันทำบุญ ทำขนมจีนในวันทำบุญขนมเส้น และมีการละเล่น ต่างๆ
ประเพณีบุญเดือน 11จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ชาลาวครั่งจะเริ่มทําบุญด้วย การถวายอาหารคาวหวานแก่พระสงฆ์ ในช่วงนี้มีการทอดกฐินสามัคคีของชาวบ้านในชุมชน ช่วง กลางคืนมี “พิธีใต้น้ำมัน" ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ และมีพิธีเทศบุญมหาชาติที่ชาวลาวครั่ง เรียกว่า “การสวดคาถาพัน” หรือ งานบุญผเวส โดยชาวบ้านจะนําข้าวปลาอาหารไปทําบุญตามปกติ และร่วมฟังเทศน์สวดคาถาพันกันเป็นจํานวนมาก นิยมนําข้าวตอกดอกไม้มาวางรวมกันทั้งหมู่บ้าน มีการประดับพื้นที่ภายในบริเวณวัดที่มีการสวดคาถาพันอย่างสวยงาม บริเวณเสาในพิธีจะผูกต้นกล้วย ที่ออกลูก ใช้กิ่งมะขามที่แตกกิ่งก้านสาขาน้อยใหญ่มาผูกมัด เพื่อให้ชาวบ้านได้นํากล้วยทั้งเครือมา ผูกติดเสา ในพิธีจะมีขนม ผลไม้ ต้นอ้อย มะพร้าว ดอกไม้ รวมถึงสิ่งของต่างๆ มาผูกติดกับกิ่งไม้ ล้อมรอบด้วยสายสิญจน์ จัดธรรมมาสเป็นจุด ๆ เพื่อให้พระสงฆ์ได้นั่งสวดคาถาพัน ส่วนด้านนอก พิธีปักธงบริเวณที่มีการสวดคาถาพันทั้ง 4มุม เพื่อแสดงให้เห็นถึงขอบเขตพื้นที่ของบริเวณดังกล่าว มีการประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องหมายแสดงให้บุคคลทั่วไปได้รับรู้ว่า วัดนี้กําลังมีพิธี สวดคาถาพัน ส่วนด้านหน้าทางเข้าศาลาที่มีการสวดคาถาพัน จะปักธงพระเวสโดยใช้ไม้ไผ่เล็ก ๆ ทําเป็นเสาธงส่วนปลายที่มีกิ่งก้านไม้ไผ่ผูกห้อยด้วยธงพระเวส เมื่อเสร็จพิธีสวดคาถาพัน ชาวบ้านจํา ข้าวตอก ดอกไม้ ขนม หรือสิ่งของอื่นๆ ที่นํามาผูกติดกิ่งไม้ในบริเวณพิธีกรรมแบ่งปันกัน เชื่อว่าเป็น สิ่งของที่เป็นสิริมงคล พิธีสวดคาถาพันของลาวครั้งได้ผสมผสานเข้ากับประเพณีของคนไทย แต่ยังคง ได้รับการสืบสานและปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน
พิธีใต้น้ำมัน ชาวลาวครั่งนิยมจัดขึ้น 3วัน คือ กลางคืนของวันขึ้น 14ค่ำ เรียกว่า วันใต้น้ำมันน้อย กลางคืนของวันขึ้น 15ค่ำ เรียกว่า วันใต้น้ำมันใหญ่ และกลางคืนวันแรม 1ค่ำ เรียกว่า วันใต้น้ำมันล้างหางประทีป ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวมีความเชื่อว่าเป็นการจุดประทีปบูชา พระพุทธเจ้ากลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นการต้อนรับพระพุทธเจ้า ส่วนในวันแรม 1ค่ำ มีการนําเรือประทีปไปลอยน้ำ เรียกว่า การไหลเรือไฟ เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทในแม่น้ำที่ ประทับไว้เป็นที่บูชาแก่พระยานาค
