สาระสำคัญ
ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
หอพระสิหิงค์เมืองนครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ประดิษฐานพระสิหิงค์ตั้งอยู่ในบริเวณจวนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเดิม ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยแต่แรกนั้นหอพระสิหิงค์มีฐานะเป็นหอพระสำหรับจวนเจ้าเมือง แต่แรกเริ่มมีสภาพอย่างไรไม่ปรากฏแน่ชัด
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้อธิบายสภาพของหอพระสิหิงค์ ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ไว้ในหนังสือชีวิวัฒน์ความตอนหนึ่งว่า
“…..ถัดโรงพิธีไปข้างมุมบ้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพระสยิง เป็นตึกมุงกระเบื้อง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา ๓ ห้อง เฉลียงรอบชื่อ ๘ ศอก องค์พระสยิงนั้นประดิษฐานอยู่ในตู้ไม้เป็นพระทองประสมหน้าตัก ๑๖ นิ้ว ขัดสมาธิเพชร และมีพระจำลองพระสยิงเล็ก ๆ ๒ องค์ หน้าตักประมาณ ๑๐ นิ้ว ๑๒ นิ้ว และมีพระทองเหลืองโบราณนั่งขัดสมาธิเพชรอีก ๒ องค์ หน้าตักประมาณ ๑๒ นิ้ว ๑๔ นิ้ว หลังตู้พระสยิงนั้น มีพระทรงเครื่องยืนปางห้ามสมุทรหุ้มทองคำประดับพลอยเครื่องทองลงยาเป็นพระเท่าตัวสำหรับเจ้าพระยานครเฒ่าและมีพระพุทธรูปยืนหุ้มทอง ๑ องค์ หุ้มเงิน ๑ องค์อยู่สองข้าง พระทรงเครื่องนั้นเป็นของเจ้าพระยานครเฒ่าสร้างไว้ ที่หน้าตู้พระสยิงมีพระพุทธรูปยืนปิดทอง ๒ องค์ เป็นพระเท่าตัวพระยานคร(กลาง)กับภรรยา และมีพระยืนเท่าตัวของพี่น้องญาติวงศ์อีก ๕ องค์ และมีพระเงินนั่ง มีฉัตรเล็ก ๆ หน้าตักประมาณ ๕ นิ้วตั้งอยู่บนม้า ๔ เหลี่ยมอีก ๔๐ องค์ทำนองเหมือนพระชนน์พรรษา แต่ถามไม่ได้ความ ที่มุมโบสถ์หลังพระสยิงมีพระนั่งเป็นศิลาขาว ๒ องค์ใหญ่ ๑ เล็ก ๑ และมีตู้ไม้ใส่เทวรูปนารายณ์ทองเหลืองรูปประมาณคืบเศษ สำหรับอัญเชิญไปทำพิธีไสยศาสตร์ต่าง ๆ ที่เทวสถาน
ข้างหลังหอพระสยิงมีเรือนมุงจากหลัง ๑ สำหรับพวกข้าพระอีกหลัง ๑ มีเฉลียงรอบ....”
