ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 34' 52.9781"
16.5813828
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 13' 18.7014"
100.2218615
เลขที่ : 195710
ประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย วัดกำแพงดิน
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : พิจิตร
2 1397
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

ทอดผ้าป่า

ทอดผ้าป่า หมายถึง พิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ผ้าป่าคือผ้าที่ผู้ทำบุญนำไปวางไว้ที่ใดที่หนึ่งไม่ต้องการให้พระรู้ว่าตนเป็นผู้ทำบุญ และตั้งใจไว้ว่าหากภิกษุรูปใดมาพบผ้านั้นก่อนให้หยิบเอาไป กิริยาที่เอาผ้ามาวางไว้ แล้วตั้งใจอธิษฐานนั้น เรียกว่า ทอดผ้าป่า

เป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ คล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนด ระยะเวลาจํากัด คือสามารถจะทอดเมื่อไรก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังไม่เจาะจง เกี่ยวกับภิกษุที่จะรับผ้ากฐินแต่อย่างใด สมัยปัจจุบันนิยมทอดกันโดยมากในระยะเวลากำหนด คือ ระหว่างเดือน ๑๒ ถึง เดือน ๔

ในสมันพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระบรมศาสดายังมิได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทั้งหลาย รับจีวรจากชาวบ้าน พระภิกษุเหล่านั้นจึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่ทิ้งแล้วเช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ที่ชาวบ้านไม่ต้องการ นำมาทิ้งไว้ ผ้าห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อย พอแก่ความต้องการแล้ว จึงนำมาซักทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวร สบง หรือสังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง การทำจีวรของภิกษุในสมัยพุทธกาล จึงค่อนข้างยุ่งยาก และเป็นงานใหญ่ ครั้นชาวบ้านทั้งหลายเห็นความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ ต้องการจะนำผ้ามาถวาย แต่เมื่อยังไม่มีพุทธานุญาต โดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่นในป่า ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบ เห็นว่าเป็นผ้าที่ผู้เป็นเจ้าของทอดอาลัยแล้ว ก็นำเอาผ้ามาทำเป็นสบง จีวร พิธีการทอดผ้าป่าก็มีความเป็นมาด้วยประการละฉะนี้

ในปัจจุบันการทอดผ้าป่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยนิยมนำกิ่งไม้มาปักไว้ในกระถาง และนำผ้ามาผูกแขวนไว้ และอาจจะนำผ้ามาทำเป็นรูปร่าง ต่างๆ เช่น ชะนี รูปผี แขวนไว้ที่กิ่งไม้ และสิ่งของเครื่องใช้ที่จะถวายพระ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว ฯลฯ เงินหรือปัจจัยให้เสียบไม้แล้วปักกับต้นกล้วยเล็กๆ ในกองผ้าป่า

ประเภทของผ้าป่า

ความจริงแล้ว การทอดผ้าป่ามีอยู่อย่างเดียว คือการนำผ้าไปทิ้งไว้ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในปัจจุบันนิยมทำในรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไป จึงมีชื่อเรียกเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ผ้าป่าหางกฐิน หรือผ้าป่าแถมกฐิน ได้แก่ ผ้าป่าที่เจ้าภาพจัดให้มีขึ้น ต่อจากการทอดกฐิน คือเมื่อทำพิธีทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ให้มีการทอดกฐินด้วยเลย จึงเรียกว่าผ้าป่าหางกฐิน หรือ ผ้าป่าแถมกฐิน

๒. ผ้าป่าโยงกฐิน ได้แก่ ผ้าป่าที่จัดทำรวมๆ กันหลายกอง นำบรรทุกเรือแห่ไปทอด ตามวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่นํ้า จึงเรียกว่าผ้าป่าโยง จะมีเจ้าภาพเดียวหรือหลายเจ้าภาพก็ได้

๓. ผ้าป่าสามัคคี ได้แก่ ผ้าป่าที่มีการแจกฎีกาบอกบุญไปตาม สถานที่ต่างๆ ให้ร่วมกัน ทำบุญแล้วแต่ศรัทธา โดยจัดเป็นกองผ้าป่ามารวมกัน จะเป็นกี่กองก็ได้ เมื่อถึงวันทอด จะมีขบวนแห่ผ้าป่ามารวมกันที่วัดอย่างสนุกสนาน บางที่จุดประสงค์ ก็เพื่อร่วมกันหาเงิน สร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และอื่นๆ ฯลฯ