พิธีใต้น้ำมัน จําเป็นต้องเตรียมพื้นด้ายดิบขนาดเท่าก้านไม้ขีดให้เป็นเกลียว 3แฉก ยาวประมาณ 1นิ้ว สําหรับจุดไฟ จากนั้นประมาณ 19:00น. พระสงฆ์จะตีกลอง 3ครั้ง ชาวบ้านจะ มารวมตัวกันที่วัด โดยมีขวดน้ำมันมะพร้าวใส่ขวดลิโพและใส่น้ำมัน เมื่อพระสงฆ์นั่งประจําที่แล้ว ผู้นํา ชาวบ้านกล่าวถวายน้ำมัน ต่อจากนั้นพระสงฆ์จึงเริ่มหยอดใต้น้ำมันรอบสถานที่จัดไว้เป็นจุดๆ บริเวณ วัด ต่อจากนั้นชาวบ้านจึงหยอดน้ำมันตามพระสงฆ์จนครบทุกจุด ชาวบ้านบางส่วนสามารถออกมาใส่ ใต้น้ำมันได้ตลอดระยะเวลา 3วัน การประกอบพิธีกรรมจําเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- ซุ้มใต้น้ำมัน
ซุ้มใต้น้ำมัน จะทําจากไม้ไผ่คล้ายเก้าอี้สี่ขา แต่มีความสูงระดับเอว และมีความกว้าง เพียงเล็กน้อยสําหรับวางถ้วยเล็กๆ ใส่น้ำมันมะพร้าว ใช้กาบมะพร้าวประดับเป็นวงโค้งจากซ้ายมาขวา
- ตีนกา
ตีนกาทําจากด้ายหรือฝ่ายขนาดเล็กมาฟันเป็นรูปกากบาท 3 แฉก สําหรับทําเป็น ไส้น้ํามันจุดไฟ โดยให้ปลายด้าย 3 แฉก จุมอยู่ในน้ำมันและอีกเส้นหนึ่งให้สูงพ้นน้ำมัน เพื่อใช้จุดไฟได้ ชาวบ้านนิยมทําตีนกามาจากบ้าน ด้วยความเชื่อจากพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่จะลอยประทีป
เพื่อบูชาแม่กาขาว สอดคล้องกับ วัดพระแก้ว (มปป.) กล่าวว่า มีพญากาเผือก 2ตัวผัวเมียทํารังอยู่ที่ ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำ ต่อมาแม่กาเผือกได้ออกไข่ 5ฟอง วันหนึ่งเมื่อสองกาเผือกออกไปหาอาหาร เกิดฝนตกฟ้าคะนองพายุใหญ่พัดกระหน่ำ ไข่ทั้งหมด ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลกระจายไปคนละทาง แม่กาเผือกเมื่อกลับมาถึงรังไม่เห็นไข่ ก็พยายามตามหาแต่ก็ไม่พบ ด้วยความเศร้าโศกเสียใจ แม่กาเผือก ไม่สามารถระงับความอาลัยได้จึงสิ้นใจตาย ด้วยอานิสงส์แห่งความรักเมตตาลูก จึงได้ไปเกิดอยู่แดน พรหมโลกชั้นสุธาวาส ชื่อท้าวมติกามหาพรหม ส่วนไข่แต่ละฟองก็มีผู้นําไปฝึกเลี้ยง ในเวลาต่อมา ไข่ทั้ง 5ฟองแตกออกมาประสูติเป็นพระโพธิสัตว์ในร่างมนุษย์ มีรูปร่างสวยสดงดงาม ทั้ง 5พระองค์ ครั้งพอโตเป็นชายหนุ่ม พระโพธิสัตว์ทั้งห้าต่างออกบวชเป็นฤาษีบําเพ็ญบารมีอยู่ในป่า อยู่มาวันหนึ่ง ได้เหาะไปหาอาหารผลไม้และบําเพ็ญเพียรธรรมที่ป่าดอยสิงคุตตระปิฏฐา ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลบารมี ทั้ง 5ฤาษีได้มาพบกัน จึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน จึงได้รู้แต่ว่า แต่ละคนมีแต่แม่เลี้ยง แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จึงได้ร่วมกันตั้งสัจจะอธิฐาน ขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง ด้วย อํานาจธรรมอันบริสุทธิ์ของฤาษีทั้ง 5คําอธิษฐานจึงดังก้องไปถึงพรหมโลก ท้าวฆติกามหาพรหม (แม่กาเผือก) จึงจําแลงเป็นแม่กาเผือกลงมาปรากฏต่อหน้าฤาษีทั้ง 5จากนั้นฤาษีทั้ง 5ก็รู้ด้วยญาณ ทัศนะว่า