สาระสำคัญ
ความเป็นมา (ภูมิหลัง/ความเชื่อ)
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่กว่าเมืองใด ๆ ในภาคใต้ ในฐานะที่เป็นเมืองเจ้าพระยามหานคร มีเมืองใหญ่น้อยขึ้นอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราช มีประวัติเมืองที่น่าศึกษายิ่ง
ยุคสมัยเมืองตามพรลิงค์ เป็นอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาลทางภาคใต้ของดินแดนแหลมทอง นับแต่ชุมพรจรดแหลมมลายู และมีนครศรีธรรมราช เป็นศูนย์กลางการปกครอง
ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุนรามคำแหงทรงตระหนักดีว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งวัฒนธรรมและศิลปกรรมทั้งปวงถึงกับทรงเชื้อเชิญนักปราชญ์ราชบัณฑิตและพระสงฆ์ผู้ทรงศีลาธิคุณไปช่วยราชการในกรุงสุโขทัย ดังปรากฏในศิลาจารึกว่า “พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสัฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรหลวงกว่าปู่ครูทั้งหลายในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา”
ยุคกรุงศรีอยุธยา นครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา เป็นเมือง “พระยามหานคร” ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เปลี่ยนฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก (พ.ศ.๑๙๙๘) ให้เจ้าเมืองได้บรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาศรีธรรมราช” ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก นครศรีธรรมราชตั้งตนเป็นใหญ่ ตั้งชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช มีพระปลัดหนูเป็นเจ้าชุมนุม
ยุคกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงกู้อิสรภาพ และปราบชุมนุมเจ้านครได้ภายหลังได้ยกฐานะเป็นเมือง “ประเทศราช” โปรดฯให้เจ้านคร(หนู) ครองนครศรีธรรมราชต่อมา มีนามในพระสุพรรณบัฏว่า “พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้าศรีธรรมราช เจ้าขัณฑสีมา”
ยุครัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอก ทรงถอดยศพระเจ้านครศรีธรรมราช(หนู) เป็น “เจ้าพระยานครศรีธรรมราช” และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอุปราชพัฒน์ เป็น “เจ้าพระยานครศรีธรรมราช” บริหารราชการสืบต่อมา
สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) ผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) บริหารราชการสืบต่อมา อนึ่งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ว่ากันว่า เป็นโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พระราชทานให้อุปราชพัฒน์
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เป็นผู้ที่มีความสามารถหลายด้านทั้งด้านการทหาร การปกครอง การทูต การค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต่อเรือ เป็นกำลังสำคัญในกรปกครองหัวเมืองด้านใต้ของพระราชอาณาเขต เป็นผู้ที่กว้างขวางในหมู่ชาวต่างประเทศ นับเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองเป็นอันมาก สร้างเกียรติประวัติอันสูงส่งแก่จังหวัดนครศรีธรรมราช ควรแก่การเผยแพร่เกียรติคุณนี้ให้ปรากฏสืบไป
จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงได้จัดสร้างอุทยานประวัติศาสตร์เจ้าพระยานคร(น้อย)แห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และแสดงความกตัญญูของอนุชนรุ่นหลังในโอกาสต่าง ๆ สืบไป
ชาติกำเนิดและการสืบสายตระกูล
เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เกิดวันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก อัฐศก จุลศักราช ๑๑๓๘ ตรงกับวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๓๑๙ ในสมัยกรุงธนบุรี มีเจ้าจอมปราง ธิดาของ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (หนู) ซึ่งได้รับการถวายเป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้พระราชทานแก่ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ในขณะที่เจ้าจอมปราง กำลังตั้งครรภ์อ่าน เป็นมารดาและมีเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ผู้โอบอุ้มเลี้ยงเยี่ยงบิดา ราชวงศ์ธนบุรี นับเป็นขัตติยราชในสายพระโลหิตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเจ้าจอมปราง ภริยาชื่อ ท่านผู้หญิงอิน ธิดาของพระยาพินาศอัคคี ตระกูลฝ่ายราชนิกุล ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และ ราชนิกุล ณ บางช้าง มับุตรธิดา กับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ๖ คน คือ
๑. เจ้าจอมมารดาใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
๒. เจ้าจอมน้อยเล็ก ในรัชกาลที่ ๓
๓. เจ้าพระยามหาศิริธรรม ชื่อ น้อยใหญ่ หรือ เมือง ร.๔ โปรดฯ ให้เป็นผู้รักษากรุงศรีอยุธยา
๔. เจ้าพระยานคร (น้อยกลาง)ได้เป็นพระยานครศรีธรรมราชต่อจากบิดา
๕. พระเสน่หามนตรี (น้อยเล็ก หรือ เอียด)
๖. คุณน้อยหญิง อยู่เมืองนครศรีธรรมราช
เจ้าพระยานครฯ (น้อย) มีบุตรชายและหลานชาย เป็นเจ้าพระยานครฯ สืบต่อมาอีก ๒ ท่าน คือ บุตรชายที่เกิดแต่ท่านผู้หญิงอิน คือ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) และบุตรชายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง) คือ “หนูพร้อม ณ นคร” ชีวิตราชการ ในสมัยกรุงธนบุรีเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ดำรงอิสริยยศเป็นเจ้าราชบุตร เมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้รับราชการในตำแหน่งมหาดเล็กพระราชวังหลวง ในสมัยรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งปลายรัชกาลที่ ๑ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น พระบริรักษ์ภูเบศร์ ในปีพ.ศ.๒๓๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ เป็นพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ(น้อย) รับราชการอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๕๔ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๘๒
ประวัติ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เจ้าน้อย)
วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแม ตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ พุทธศักราช ๒๓๕๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีตราสารแต่งตั้ง พระบริรักษ์ภูเบศร์เป็นผู้สำเร็จราชการ แม่ทัพตะวันตกและมีอำนาจเต็มปกครองหัวเมืองทางใต้ ตลอดแหลมมลายู ๑๒ เมืองนักษัตร์ เป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช พระยศศักดิ์ เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ (เจ้าพระยานคร-น้อย)