ประวัติความเป็นมา ประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย ชุมชนบ้านกำแพงดิน

ชุมชนบ้านกำแพงดิน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ชุมชนนี้จัดว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อุปนิสัยเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี มีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ นับถือศาสนาพุทธ โดยมีวัดกำแพงดิน เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๓ ปัจจุบันมีอายุราว ๓๙๒ ปี ผู้คนมีความสามัคคียึดมั่นในวัฒนธรรมประเพณี และยังคงร่วมกันรักษา สืบสานงานประเพณีต่างๆ ให้คงอยู่ เช่น งานประเพณีแข่งเรือยาว ประเพณีถวายสลากภัต ประเพณีตีกลองตีฆ้องย่ำค่ำเข้าพรรษา การแสดงรำขนมจีน การแสดงรำกลองยาว ประเพณีทอดผ้าป่าผีตายฯลฯ

ประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย พระครูศรีปริยัติวิธูร เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน ได้เล่าว่า ในสมัยก่อนตอนที่ท่านยังเป็นเด็กๆ คนเฒ่าคนแก่มักจะพูดว่า ทอดผ้าป่าผีตายกันสักที ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน ว่าจะทำตอนไหน ช่วงไหน ถือเอาวันที่ชาวบ้านสะดวก ว่างเว้นจากการทำไร่ทำนา และเมื่อถึงเวลาที่จะทำการทอดผ้าป่าผีตาย ชาวบ้านก็จะสานไม้ไผ่ทำเป็นหุ่นผี มีชะลอมใส่ผลหมากรากไม้ ตั้งองค์ผ้าป่าแห่หุ่นผีทางเรือ พร้อมด้วยเสียงตีกลอง ร่องไปตามลำน้ำยม เด็กๆ ต่างมายืนดูกันริมตลิ่ง ชาวบ้านจะนำผลไม้ข้าวสารอาหารแห้ง และขนมข้าวแต๋นขนมนางเล็ด ใส่เข้าไปในหุ่นผี ล่องเรือทอดผ้าป่า เป็นวัดๆ ไปตามลำน้ำยม

ในระยะหลังเริ่มห่างหายไป นานๆ จะทำกันสักครั้ง พระครูศรีปริยัติวิธูร เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน จึงได้ริเริ่มที่จะสืบสานประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย และกำหนดให้ทำเป็นประจำทุกปี ให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านกำแพงดิน กำหนดช่วงทอดผ้าป่าปีใหม่ แต่ก็ดูจะไม่เหมาะสม เพราะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มิควรจะมีผีตาย จึงกำหนดให้เลยวันขึ้นปีใหม่ไปประมาณ ๓ – ๔ วัน เป็นวันพระ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ก็ได้มีการจัดประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ ทั้งนี้ ก็ได้มีการตั้งองค์ผ้าป่าอยู่หน้าวัดกำแพงดิน ให้ชาวบ้านนำขนม มาใส่ไว้ที่ตัวหุ่นผีก่อนหน้าที่จัดพิธี ประมาณ ๗ วัน

วัตถุประสงค์

๑) เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร ดวงวิญญาณไร้ญาติ เร่ร่อน

๒) เพื่อให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในงานประเพณี เป็นการสืบสาน รักษา ให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป

๓) เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านกำแพงดิน

วัสดุ/อุปกรณ์ ในการหุ่นผี

๑) ไม้ไผ่ ผ่าเป็นเส้นตอก (สำหรับจักสานขึ้นเป็นตัวหุ่นผี)

๒) ฟางข้าว (สำหรับตกแต่งทำเป็นมือและเท้าหุ่นผี)

๓) ถุงปุ๋ย (สำหรับทำเสื้อผ้าหุ่นผี)

๔) สีน้ำมัน (สำหรับตกแต่งลวดลาย)