นี่แหละเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง ด้วยความสํานึกในบุญคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก ก่อนจากกัน ฤาษีทั้ง 5จึงกราบขอรอยเท้าของแม่กาเผือกเอาไว้บูชา แม่กาเผือกจึงนําเอาฝ้ายมาฟัน เป็นรูปตีนกาให้ไว้ใช้เป็นไม้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระ จึงเป็นที่มาของประเพณีจุดประทีปโคมไฟ ต่อมาฤาษีทั้ง 5ได้บําเพ็ญบารมีจนเสวยชาติลงมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5พระองค์ ตามลําดับ คือ
องค์ที่ 1มีพระนามว่า พระกกุสันโธ ตามนามแม่เลี้ยงที่เป็น
องค์ที่ 2มีพระนามว่า พระโกนาคมโน ตามนามแม่เลี้ยงเป็น นาค
องค์ที่ 3มีพระนามว่า พระกัสสโป ตามนามแม่ เลี้ยงเป็นเต่า
องค์ที่ 4มีพระนามว่า พระโคตโม(องค์ปัจจุบัน) ตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค
องค์ที่ 5มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรยโย ตามนามแม่เลี้ยงที่ เป็น ราชสีห์
(พระศรีอริยเมตไตรยโย เป็นพระพุทธเจ้าที่จะทรงอุบัติในอนาคต)
- เชื้อเพลิง หรือน้ำมันมะพร้าว
เชื้อเพลิงสําหรับหยอดลงในประทีป ชาวบ้านนิยมนํามะพร้าวมาเคี้ยวให้ตกเป็น น้ำมัน แล้วนําใส่ขวดขนาดเล็ก มาเทใส่ถ้วยหรือพานเล็กๆ จํานวน 5ถ้วย วางบนไม้ซุ้มใต้น้ำมัน สําหรับให้ผู้มาใต้น้ำมันใช้ตีนกาจุ่มลงในถ้วยน้ำมัน แล้วใช้ไฟจุดเพื่อบูชาประทีป นอกจากนั้นช่วงออกพรรษาเป็นงานบุญที่ชาวบ้านร่วมอนุโมทนาด้วยการจัดกฐิน เพื่อหาปัจจัยบํารุงวัดด้วย
สําหรับชาวลาวครั่ง บ้านโคก ประเพณีทําบุญเดือน11 ออกพรรษาไม่มีการจัด งานใดๆ ส่วนใหญ่เป็นเพียงการทอดกฐินที่วัดหนองตาสาม ดังเช่นธรรมเนียมของชาวพุทธศาสนา ทั่วไป
ศาสนา
นับถือศาสนาพุทธ, นับถือผีบรรพบุรุษ มีการไปบนที่วัด (มีโบสถ์เก่า ศักดิ์สิทธิ์)
ศิลปะ / การแสดง
ศิลปะการแสดงของลาวครั่ง ได้แก่ หมอรำกลอน (ไม่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักอักษร อาศัยการจำ ปัจจุบันใกล้หายไปแล้ว), หมอแคน, หมอพิณ (ลาว), การละเล่นต่าง ๆ ตามงานบุญ, ศิลปะการทอผ้า การวางสี และลาย จะขึ้นอยู่กับค่านิยมในการใช้ เช่น สีแดงก็ต้องเป็นแดงแบบเลือดหมู เป็นแดงออกคล่ำ
เสื้อของพุน้ำร้อนจะเรียกว่า “เสื้อเกาะ” จะเป็นการเกาะลายที่เสื้อ แล้วใช้ลูกกำปัดร้อย และแทรกไปตามรายละเอียดต่าง ๆ (สมัยก่อน ประมาณ ๗๐ - ๘๐ ปี การจะไปหาซื่อลูกกำปัดจะต้องเดินไปใช้เวลาประมาณ ๒ วัน ไปทางทิศตะวันออก โดยการเอาของป่าไปแลก เช่น ตะกวด หรือแย้ นำมาทำเป็นเนื้อเค็ม), เครื่องประดับเงินต่าง ๆ จะบ่งบอกถึงฐานะความเป็นอยู่
ตำนาน
๑. ชื่อหมู่บ้านพุน้ำร้อน มีที่มากเนื่องจากในพื้นที่มีบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการหมักหมม
