ในอดีตที่ไม่ทราบยุคสมัยแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบ้านต้นปัน กล่าวว่า การตีเหล็กในอดีตเริ่มจากการทำอาวุธ เช่น การตีดาบ ให้กับเจ้าหลวงเมืองลำพูนที่ไม่ทราบนาม ซึ่งเจ้าหลวงองค์นั้นได้ขี่ม้ามาสั่งให้ชาวบ้านทำ โดยเหล็กที่นำมาตีในสมัยก่อนไม่ได้มีพ่อค้านำมาขายให้อย่างปัจจุบัน ชาวบ้านจึงนำรถจักยานปั่นไปตามบ้านหรือชุมชนอื่น เพื่อไปรับซื้อเหล็กเก่า จอบเก่า ตามชุมชนอื่น เพื่อนำมาตีเป็นอาวุธและอุปกรณ์ทางการเกษตร ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นเวลาหลายชั่วอายุคน จากคำบอกเล่าดังกล่าวทำให้ทราบว่าชาวบ้านบ้านปัน ต้องปั่นจักรยานเพื่อไปรับซื้อเหล็กเก่ามาตีทำเครื่องมือเครื่องใช้ใหม่ ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้วิธีการตีเหล็ก และเกิดความรักในการตีเหล็ก ทำให้เกิดการพัฒนาฝีมือในการตีเหล็กขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
วัสดุในการตีเหล็ก
วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตนั้น เดิมจะใช้เหล็กหุ้มล้อวัว (เกวียนเทียมวัว - ล้อ แปลว่า เกวียน
ในภาษาถิ่นเหนือ) ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นเหล็กขนาดยาวเท่าเส้นรอบวงของล้อเกวียน นำมาเผาแล้วตีพับไปมา แล้วเอาเหล็กกล้าขนาดเล็กมาผ่าให้ได้รูปทรงตามต้องการ
การตีเหล็กในปัจจุบัน
ปัจจุบันด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยีมีมากขึ้น จึงมีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการตีเหล็กให้ทุ่นแรงคนมากขึ้นตามไปด้วย เช่น จากเส่าเปลี่ยนเป็นมอเตอร์ มีดกาดที่ใช้ขูดเหล็กให้ขาว ปัจจุบันใช้เครื่องเจียรไฟฟ้าในการปัดใบมีดแทน ส่วนรูปแบบมีดนั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเครื่องมือที่นิยมผลิตกันในปัจจุบัน ได้แก่ เคียว เสียม สิ่วแกะสลัก มีด ค้อน และขอ เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์ในการตีมีด
1. เกิ้ม (ลักษณะคล้ายขวานใบสั้น ใช้ตัดเหล็กขณะที่ร้อนอยู่)
2. ค้อนตีเหล็ก
3. ทั่ง (ฐานตีเหล็ก)
4. คีมคีบเหล็ก
5. ตะไบ
6. เลื่อยตัดเหล็ก หรือ เลื่อยคันธนู
7. เตาเผา
8. เครื่องเจียร
9. หินลับมีด
10. ปั๊มลมหอยโข่ง
11. เหล็กแหนบรถยนต์
12. ด้ามมีดทำจากไม้กลึง
13. ขี้ครั่ง
14. ถ่านไม้
15. น้ำ
16. สว่านเจาะไม้ เป็นต้น
ขั้นตอนการตีมีด
1. ตัดเหล็กให้ได้ขนาดตามต้องการ แล้วนำไปเผาไฟ นำมาวางบนทั่ง จึงทำการตัดด้วยเกิ้ม (อุปกรณ์ตัดเหล็ก) โดยใช้ค้อนทุบสันเกิ้มเพื่อตัดเหล็กให้ได้รูปทรงมีดตามที่ต้องการ
โดยต้องตัดให้มีส่วนท้ายสำหรับใส่ด้ามมีดด้วย
2. เมื่อได้รูปทรงมีดตามที่ต้องการแล้ว นำเหล็กเข้าเตาเผาอีกครั้ง พอเหล็กแดงนำออกมาตีด้วยค้อน ตีสลับกันไปมาสองคน แล้วนำกลับไปเผาไฟใหม่ ทำวนไปจนกว่าจะได้รูปทรงมีดตามที่ต้องการ
3. เมื่อขึ้นรูปมีดเสร็จแล้ว รอจนมีดเย็นแล้วนำเอามีดที่ตีมาเจียรด้วยเครื่องเจียรไฟฟ้าให้ขาว แล้วใช้ตะไบขัดให้ส่วนคมขาวและบาง
4. เมื่อเจียรและปัดมีดคมตามที่ต้องการแล้ว นำไปเผาไฟอีกครั้ง พอมีดแดงให้นำมาชุบน้ำ การชุบน้ำเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ช่างตีมีดต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษ เพื่อให้คมของมีดแข็ง ไม่อ่อนและไม่บิ่นง่าย
5. นำด้ามมีดที่กลึงไว้แล้วมาเจาะรูด้วยสว่านเจาะไม้ เจาะให้มีขนาดพอดีกับส่วนท้ายของมีด แล้วนำส่วนท้ายของมีดไปเผาไฟให้แดง แล้วนำมาสวมเข้ากับด้ามมีด ทำซ้ำไปมาจนกว่ารู้ด้ามมีดจะพอดีกับส่วนท้ายของมีด เมื่อพอดีแล้วนำครั่งมาใส่ไว้ด้านในรูด้ามมีด แล้วนำเอาส่วนท้ายมีดที่เผาไฟจนแดงมาสวมลงไปในด้ามมีด กดให้แน่น รอจนเย็น
6. นำมีดที่ใส่ด้ามเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำมาฝนหรือลับมีด โดยใช้หินหยาบและหินละเอียดในการลับ ลับให้คมได้ที่แล้วใส่น้ำมันทาด้ามมีดเพื่อกันสนิม เป็นการเสร็จสิ้นการทำมีด