กระบวนการ/ขั้นตอน

๑. การทำหุ่นผีก่อนจะถึงวันทอดผ้าป่าผีตาย

๑) ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่มาผ่า แล้วจักเป็นตอก จากนั้นนำตอกมาจักสานเป็นตัวหุ่นผี นั่งคุกเข่าท่าเทพบุตร ประนมมือ พร้อมดอกไม้ธูปเทียน ขนาดไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป พอสูงได้ประมาณ ๓ เมตร

๒) นำถุงปุ๋ยมามัดมาผูกกับตัวหุ่นผี เป็นเสื้อผ้า และใบหน้าของผี

๓) นำสีน้ำมันมาทาถุงปุ๋ยดังกล่าว เพื่อตกแต่งลวดลายเป็นเสื้อผ้า

๔) นำฝางข้าว มามัดเป็นมือและเท้าของหุ่นผี

๕) เปิดช่องด้านหลังหุ่นผี ขนาดพอที่จะให้ชาวบ้านนำขนมมาใส่ในตัวผีได้

(ลักษณะของหุ่นผีนั้น ก็ไม่ได้มีการกำหนดเป็นรูปแบบตายตัว)

๒. เมื่อได้หุ่นผีแล้ว จะตั้งองค์ผ้าป่า หรือหุ่นผี ไว้หน้าวัด ประมาณ ๗ วัน ก่อนวันงานประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย เพื่อให้ชาวบ้าน หรือผู้มีจิตศรัทธา ได้ทำบุญ นำขนมมาใส่ในตัวหุ่นผี (ขนมจะเป็นลักษณะขนมแห้งๆ ไม่เนาเสีย ถุงขนมสามารถกันมด กันแมลงเข้า)

๓. เมื่อถึงวันทอดผ้าป่าผีตาย โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ตรงกับวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ พระครูศรีปริยัติวิธูร เจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน ได้ประยุกต์รูปแบบให้ง่าย และสะดวกขึ้น โดยนิมนต์พระแต่ละวัดมารับผ้าป่า ทำพิธีทอดผ้าป่าผีตาย ณ วัดกำแพงดิน ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร

๔.การปฏิบัติ (ลำดับพิธี)

- ผู้ร่วมพิธีพร้อม ณ บริเวณพิธีหน้าศาลาการเปรียญ วัดกำแพงดิน

- พระสงฆ์ ๙ วัด รวมจำนวน ๓๐ รูป ขึ้นอาสนะ

- ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย กราบ ๓ ครั้ง

- พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ – สวดมาติกา บังสุกุล

- ประธานฯ หรือพิธีกรนำกล่าวคำถวายผ้าป่า

- พระสงฆ์พิจารณาผ้าป่า

- ประธานฯ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์

- พระสงฆ์อนุโมทนา

- ประธานฯ และผู้เข้าร่วมพิธี กรวดน้ำ-รับพร เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ดวงวิญญาณไร้ญาติ เร่ร่อน

- ลำดับต่อไปเข้าสู่พิธีถวายเพล

- พระสงฆ์ และผู้เข้าร่วมพิธี พร้อมกัน ณ ศาลาการเปรียญ วัดกำแพงดิน

- ผู้เข้าร่วมพิธีถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์

- พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา ระหว่างฉันเพล

- เสร็จพิธี

(กำหนดการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม) หลังเสร็จพิธี นำหุ่นผีขึ้นรถออกแห่ พร้อมด้วยขบวนแห่กลองยาว และนางรำ แห่ขบวนรอบหมู่บ้านแจกขนมเด็กๆ และจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน โดยมีขนมเป็นรางวัลมอบให้กับเด็กๆ ณ ตลาดคุณธรรมฯ วัดกำแพงดิน ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร

๕. นำหุ่นผีขึ้นรถไถ่ แห่รอบหมู่บ้าน แจกขนมเด็กๆ และประกาศให้ญาติโยม นำพาเด็กมาร่วมกิจกรรมกับทางวัด และรับขนมเป็นรางวัล กิจกรรมภายในวัดกำแพงดิน เป็นการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เรือบก ชักกะเย่อ เด็กๆเล่นกันอย่างสนุกสนาน กองเชียร์ผู้ปกครองก็ส่งเสียงเชียร์ลูกหลานของตน สร้างกิจกรรมร่วมกันเกิดความรักความสามัคคีกัน เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมหุ่นผีนั้นก็จะถูกเผาทำลายไป

