เพชรสังฆาต
เพชรสังฆาตเป็นสมุนไพรไทยที่มีรายงานว่าสามารถใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก ในอดีตการใช้เพชรสังฆาตรักษาริดสีดวงทวารหนักจะทำโดยนำเถาสดใส่กล้วยหรือมะขามแล้วกลืนเนื่องจากเพชรสังฆาตมีแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) การกลืนเถาสดอาจเกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารได้ นอกจากจะช่วยให้ริดสีดวงบรรเทาและหายได้ง่าย ๆ แล้ว ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ จึงช่วยลดโอกาสที่จะเกิดอาการท้องผูกได้ มีสรรพคุณทางยา รักษาโรคกระดูกบาง ข้อเข่าเสื่อม เสริมสร้างคอลลาเจน ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับอาหารไม่ย่อย ช่วยขับลมในลำไส้ แก้อาการจุดเสียดแน่น และท้องอืดท้องเฟ้อ ต่อมาได้มีการนำเพชรสังฆาตมาผลิตให้อยู่ในรูปแบบแคปซูลเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารยา
ตระกูลVITACEAE
ชื่อสามัญ-
ชื่อวิทยาศาสตร์Cissus quadrangularisL.
ชื่อท้องถิ่นสันชะฆาต ขันข้อ(ราชบุรี) สามร้อยต่อ (ประจวบคีรีขันธ์)
สันชะควด (กรุงเทพฯ)
ลักษณะทั่วไป
ไม้เถาเลื้อยเปลือกเถาเรียบ เถาอ่อนรูปสี่เหลี่ยมเป็นครีบ เป็นข้อๆต่อกัน เห็นข้อปล้องชัดเจน ลักษณะเป็นปล้องๆ ตรงข้อเล็กรัดตัวลง แต่ละข้อยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร บางข้ออาจมีรากออกมาด้วย มีมือเกาะออกตรงข้อต่อตรงข้ามกับใบ ตามข้อมียางขาว
ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกตามข้อต้น ข้อละ 1 ใบ กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร ใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ กลมหนา เล็ก ผิวเรียบ ปลายใบมน โคนใบเว้า หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ขอบใบหยักมนห่างๆหรือหยักเว้า 3-5 หยัก เนื้อใบนิ่ม ก้านใบยาว 2-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ออกตามข้อต้นตรงข้ามกับใบ
ดอกกลมเล็กสีแดงเขียวเป็นช่อขนาดเล็ก ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ดอกย่อยสีเขียวอ่อน มีขนาด 2.5 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 4 กลีบ โคนกลีบดอกด้านนอกมีสีแดง ส่วนกลีบดอกด้านในสีเขียวอ่อน เมื่อบานเต็มที่ดอกจะงองุ้มไปทางด้านล่าง เกสรตัวผู้มี 4 อันวางตรงกับกลีบดอก
ผลสด รูปทรงกลม ผิวเรียบเป็นมัน ฉ่ำน้ำ ผลกลมขนาด 4-7 มิลลิเมตร ผลอ่อนสีเขียว พอสุกเป็นสีแดงหรือดำ
เมล็ดกลมสีน้ำตาลมี 1 เมล็ด ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป
ส่วนที่ใช้ลำต้น (เถา), ผลสด
ส่วนประกอบทางเคมี
เพชรสังฆาตมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เช่น เควอซิทิน (quercetin) สารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (carotenoids) วิตามินซี (Vitamin C) สารกลุ่ม 3-คีโทสเตียรอยด์ (3-ketosteroids) สารกลุ่มไทรเทอร์พีนอยด์ (triterpenoids) สารกลุ่มแทนนิน (Tannins) และแคลเซียมออกซาเลท (Calcium oxalate)
คุณประโยชน์ของเพชรสังฆาต
ใช้เป็นยารักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยแคปซูลเพชรสังฆาตสามารถใช้ทดแทนยาดาฟลอนในการรักษาโรคริดสีดวงทวารได้เป็นอย่างดีหมอยาพื้นบ้านใช้สมุนไพรเพชรสังฆาตในการรักษากระดูกหัก จึงมีชื่อเรียกบ่งบอกสรรพคุณดังกล่าวหลายชื่อ เช่น ร้อยข้อ ขันข้อ ต่อกระดูกใช้ยาเพชรสังฆาตมีประสิทธิภาพในการลดการเกิดเลือดออก ลดอาการปวดและลดการเกิดหลอดเลือดขอดที่ยื่นออกมาได้ไม่แตกต่างกับยาแผนปัจจุบัน และสามารถลดอาการปวด อักเสบและขนาดของหลอดเลือดขอดได้ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของหลอดเลือดดำ (venotonic) ทำให้หลอดเลือดไม่เปราะแตกง่ายใช้เถาเพชรสังฆาตคั้นเอาน้ำามาดื่มแก้โรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟันได้ใช้ลดน้ำหนักได้ เนื่องจากมีเส้นใย ทำให้ลดเนื้อที่ของกระเพาะอาหาร ทำให้อิ่มเร็วขึ้น และมีผลยับยั้งเอนไซม์ทีย่อยแป้ง น้ำตาล และไขมัน (alpha amylase, glucosidase and lipase) ทำให้ลดการดูดซึมพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน และยังมีผลเพิ่มระดับซีโรโทนิน ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม
การขยายพันธุ์เพชรสังฆาต
เพชรสังฆาตนิยมขยายพันธุ์โดยวิธีปักชำ โดยมีวิธีการคือ คัดเลือกเถาที่มีลักษณะเหมาะสม คือเถาที่มีลักษณะกึ่งแก่กึ่งอ่อน นำมาตัดเป็นท่อนให้แต่ละท่อนมีข้อติดอยู่จำนวน 2 ข้อ แล้วทำการปักชำท่อนพันธุ์โดยใช้ข้อทางด้านโคนของเถาฝังลงดิน แล้วกลบให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม และควรจัดวางถุงกำล้าไม้ที่ปักชำไว้ในที่ร่ม ในส่วนของข้อที่เหลืออยู่ด้านบนจะเป็นบริเวณที่แตกใบใหม่ เพื่อเจริญเป็นเถาต่อไป
การแปรรูปเพชรสังฆาตเบื้องต้น
ตัดเถาเพชรสังฆาต เหลือโคนไว้ แล้วตัดเถาเหลือเป็นท่อนๆ นำมาหั่นให้ละเอียด แล้วน้ำไปตากแดดทันทีประมาณ 4-5 วัน จนแห้ง แล้วนำไปอบอีกครั้งจนแห้งสนิท แล้วนำเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์ เก็บในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อจำหน่าย หรือบรรจุแคปซูล หรืออัดเม็ดต่อไป
เอกสารอ้างอิง
กาญจนา จันทร์สิงห์. (2563). เพชรสังฆาต. ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก, สำนักวิทยบริการ และเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว. (ม.ป.ป.). การใช้ยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาล. ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้าน การแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
วิระพล ภิมาลย์, วนิดา ไทรชมภู, บรรลือ สังข์ทอง และกฤษณี สระมุณี. (2014). การทบทวนวรรณกรรม อย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมานประสิทธิภาพในการรักษาริดสีดวงทวารหนักของ เพชรสังฆาต. วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปีที่ 10: 3, 403-418.
http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=61
http://lib1.dss.go.th/newbsti3/index.php/en/search-form/1416-2020-01-10-06-50-53
http://km.fsh.mi.th/wp-content/uploads/2014/11/005.pdf
https://abdul.dtam.moph.go.th/thaiherbs/herb_pdf/0079.pdf