กะปิ เป็นเครื่องปรุงรสอย่างหนึ่งที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทย
มีกะปิมากมายหลายชนิดให้เลือกรับประทาน กะปิแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน ทั้งคุณภาพ วัตถุดิบ กรรมวิธีผลิต ตามแต่ท้องถิ่นนั้น ๆ โดยส่วนใหญ่ทำจากกุ้งเคย จึงทำให้มีการผลิตกะปิในหลาย ๆ แห่ง
ในพื้นที่ชายฝั่งติดกับทะเล
กะปิเป็นตำรับอาหารของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปัจจุบัน กะปิกลายมาเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอาหาร และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ จากการผลิตกะปิขาย การทำกะปิ ชาวบ้านจะใช้เครื่องมือ คือ สวิงไปช้อน หรือเอากระวักไปป้องซึ่งการช้อนตัวเคยด้วยสวิง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การฉก" เมื่อได้ตัวเคยมาแล้วก็นำไปล้างให้สะอาด ใช้แล่งซึ่งเป็นตะแกรงตาถี่ ๆ ร่อนตัวเคย โดยตัวเคยที่ละเอียดจะลอดตะแกรง ลงไปอยู่ข้างล่าง เหลือเศษใบไม้และเคยหยาบ กับสิ่งที่ไม่ต้องการอยู่ข้างบน จากนั้นก็นำไปใส่อ่างแล้วคลุกเคล้ากับเกลือในอัตราส่วนเกลือ 1 ส่วนต่อเคย 10 ส่วน นำไปตากแดดจัดๆ โดยต้องหมั่นกลับเอาข้างล่างขึ้นเพื่อให้ตัวเคยแห้ง 2-3 วัน
สำหรับกะปิในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีเป็นกะปิที่ทำมาจากปลาตัวเล็กๆ เรียกว่ากะปิมอญ โดยมีขั้นตอนวิธีการทำ คือ นำปลาตัวเล็กมาล้างให้สะอาด นำไปตากแดดให้แห้งและกรอบ หลังจากนั้น นำปลา
ที่ได้มาตำกับเกลือเม็ดให้ละเอียดจนเป็นเนื้อเดียวกัน เสร็จแล้วนำใส่ในไหหรือขวดโหลปิดฝาให้สนิทสามารถอยู่ได้นาน กะปิมอญจะมีลักษณะเนื้อหยาบและเป็นสีขาวกว่ากะปิที่ทำจากกุ้งหรือเคยของไทย บางครั้ง
ชาวไทยเชื้อสายรามัญจะเรียกว่า กะปิปลา
กะปิมอญเป็นวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งที่ชาวไทยเชื้อสายรามัญ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทำขึ้นสำหรับใช้ในการประกอบการทำอาหาร เช่น แกงต่าง ๆ ตำน้ำพริก เป็นต้น