บทสวดมาติกา

ธัมมะสังคิณีมาติกา กุสะลา ธัมมา อะกุสะลา ธัมมา อัพยากะตา ธัมมา ฯ สุขายะ เวทะนายะ สัมปะยุตตาธัมมา ทุกขายะ เวทะนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา อะทุกขะมะสุขายะ เวทะนายะ สัมปะยุตตา ธัมมา ฯ วิปากา ธัมมา วิปากะธัมมะธัมมา เนวะวิปากะนะวิปากะ ธัมมะธัมมา ฯ อุปาทินนุปาทานิยา ธัมมา อะนุปาทินนุ ปาทานิ ยา ธัมมา อะนุปาทินนานุปาทานิยา ธัมมา ฯ สังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา อะสังกิลิฏฐะสังกิเลสิกา ธัมมา อะสังกิลิฏฐาสังกิเลสิกา ธัมมา ฯ สะวิตักกะสะวิจารา ธัมมา อะวิตักกะ วิจาระมัตตา ธัมมา อะวิตักกาวิจารา ธัมมา ฯ ปีติ สะหะคะตา ธัมมา สุขะสะหะคะตา ธัมมา อุ เปกขา สะหะคะตา ธัมมา ฯ ทัสสะเนนะ ปะหาตัพพา ธัมมา ภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา เนวะทัสสะเนนะ นะภาวะนายะ ปะหาตัพพา ธัมมา ฯ ทัสสะเนนะ ปะหาตั พพะเหตุกา ธัมมา ภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุ กา ธัมมา เนวะทัสสะเนนะ นะภาวะนายะ ปะหาตัพพะเหตุกา ธัมมา ฯ อาจะยะคามิโน ธัมมา อะปะจะยะคามิโน ธัมมา เนวาจะยะคามิโน นาปะจะยะคามิโน ธัมมา ฯ เสกขา ธัมมา อะเสกขา ธัมมา เนวะเสกขานาเสกขา ธัมมา ฯ ปะริตตา ธัมมา มะหัคคะตา ธัมมา อัปปะมาณา ธัมมา ฯ ปะริ ตตารัมมะณา ธัมมา มะหั คคะตารัมมะณา ธัมมา อัปปะมาณารัมมะณา ธัมมา ฯ หีนา ธัมมา มัชฌิมา ธัมมา ปะณีตา ธัมมา ฯ มิจฉัตตะนิยะตา ธัมมา สัมมัตตะนิยะตา ธัมมา อะนิยะตา ธัมมา ฯ มัคคารั มมะณา ธัมมา มัคคะเหตุกา ธัมมา มัคคาธิปะติ โน ธัมมา ฯ อุปปันนา ธัมมา อะนุปปันนา ธัมมา อุปปาทิโน ธัมมา ฯ อะตีตา ธัมมา อะนาคะตา ธัมมา ปัจจุปปันนา ธัมมา ฯ อะตี ตารัมมะณา ธัมมา อะนาคะตา รัมมะณา ธัมมา ปัจจุปปันนารัมมะณา ธัมมา ฯ อัชฌัตตา ธัมมา พะหิทธา ธัมมา อัชฌัตตะพะหิทธา ธัมมา ฯ อัชฌัตตารั มมะณา ธั มมา พะหิทธารัมมะณา ธัมมา อัชฌัตตะพะหิทธารัมมะณา ธัมมา ฯ สะนิทัสสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา อะนิทั สสะนะสัปปะฏิฆา ธัมมา อะนิทัสสะนาปปะฏิฆา ธัมมา ฯ

***มาติกา (อ่านว่า มาดติกา) แปลว่า หัวข้อ, แม่บท

มาติกา หมายถึงพระบาลีที่เป็นหัวข้อ เป็นแม่บท เรียกว่า บทมาติกา

เรียกการที่พระสงฆ์สวดพระบาลีเฉพาะหัวข้อธรรมในพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งขึ้นต้นด้วยบทว่า กุสลา ธัมมาอกุสลา ธัมมา ในงานที่เกี่ยวกับศพว่า สวดมาติกา