ของแร่ธาตุ และก๊าซใต้ดิน จนเกิดเป็นตาน้ำร้อนผุดขึ้นมาจากพื้นดิน เป็นบ่อ มีความอุดมสมบูรณ์ ปัจจุบัน
บ่อน้ำพุร้อนไม่มีอยู่แล้ว เกิดจากการไปเจาะทำบ่อบาดาล จึงทำให้น้ำไม่สามารถผุดขึ้นมาบนพื้นดินได้
๒. “ตำนานเขาเรือ” มีลักษณะเป็นหินมีลักษณะคล้ายกับเรือ มีอยู่ ๓ จุด ซึ่งในแต่ละจุดก็จะมีขนาด และสีที่แตกต่างกัน ในปัจจุบันหินที่เป็นเรือเหลืออยู่แค่ ๒ จุด หินก้อนแรกเป็นสีปูแห้ง (สีแดง) มีความกว้าง ๒ ศอก ความยาว ๘ ศอก โดยประมาณ เมื่อราว ๖๐ - ๗๐ ปีก่อน มีพระรูปหนึ่งกับชาวบ้านผู้ติดตามอีก ๒ คน เดินทางมาจากทางเหนือเพื่อมาหาหินที่มีลักษณะเหมือนเรือตามลายแทง จึงได้สอบถามกับชาวบ้านในหมู่บ้านพุน้ำร้อนว่าเคยเห็นหินที่มีลักษณะเหมือนเรือตามที่ลายแทงบอกไว้ไหม ชาวบ้านทุกคนต่างก็รู้จัก และคุ้นเคยกับหินก้อนนี้เป็นอย่างดี ซึ่งหินก้อนนี้จะอยู่กลางทุ่งชาวบ้านที่ไปเลี้ยงสัตว์จะใช้เป็นที่หลบแดด หลบฝนกัน
พระและผู้ติดตามจึงได้ขอให้ชาวบ้านพาไปดูหินสีปูนแห้งที่ว่านี้ แต่ชาวบ้านกลับไม่ยอมบอกว่าหินอยู่ที่ไหน พระ และผู้ติดตามมาอยู่ที่บ้านพุน้ำร้อนได้ ๓-๔ วัน จนสุดท้ายพระก็ได้ไปคุยกับชาวบ้านคนหนึ่งว่าถ้าพาไปเจอหินที่ว่านี้ก็จะแบ่งส่วนแบ่งให้ ชาวบ้านก็เลยตกลงจะพาไปดู ออกเดินทางตั้งแต่ยังไม่สว่าง พากันไปเกือบสิบกว่าคน ไปถึงทุ่งเลี้ยงสัตว์ก็เกือบ ๘ โมงกว่า (สองโมงกว่า) เมื่อไปถึงปรากฏว่าไม่มีหินสีปูนแดงที่ว่าอยู่ตรงนี้แล้ว หายังไงก็หาไม่เจอ ใช้เวลาหาจน ๑๑ โมง (เวลาเพล) ชาวบ้านที่พาไปต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าหินสีปูนแดงที่ว่านี้มันตั้งอยู่ตรงนี้จริง ๆ จนในที่สุดชาวบ้านคนหนึ่งได้บอกกับพระว่ายังมีหินอีกก้อนนะที่เป็นรูปเรือ จึงได้พาพระ และผู้ติดตามออกเดินทางกว่าจะไปถึงก็ประมาณบ่ายกว่าๆ เมื่อไปถึงก็พบว่ามีหินที่มีลักษณะเหมือนเรืออยู่จริง ๆ แต่หินก้อนนี้มีสีดำ โดยมีความกว้างอยู่ที่ประมาณ ๔-๕ ศอก ความยาว ๓ ว่ากว่าๆ อีกทั้งยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าหินสีปูนแห้ง เมื่อไปถึงพระก็ได้ขึ้นไปที่หิน และเดินไปตรงจุดที่เหมือนกับหัวเรือ จากนั้นก็ได้ทำพิธีท่องคาถา แล้วใช้หวายฟาดลงไปที่หินตรงส่วนที่เหมือนหัวเรือ ๑ ครั้ง หินตรงส่วนที่เหมือนหัวเรือได้แตกออก จากนั้นฟ้าทั้งร้อง และผ่าอย่าเสียงดัง ไม่นานก็มีฝนตกลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตาจนน้ำท่วมภูเขา ทั้งพระ และผู้คนที่ไปต่างพากันว่ายน้ำหนีตายจนมาถึงท้ายหมู่บ้าน จากนั้นก็ได้มีชาวบ้านที่เลี้ยงวัวมาเจอก็ทักขึ้นมาว่า “ทำอะไรกัน” พอสิ้นเสียงชาวบ้านเลี้ยงวัว กลุ่มคนที่ขึ้นไปบนเขาก็ต่างพากันได้สติ แล้วรู้สึกตัวว่าตัวเองนอนอยู่ที่พื้นดิน