วัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นโดยพระครูวรเวทย์วิสิฐ หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธมฺมชโย เจ้าอาวาสวัดทุ่งหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้เดินธุดงค์ปักกลดและพบบ่อน้ำทิพย์ ดังคำบอกเล่าของพระอธิวัฒน์ รตนวญโณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์
วัดแห่งนี้ภายในวิหารมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม ตามพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เมื่อครั้งพระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และเสด็จเยือนวัดแห่งนี้ ทอดพระเนตรเห็นสภาพความทรุดโทรมของวัดและฝาผนังวิหาร จึงมีพระดำริที่จะบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้น โดยทรงออกแบบการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารให้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานศิลปกรรมท้องถิ่นแบบล้านนา ภายในเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องพระมหาชนก จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจาก จิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม พระประธานที่ประดิษฐานภายในวิหารนั้นตือ“พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต”เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชร เกศบัวตูม ถอดรูปแบบจากพระเชียงแสน แบบสิงห์หนึ่ง ผสมผสานกับศิลปะแบบคุปตะของอินเดีย ทวาราวดี ศรีวิชัย และศิลปะหริภุญชัย ลำพูน ประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย เชิญอักษรพระปรมาภิไธย “ภปร” ประดิษฐานบนกลีบบัว ในตำแหน่งผ้าทิพย์ ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโดยมีความหมายว่า“พระพุทธปฏิมาที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ทรงสร้างขึ้น”เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระพุทธรูปพระองค์นี้เป็นผลงานการออกแบบจาก รศ.เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม)นอกจากนั้นวัดแห่งนี้ยังมีบ่อน้ำทิพย์ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นที่อยู่ของอุชุนาคราช ซึ่งมีกรรมมาแต่อดีต จึงต้องมาเป็นพญานาคสิงสถิต ณ ที่แห่งนี้ โดยบริเวณเนินเขามีน้ำซึมในดินไหลออกมาไม่ขาด ในอดีตชาวบ้านถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ หากอธิษฐานสิ่งใดก็สมดังปรารถนา ดังนั้นผู้คนผ่านไปมาหรือชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็พากันมาอธิษฐานที่นี่ เชื่อว่าหากดื่มน้ำจากบ่อน้ำทิพย์นี้ อาการทุเลาลงและหายจากโรคในที่สุดปัจจุบันบ่อน้ำทิพย์ไม่เคยแห้งลง แม้จะเป็นช่วงหน้าแล้งในเดือนเมษายนถึง เดือนพฤษภาคมก็ตาม ทุกวันนี้ชาวบ้านยังตักน้ำไปใช้ ซึ่งวัดธาราทิพย์ฯ เองก็ใช้น้ำจากบ่อน้ำทิพย์ทั้งอุปโภคและบริโภคเช่นกัน อีกทั้งทางวัดยังได้พัฒนาระบบประปา และไฟฟ้าส่องสว่างซึ่งชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงจะได้ใช้ประโยชน์นี้ร่วมกันด้วย รวมทั้งพัฒนาสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์