มาติกา คำนี้ในงานเผาศพจะใช้คู่กับคำว่า บังสุกุล เป็น มาติกา บังสุกุล กล่าวคือพระสงฆ์จะสวดมาติกาก่อนแล้วบังสุกุลต่อกันไป เช่นที่เขียนในบัตรเชิญงานศพว่า พระสงฆ์มาติกา บังสุกุล

คำถวายผ้าป่า

นะโม ตัสสะ, ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

อิมานิ มะยัง ภันเต, ปังสุกูละจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ภิกขุสังฆัสสะ, โอโณชะยามะ, สาธุ โน ภันเต,ภิกขุสังโฆ, อิมานิ, ปังสุกูละจีวะรานิ, สะปะริวารานิ, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ, สุขายะฯ

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ, ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ขอน้อมถวาย, ผ้าบังสุกุลจีวร, กับทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์, ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ, ผ้าบังสุกุลจีวร, กับทั้งของบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญฯ

สถานที่ตั้งขององค์ความรู้:

วัดกำแพงดิน หมู่ที่ ๔ ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ๖๖๑๔๐

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

๑.๑) เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี สร้างความเข้าใจ และการวมพลังในการสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างร่วมกันของคนในท้องถิ่น

๑.๒) สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน มีจิตใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เห็นอกเห็นใจ มีความรักความสามัคคี โดยมีศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นตัวกำหนด

๑.๓) เป็นเครื่องมือให้การศึกษาและเป็นหลักฐานอันสำคัญยิ่งของชีวิต ที่ทำหน้าที่อบรมคนในสังคมให้รู้จักการให้ การแบ่งปัน ตลอดจนช่วยปลูกฝังคุณธรรมให้แก่คนในชุมชน

๒) บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ชาวบ้านชุมชนบ้านกำแพงดิน มีส่วนร่วมในการจัดงานประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย ตั้งแต่ร่วมกันจัดทำหุ่นผีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับดวงวิญญาณไร้ญาติ เจ้ากรรมนายเวร และจัดกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมงานประเพณีทอดผ้าป่าผีตาย เกิดความผูกพันกับทางวัด รักและหวงแหนวัฒนธรรมประเพณีอัดดีงาม สร้างความรักความสามัคคีในชุมชน

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาค ประชาสังคม (ถ้ามี)

หน่วยงานราชการ ได้มีการร่วมประชาสัมพันธ์ เผยแพร่องค์ความรู้ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมงานประเพณีต่างๆ

สถานภาพปัจจุบัน

๑) สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

๒) สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

ปัจจัยคุกคาม ได้แก่ ภัยธรรมชาติ น้ำท่วมครั้งใหญ่ และที่หนักสุด คือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ และเริ่มทวีความรุ่นแรงขึ้นเลยๆ จนถึงปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะ

อยากให้คนไทย รักและหวงแหนวัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมท้องถิ่น สืบสาน รักษา และต่อยอดให้คงอยู่คู่ชุมชน ให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

ชื่อ-นามสกุลพระครูศรีปริยัติวิธูร

ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกำแพงดิน รองเจ้าคณะอำเภอสามง่าม

หน่วยงาน/องค์กรวัดกำแพงดิน

หมู่ที่๔ตำบลกำแพงดินอำเภอสามง่ามจังหวัดพิจิตรรหัสไปรษณีย์๖๖๒๒๐.

เบอร์โทรศัพท์081-4744223

ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆเช่นเอกสารงานวิจัย, แผ่นพับ, เว็บไซต์, ฯลฯ

http://www.digitalschool.club/digitalschool/social1_1_1/social2_1/more/page19.php

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2.

สถานที่ตั้ง
วัดกำแพงดิน
หมู่ที่/หมู่บ้าน 4
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
วัดกำแพงดิน
บุคคลอ้างอิง นาวสาวขวัญชนก ชินวงษ์ อีเมล์ Khun16599@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ ุุ0 5661 2675 โทรสาร 056612675
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่