ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : - ลองจิจูด (แวง) : -
เลขที่ : 195434
ข้าวหอมมะลิ 105
เสนอโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย ฉะเชิงเทรา วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : ฉะเชิงเทรา
0 346
รายละเอียด

การทำนาสมัยก่อนในพื้นที่อำเภอราชสาส์น ทำโดยวิธีธรรมชาติ โดยใช้ควายไถนา ไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ใส่สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น สภาพดินเหมาะแก่การปลูกข้าวหอมมะลิเป็นอย่างดี ทุกกระบวนการผลิตรวมทั้งการเก็บเกี่ยวล้วนแต่ใช้แรงงานคนทั้งสิ้น ซึ่งจะมีอุปกรณ์ในการทำนา เช่น ใช้เลื่อน เกวียน รถอีแต๋น คลาดไม้ สีฝัด และเคียว เป็นต้น การนวดข้าวในสมัยก่อนจะใช้ วัว หรือ ควาย นวดโดยใช้น้ำหนักของ วัว หรือ ควาย เหยียบข้าวแล้วนำสาด ขึ้นบนฟ้าเพื่อใช้แรงลมเป่าฝุ่นฟางข้าวออก ส่วนข้าวเปลือกจะตกลงพื้นที่มีการรองไว้ จากนั้นจึงนำข้าวเปลือก มาสีฝัดเพื่อเอาแกลบออก จะได้เนื้อข้าวแล้วนำมาตำจนได้ข้าวกล้อง หรือสีฝัดจนได้ข้าวขาว ปัจจุบันการทำนาในพื้นที่อำเภอราชสาส์นต้องใช้เครื่องทุ่นแรง ใช้เครื่องจักรในการทำนา รวมถึงการเก็บเกี่ยว และจำเป็นต้องใช้ปุ๋ย เพื่อเพิ่มผลผลิต เนื่องจากสภาพดินในปัจจุบันมีความเสื่อม จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยและสารเคมีเพราะมีแมลงรบกวน ส่งผลให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพไม่เหมือนเดิม คือ ในสมัยก่อนพอข้าวเป็นต้นสีเขียวจะเริ่มส่งกลิ่นหอม แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยส่งกลิ่นเนื่องจากมีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น แต่ข้าวที่ทำการเกี่ยวเสร็จแล้วจะยังมีกลิ่นหอมเหมือนเดิม และเมื่อนำมาหุงต้มข้าวจะขึ้นหม้อ นิ่ม เมล็ดขาวใส เรียวยาว ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในปัจจุบันเป็นชื่อข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ตามที่กรมวิชาการเกษตรตั้งให้ ชาวนาในอดีตมีวิถีชีวิตอยู่กับอาชีพการทำนามาแต่สมัยโบราณ มีความรัก ความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดินฟ้า อากาศ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในการดำรงชีวิต มีพิธีต่าง ๆ ส่วนการทำนาจะเลือกวันหว่านข้าวตามความเชื่อหาฤกษ์ยาม โดยดูจากวันธงชัย วันอธิบดี ตามปฏิทิน นิยมวันศุกร์ กำข้าวเปลือกมาหว่านประมาณ ๒ - ๓ กำมือเพื่อเอาฤกษ์ และนิยมเก็บเกี่ยวในวันศุกร์เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้อยู่เย็นเป็นศุกร์นั่นเอง

ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ เป็นข้าวหอมมะลิที่ได้มาจากการศึกษาของ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้ออกสำรวจเก็บตัวอย่างข้าวพันธุ์ดีจากทั่วประเทศ เพื่อนำไปปลูกทดลองเพื่อคัดเลือกพันธุ์ข้าว ที่สถานีทดลองพันธุ์ข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี โดยได้นำข้าวจากทุ่งบางคล้า อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๑๙๙ รวง มาปลูก เพื่อศึกษาพันธุ์ข้าว พบว่าข้าวรวงที่ ๑๐๕ มีลักษณะที่พิเศษ คือ เมื่อนำข้าวมาหุงต้มพบว่ามีกลิ่นหอม และเมล็ดข้าวขาวใส นิ่ม เมล็ดยาวและเรียงตัวสวย จึงนำไปคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และนำเข้าแปลงเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการการพิจารณาพันธุ์ให้ขยายพันธุ์ และส่งเสริมให้เกษตรปลูกเป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๐๒ เพราะเป็นข้าวหอมมะลิที่ถือว่าดีที่สุดของประเทศ และถือเป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์ ข้าวหอมมะลิชั้นดีเลิศอันดับ ๑ ของไทย จนทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก คือ ข้าวสายพันธุ์ กข. ๑๐๕ และ กข. ๑๕ จนปี พ.ศ. ๒๕๐๒ กรมวิชาการเกษตรจึงประกาศชื่อพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ๔-๒-๑๐๕ เป็นพันธุ์ข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี ใช้ในการส่งเสริมการปลูก กระจายออกไปสู่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน (พื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ที่เหมาะสม ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลางบางพื้นที่) และชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิ ยังโด่งดังไปทั่วโลก จนเกิดข้อกฎหมายที่ต่างประเทศนำไปขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์พันธุ์ข้าวจนถึงปัจจุบัน

