“บ้านทรงจีน ตระกลูเลาหกุล” ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 234 ถนนสายบุรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในย่านชุมชนไทยเชื้อสายจีน บ้านหลังนี้เป็นบ้านของตระกูล “เลาหกุล” มีอายุมากกว่า 120 ปี เป็นสถาปัตยกรรมโบราณ สร้างโดยนายท้าย แซ่ต่าน ต้นตระกลูเลาหกุล ที่อพยพมาจากประเทศจีน และมาตั้งรกรากในอำเภอสายบุรี ในสมัยที่สายบุรีเคยเป็นเมืองท่าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า สมัยนั้นมีพ่อค้าทั้งจีน ฝรั่ง เข้ามาทำการค้ามากมาย ความเจริญรุ่งเรืองนี้ ทำให้มีชาวจีน เข้ามาตั้งรกรากและทำมาค้าขายในสายบุรีเป็นจำนวนมาก ทำให้ในอดีตบริเวณนี้กลายเป็นย่านการค้าของเมืองสายบุรี ซึ่งคึกคักไปด้วยบรรยากาศการค้าขาย เพราะมีอาคารร้านค้าของพ่อค้าเชื้อสายจีนที่อาศัยตั้งถิ่นฐานอยู่ตรงบริเวณนี้หลายหลัง
อัตลักษณ์
“บ้านทรงจีน ตระกูลเลาหกุล” เป็นสถาปัตยกรรมโบราณแบบจีนมาลายู หรือที่สถาปนิกบางกลุ่มเรียกว่า “บ้านจินอกำปง” หรือ “บ้านจีนแบบชาวบ้าน” เป็นสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ผสมผสานความเชื่อแบบจีนและสถาปัตยกรรมแบบจีนกับศิลปะแบบมาลายู แสดงให้เห็นว่าอำเภอสายบุรีมีความเป็นสังคมพหุวัฒธรรมมาตั้งในสมัยอดีต
“บ้านทรงจีน ตระกูลเลาหกุล” เป็นบ้านชั้นเดียว ปูพื้นด้วยอิฐแดง หลังคาแบบหน้าจั่ว มุงด้วยกระเบื้องหางว่าวทำด้วยดินเผา แบบมาลายู ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ตะเคียนหิน เป็นไม้เนื้อแข็ง โดยใช้วิธีเข้าเดือยของไม้ ไม่มีการใช้ตะปูในการก่อสร้าง ประตูและหน้าต่างเป็นไม้ ๒ แผ่นปิดเข้าหากันโดยใช้กลอนไม้เข้าลิ้นในการล็อคประตู มีการฉลุลวดลายประตูและช่องลมด้วยลวดลายแบบจีน ตัวบ้านสร้างติดริมถนน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะของหน้าบ้านสร้างตามความเชื้อแบบจีน คือ หน้าบ้านเป็นประตูมังกร 1 ประตู 2 หน้าต่าง ลักษณะคล้ายหัวมังกร โดยเชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และแสดงถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ของเจ้าของบ้าน
๔. สาระคุณค่า
ปัจจุบัน บ้านทรงจีน ตระกูลเลาหกุล ได้มีการต่อเติมพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม แต่ยังคงรักษาตัวบ้านในส่วนเดิมไว้ เพื่อรักษา อนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณให้คงอยู่สืบไป โดยจะมีการเปิดบ้านเพื่อทำการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงเทศกาลตรุษจีน งานแห่พระประจำปี และวันเช้งเม้ง
ชื่อ-สกุล ผู้ให้ข้อมูลประกอบการรายงาน
-นายบรรจง เลาหกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเลาหกุล
- วิทยานิพนธ์เรื่องโครงการออกแบบเครื่องเรือนภายใต้แนวความคิดจากสถาปัตยกรรมบ้านทรงไทย โดย นางสาวธิดาลักษณ์ ภักดี :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
- เอกสารงานวิจัยสถาปัตยกรรมจีนในเมืองปัตตานี : วสันต์ ชีวะสาธน์
- เว็บไซต์: http://sohudasaiburi.blogspot.com/2017/09/blog-post.html