พ.ศ. ๒๔๔๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เสด็จตรวจราชการแหลงมลายูได้ทรงนมัสการพระพุทธสิหิงค์ ณ เมืองนครศรีธรรมราช ดังปรากฏความตอนหนึ่งว่า
“…(จันทร์ ๒๓ มิ.ย.๑๒๑) เวลาเช้า ๕.๓๐ ขึ้นรถไปวัดพระมหาธาตุ ทำแผนที่ตลอดวันจนบ่าย ๕.๕๐ กลับขี่ม้าไปประตูใต้เลี้ยวถนนริมกำแพงข้างขวามือ เลียบกำแพงมาถึงตรอกสวนปาน เข้าตรอกมาออกถนนประตูไชย แวะหอพระสิหิงค์ขึ้นดูและบูชา พระสิหิงค์นั้นหน้าตักสัก ๒๐ นิ้ว รูปทีสดุ้งมาร แต่หน้าแช่มชื่น ดวงกลมทีเดียว ขัดสมาธิเพชร นับเปนพระงามได้องค์หนึ่ง เขาจึงมีชื่อไว้ เนื่อทองเหลืองไม่ได้ปิดทอง ฐานคนไม่เปนทำ แต่ได้ค้นพบฐานเก่าทิ้งอยู่ข้างหลังหอ มีบัวบนสิงห์งามดี มีหลอดหลักเพดาน ๔ มุม เพราะนั่นเองซึ่งไม่เข้าอย่างที่นิยมกันว่าดีในภายหลัง จึงทิ้งเสียทำฐานใหม่อย่างพระบ้านหล่อปักฉัตรปรุ แลในหอนี้ มีพระเท่าตัวยืนหลายองค์ ถามพรยานครจำหน่ายไม่ตก บอกได้แต่ว่าองค์ทรงเครื่องของเจ้าคุณปู่ องค์หุ้มเงินกับองค์อุ้มทองว่าเปนพระกัลปนา มีอาการอุ้มบาตร คำที่บอกดูไม่เข้าการ แต่ไล่เลียงต่อไปก็ไม่ได้ความ ของกระจุกกระจิกมีในนี้หลายอย่างเปนต้น บาตรถมแลเทวรูปต่างๆดีๆทั้งนั้น ดูแล้วกลับบ้าน ถึงเวลาย่ำค่ำ ๔๐ นาทีไปเที่ยวเดินเข้าไปในเมือง...”
ในจดหมายเหตุครั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้กล่าวถึงหอพระสิหิงค์ตอนหนึ่ง ความว่า
“…ศาลากลางนั้นอยู่ย่านกลางเมือง ฟากถนนตะวันตกเป็นตึกใหญ่สองชั้น หลังคามุงกระเบื้อง มีมุขด้านหน้า ๓ มุข ข้างศากลางเป็นหอพระพุทธสิหิงค์ มีช่อฟ้าใบระกา หลังคากระเบื้องสี เป็นหอเก่าหลังหนึ่ง หอสร้างขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง มีลานใหญ่เป็นสนามในบริเวณศาลากลางนี้เดิมเป็นบ้านเจ้านครเก่า...”
ประวัติการอนุรักษ์
พ.ศ. ๒๔๕๗นำเงินจากมรดกกองกลางของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) มาเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างหอพระสิหิงค์หลังใหม่
พ.ศ. ๒๕๑๔หน่วยศิลปากรที่ ๘ ขอรับโอนหอพระสิหิงค์จากแผนกศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๕๒๒ซ่อมแซมเพดาน และนำพระสิหิงค์จำลองหน้าตัก ๙ นิ้ว ๑ องค์ มาตั้งสำหรับให้ประชาชนปิดทอง
พ.ศ. ๒๕๒๓ซ่อมกระเบื้องมุงหลังคา และบูรณะฝ่าเพดาน โดยเงินบริจาคของคุณหญิงเสนีณรงค์ฤทธิ์ (โพยม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา)
พ.ศ. ๒๕๒๔สร้างรั้วสูง ๑.๑๕ เมตร ทั้ง ๔ ด้าน งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๕๒๕บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๒๘ซ่อมแซมและปรับปรุงประตูหอพระสิหิงค์ ด้วยเงินบริจาคของนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง
พ.ศ. ๒๕๓๒บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๓๔ดำเนินการทำรั้วประตูเหล็ก และซ่อมแซมรั้วที่ชำรุด
พ.ศ. ๒๕๓๙บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
พ.ศ. ๒๕๔๖บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยเงินบริจาคของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
พ.ศ. ๒๕๕๔บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
อัตลักษณ์ (ที่โดดเด่น)
พระสิหิงค์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช
พุทธลักษณะ
พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร เนื้อโลหะสำริด ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๒ เซนติเมตร องค์สูง ๔๑.๕ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๖๔.๕ เซนติเมตร ส่วนฐาน (ถอดแยกออกได้) มีขนาดสูง ๒๓ เซนติเมตร ทำด้วยโลหะสำริด ลักษณะเป็นฐานบัวประกอบชุดฐานสิงห์ย่อมุมกลางฐานด้านหน้ามีผ้าทิพย์ห้อยลงมา ด้านหลังฐานมีห่วงสำหรับเสียบประกอบฉัตรหักทองขวางฉลุลายโลหะปิดทอง ๕ ชั้น สูง ๑๒๙ เซนติเมตร
พระอัฐิและอัฐิ
ด้านหลังหอพระสิหิงค์นั้นใช้เป็นที่ไว้พระโกศและโกศของต้นตระกูล ณ นคร ต่อมาเกิดเหตุโจรกรรมขึ้นจึงได้นำพระโกศและโกศไปรักษาไว้ในหีบกำปั่นเซฟล่ามโซ่ใส่กุญแจ
ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ได้มีหนังสือขออนุญาตรองผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมศิลปากร เพื่อสร้างพระปรางค์ ๓ องค์ ทำด้วยปูนซีเมนต์ชิดกับฝากั้น สำหรับบรรจุอัฐิของวงศ์ตระกูลขึ้นแทนที่จะบรรจุไว้ในโกศ โดยมีการบรรจุพระอัฐิและอัฐิ ดังนี้
พระปรางค์องค์กลาง บรรจุพระอัฐิ ดังนี้
๑.เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ในรัชกาลที่ ๑
๒.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์
๓.เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
๔.พระเจ้าราชวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงปัทมราช
๕.เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
๖.พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์
พระปรางค์ด้านทิศเหนือ บรรจุพระอัฐิและอัฐิ ดังนี้
๑.เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวางเมือง นครศรีธรรมราช เป็นต้นสกุล ณ นคร
๒.คุณชี พี่สาวเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)
๓.เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย)
๔.ท่านผู้หญิงอินศรีธรรมาโศกราช
๕.เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)
๖.ท่านผู้หญิงหม่อมราชวงศ์หญิง นครศรีธรรมราช
พระปรางค์ด้านทิศใต้ บรรจุพระอัฐิและอัฐิ ดังนี้
๑.เจ้าพระยามหาศิริธรรม(น้อยใหญ่) เป็นต้นสกุล โกมารกุล ณ นคร
๒.พระยาเสน่หามนตรี (น้อยเอียด) เป็นต้นสกุล จาตุรงคกุล
๓.เจ้าพระยาสุธรรมมนงตรี (พร้อม)
๔.พระยาบริรักษ์ภูเบศร์ (เอี่ยม)
๕.พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด)
๖.เจ้าจอมอิ่มรัชกาลที่ ๔
๗.เจ้าจอมสว่างรัชกาลที่ ๕
๘.ท่านกลาง ณ นคร
พื้นที่ระหว่างปรางค์ด้านทิศเหนือกับปรางค์องค์กลาง บรรจุอัฐิ ดังนี้
๑.พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัชกาลที่ ๖ และ รัชกาลที่ ๗
พื้นที่ระหว่างปรางค์ด้านทิศใต้กับปรางค์องค์กลาง บรรจุอัฐิ ดังนี้
๑.พระยานครกุลเชษฐ์มเหศวรภักดี (เอียด ณ นคร)
ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน หอพระสิหิงค์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๓ หน้า ๑๕๓๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙
ผู้ดูแลรักษา
ผู้ดูแลรักษาในอดีต
ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ ๒ ระบุว่าให้มีตำแหน่งทางราชการสำหรับหอพระสิหิงค์ ๑ ตำแหน่ง ถือศักดินา ๔๐๐ คือ หมื่นพุทธบาล นายหมวดคุมข้าพระสิหิงค์
ผู้ดูแลรักษาในปัจจุบัน
ปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดูแลรักษาหอพระสิหิงค์ โดยจัดให้มีพนักงานประจำหอพระสิหิงค์ ๑ ตำแหน่ง
เวลา เปิด – ปิด:หอพระสิหิงค์เปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ทุกวัน เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๖.๓๐ น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์
สอบถามข้อมูล:สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โทรศัพท์ / โทรสาร ๐-๗๕๓๕-๖๔๕๘