จากความเป็นมาดังกล่าว จังหวัดฉะเชิงเทราจึงให้พิจารณาดำเนินโครงการหมู่บ้านถิ่นกำเนิดข้าว หอมมะลิไทย ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๔๙ โดยคัดเลือกพื้นที่ หมู่ที่ ๕ ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งข้าวหอมมะลิมาตั้งแต่เดิมซึ่งอยู่ในทุ่งบางคล้า โดยจังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดทำโครงการหมู่บ้าน “OTOP Village Champion” ขึ้น โดยมี คุณป้ามณี รักษาทรัพย์ เป็นคนตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ริเริ่มในการแปรรูปข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ เพื่อจัดจำหน่ายในพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยก่อนราคาข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำ จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อมีการแปรรูปและทำบรรจุภัณฑ์ข้าวสาร เพื่อการจำหน่าย ถ้าขายข้าวเปลือกส่งโรงสีจะมีราคาถูกไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และต่อมามีการรวมกลุ่ม โดยนำครกกระเดื่องมาแปรรูปเป็นข้าวซ้อมมือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของบรรพบุรุษของชุมชนในแถบภาคอิสาน แต่ข้าว ที่แปรรูปออกมาแล้วไม่เป็นที่ต้องการของตลาดจึงได้จัดตั้งกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิเพชรมณี” ขึ้นมา มีสมาชิกจำนวน ๒ หมู่บ้าน คือบ้านหนองน้ำเปรี้ยว กับหมู่บ้านเตาอิฐ มีสมาชิกทั้งหมด ๒๐ คน โดยได้รับคำแนะนำขั้นตอนในการดำเนินงานของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิเพชรมณี จากเกษตรอำเภอราชสาส์น ซึ่งข้าวสารที่ผ่านการแปรรูปจะนำไปจำหน่ายในหมู่บ้าน ขายตามตลาดนัดในจังหวัดฉะเชิงเทรา และออกร้าน ตามงานต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิ ๑๐๕ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าว หอมมะลิเพชรมณี บ้านเตาอิฐ ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อขยายช่องทางการตลาด ให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

ลักษณะทั่วไปข้าวหอมมะลิ ๑๐๕

๑.เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง

๒.เป็นข้าวต้นสูงประมาณ ๑๔๐ - ๑๕๐ เซนติเมตร

๓.อายุเก็บเกี่ยว ข้าวจะออกดอกประมาณวันที่ ๒๐ ตุลาคม และสุกแก่ เก็บเกี่ยวได้ประมาณวันที่๒๐ พฤศจิกายน ของทุกปี

๔.ระยะพักตัวของเมล็ด ประมาณ ๘ สัปดาห์

๕.ขนาดเมล็ดข้าวกล้องยาว ๗.๕ มิลลิเมตร กว้าง ๒.๑ มิลลิเมตร หนา ๑.๘ มิลลิเมตร

๖.ลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกจะเป็นสีฟาง เมล็ดเรียวยาว ก้นงอน

ข้อดีของข้าวหอมมะลิ ๑๐๕

๑.เมื่อนำมาหุงต้ม จะมีกลิ่นหอม เมล็ดอ่อนนุ่มเรียวยาว เมล็ดขาวใส

๒.ทนต่อสภาพแล้ง ทนต่อดินเปรี้ยว และดินเค็ม

๓.คุณภาพการขัดสีดี เมล็ดข้าวสารใส แข็ง มีท้องไข่น้อย

๔.นวดง่าย เนื่องจากเมล็ดหลุดร่วงจากรวงได้ง่าย

๕.เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาดี

ข้อจำกัดของข้าวหอมมะลิ ๑๐๕

๑.ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคใบจุดสีน้ำตาล โรคไหม้ และโรคใบหงิก

๒.ไม่ต้านทานแมลงบั่ว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

๓.ต้นอ่อนล้มง่าย ถ้าปลูกในบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง

สถานที่ตั้ง
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิเพชรมณี
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านเตาอิฐ
ตำบล บางคา อำเภอ ราชสาส์น จังหวัด ฉะเชิงเทรา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิเพชรมณี
บุคคลอ้างอิง มณี รักษาทรัพย์
ชื่อที่ทำงาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวหอมมะลิเพชรมณี
หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านเตาอิฐ
ตำบล บางคา อำเภอ ราชสาส์น จังหวัด ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์ 0868180107
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่