ชื่อลายลายก้านแย่ง
ความเป็นมาของลายผ้า
ตามหลักฐานพงศาวดารกรุงเทพมหานคร และจดหมายเหตุบางตอนได้บันทึกไว้ได้ความว่า ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ เป็นเพียงด่านๆหนึ่ง เรียกว่า ด่านชวน มีขุนพลเป็นนายด่านรักษาการอยู่ ต่อมาในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงเห็นว่าด่านชวน เป็นด่านที่สำคัญในการที่จะต่อต้านหัวเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่จะคิดการกบฏ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ขุนพลเมืองธุขันธ์ มาเป็นนายด่าน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์คิดการกบฏยกกองทัพมาตีหัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึงเมืองนครราชสีมา ขุนพลด่านชวนจึงได้ยกทัพไปต่อสู้กับข้าศึกที่เมืองนครราชสีมา จนกองทัพของเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ แพ้พ่ายไป เมื่อปราบกบฏเสร็จสิ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานบำเหน็จความชอบให้ขุนพลนายด่านชวนเป็น พระฤทธิฤๅชัย และยกฐานะด่านชวนขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองบำเหน็จณรงค์ พร้อมทั้งให้พระฤทธิฤาชัยเป็นเจ้าเมืองบำเหน็จณรงค์ ถือศักดินา ๑,๐๐๐ ไร่ พระราชทานเครื่องยศ ถาดหมวก คนโทเงินสำหรับหนึ่ง สัปทนแพรคันหนึ่ง เสื้อเข้มขาบก้านแย่งตัวหนึ่ง แพรศรีติจ์ครีบผืนหนึ่ง แพรขาวห่มผืนหนึ่ง ผ้าส่านวิลาตผืนหนึ่ง และผ้าม่วงจีนผืนหนึ่ง
ผ้าเข้มขาบ เป็นผ้าทอด้วยไหมทอง คือ นำเงินแผ่นบางกะไหล่ทอง หุ้มเส้นไหมกับไหมสียก เป็นลายริ้ว ซึ่งจะมีลายทองและลายพื้นเท่ากัน บางครั้งจะมีไหมเงินทอแซมด้วย ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า kimkhab แปลว่า ผ้าทอง ผ้าเข้มขาบนี้จะเห็นเป็นริ้วเล็ก ๆ ทั้งผืน ซึ่งริ้วจะมีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕-๓ เซนติเมตร มีทั้งริ้วที่เป็น สีทองพื้น ๆ และริ้วที่มีสีพื้นสีเข้ม ๆ เช่น สีน้ำเงินอมเขียว สีชมพูอมแดง แล้วยกดอกในริ้วด้วยลายเครือเถา แต่ละแนวริ้วเดินด้วยเส้นไหมสีทอง มีลักษณะลายคือ ผ้าเข้มขาบลายดอกสะเทิน ผ้าเข้มขาบลายก้านแย่ง และผ้าเข้มขาบริ้วขอ ในภาษาเปอร์เซียมีคำว่า kimkhuwa หมายถึง ผ้าไหมยกดอกหลายสี
อำเภอบำเหน็จณรงค์ จึงได้กำหนดรูปแบบการแต่งกายผ้าอัตลักษณ์ของอำเภอบำเหน็จณรงค์ เป็น ผ้ามัดหมี่ลายก้านแย่ง และนำสีม่วงอมชมพูของดอกชงโคมาเป็นสีของผ้า ซึ่งดอกชงโคเป็นนามเรียกขานวิทยุของ ที่ทำการปกครองอำเภอบำเหน็จณรงค์
ความโดดเด่น/อัตลักษณ์เฉพาะ
ผ้ามัดหมี่ลายก้านแย่ง มีความโดดเด่นในด้านลวดลาย ซึ่งเป็นลายโบราณ และเป็นลายแม่แบบของลายไทย สีที่นำมาใช้เป็นสีของดอกชงโค ซึ่งจะมีสีม่วงอมชมพู
โอกาสในการใช้
ผ้าทออัตลักษณ์ของอำเภอบำเหน็จณรงค์ ลายก้านแย่ง เป็นผ้าทอประเภทมัดหมี่ ย้อมสีธรรมชาติลวดลายโบราณสวยงามสามารถนำไปตัดเย็บเป็นชุดปฏิบัติงานของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีได้ สามารถนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส เช่น งานบุญประเพณีต่าง ๆ งานแต่งงาน งานบวช นอกจากนี้ สามารถซื้อเพื่อนำไปเป็นของฝากเป็นของขวัญของรางวัลได้
ผู้อนุรักษ์และผู้สืบทอด
๑.นายเนติพงษ์ กระแสโสม อายุ ๒๖ ปี
เลขที่ ๖ หมู่ ๗ ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โทร. ๐๙๓-๓๑๙๗๑๗๘
๒.นางสำลี มั่นคง อายุ ๗๐ ปี
เลขที่ ๖ หมู่ ๗ บ้านโปร่งมีชัย ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
หน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนและอนุรักษ์
๑.ที่ทำการปกครองอำเภอบำเหน็จณรงค์
๒.สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบำเหน็จณรงค์
๓.หน่วยงานภาครัฐ/ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ทุกแห่ง
๔.เครือข่ายทางวัฒนธรรมอำเภอบำเหน็จณรงค์
๕.สถานศึกษาในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ทุกแห่ง
๖. องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ทุกแห่ง
แหล่งจำหน่าย
๑.นายเนติพงษ์ กระแสโสม อายุ ๒๖ ปี
เลขที่ ๖ หมู่ ๗ ตำบลโคกเริงรมย์ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ โทร. ๐๙๓-๓๑๙๗๑๗๘
๒.สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบำเหน็จณรงค์