ถ้ำพระ (มะโน)
ที่ตั้งหมู่ที่ 11 บ้านเขาวง ตำบลบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
ประวัติถ้ำพระ เป็นถ้ำในภูเขาหินปูนชื่อ เขาถ้ำพระ ลักษณะภูเขามีรูปร่างคล้านสามเหลี่ยมยาวตามแนวเหนือ - ใต้ ประมาณ 1 กิโลเมตร และความกว้างตามแนวตะวันออก - ตะวันตก ประมาณ 600 เมตร ภูเขาลูกนี้มียอดสูงสุดอยู่ทางใต้สูงประมาณ 245 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แหล่งโบราณคดี อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขาถ้ำพระ ลักษณะเป็นถ้ำขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 2 คูหา ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กว้างประมาณ 5 เมตร ลึกประมาณ 30 เมตร ทั้งสองคูหาอยู่ต่อเนื่องกันและยังมีช่องแยกลึกเข้าไปอีหลายแห่ง พื้นถ้ำมีร่องรอยการขุดและบางส่วนถูกโบกด้วยซีเมนต์ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปไสยาสน์ศิลปะพม่าขนาดใหญ่อีก 1 องค์ นอกจากนี้ยังเคยพบโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์บริเวณเขาถ้ำพระแห่งนี้อีกด้วย
สิ่งสำคัญ
โบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และแบบผิวเรียบและชิ้นส่วนฟันสัตว์พระพุทธรูปปางไสยาสน์ปูนปั้น ศิลปะพม่า ขนาดความยาวจากพระเศียรถึงพระบาท 8 เมตร ตั้งอยู่ติดผนังถ้ำบนฐานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1.55 เมตร ยาว 9.40 เมตร สูง 0.80 เมตร และ
หมอนอิงทรงสามเหลี่ยมขนาดกว้าง 1.70 เมตร ยาว 1.97 เมตร สูง 1.05 เมตร
อายุสมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยรัตนโกสินทร์
ประวัติดำเนินการพ.ศ.2560 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช สำรวจ
หนังสืออ้างอิงสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช. โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เล่ม 1 : ชุมพร. เอกสารอัดสำเนา, 2554 หน้า 34.
ที่มา : เนื้อหา / รูปภาพ
ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์.
โบราณสถานในจังหวัดชุมพร. –นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช
กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม, 2563. 200 หน้า