ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 52' 31.6617"
14.87546157836914
ลองจิจูด (แวง) : E 103° 27' 48.9606"
103.4636001586914
เลขที่ : 196199
โจลมะม้วต
เสนอโดย สุรินทร์ วันที่ 15 มีนาคม 2565
อนุมัติโดย mculture วันที่ 8 เมษายน 2565
จังหวัด : สุรินทร์
0 480
รายละเอียด

“โจลมะม้วต" หมายถึง พิธีกรรมการรักษาผู้ป่วยผ่านร่างทรง และถือเป็นพิธีกรรมหนึ่งในชุมชนเขมร ไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ แม้ว่าสังคมโลกจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปมากเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อใดมีใครคนใดคนหนึ่งในหมู่บ้านเกิดอาการเจ็บป่วยแบบไร้สาเหตุ วิธีการรักษาในทางวิทยาศาสตร์จนถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถรักษาได้ สิ่งสุดท้ายที่ทุกคนจะต้องนึกถึงก็คือ การถูกกระทำโดยอำนาจเหนือธรรมชาติ อำนาจที่มองไม่เห็น และคนป่วยอาจเคยกระทำการใด ๆ อันเป็นการล่วงเกินหรือทำให้อำนาจเหนือธรรมชาตินั้นๆ เกิดความไม่พอใจ จะโดยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม พิธีกรรม "โจลมะม้วต" จึงเสมือนเป็นสื่อกลางเพียงอย่างเดียวที่คนในชุมชนเขมรจะนำมาใช้ เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับอำนาจเหล่านั้นได้ สำหรับหาทางแก้ไขความผิดพลาดได้ทันท่วงทีและถูกทาง อาจโดยการขอขมาลาโทษหรือการทำสิ่งต่าง ๆ ตามที่ร่างทรง(แม่มะม้วต) ทำนายทายทัก ทำให้เห็นว่าแม้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์จะรุดหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่ความศรัทธาของคนในชุมชนเขมรที่มีต่อพิธีกรรมดังกล่าวก็ยังคงเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย

หมู่บ้านดงมัน เดิมเรียกเป็นชื่อภาษาเขมรว่า “เซราะ กูก ทะแม็ย” (บ้านโคกใหม่) บางทีเรียกว่า “เซราะ กูก ตันโลง” (บ้านโคกมัน) ต่อมามีนายบุตรซึ่งเป็นคนไทย-ลาว นายบุตรไม่สามารถพูดภาษาเขมรได้ เป็นคนต่างถิ่นที่มาอาศัยในหมู่บ้านดงมันจนมีภรรยาชื่อนางเปิว และมีลูกหลานหลายคน ขณะที่อาศัย

อยู่ในหมู่บ้านได้พยายามพูดภาษาเขมรแต่พูดไม่ชัดนัก จะพูดเพี้ยน และนายบุตรเป็นคนตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านดงมัน” เนื่องจากท้องถิ่นดังกล่าวมีการปลูกมันมาก แต่ชาวบ้านบางคนเรียก ดงมันบ้าง หรือโดนมันบ้างจนถึงปัจจุบัน “บ้านดงมัน” อยู่ในหมู่บ้านดงมัน ตำบลคอโค อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นหมู่บ้านที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทางด้านการแสดงพื้นบ้าน เช่น การละเล่นพื้นเมือง การขับเจรียง ร้องกันตรึม เรือมอัมเร
เรือมมะม้วต เป็นต้น

หมู่บ้านดงมัน ตำบลคอโค อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีด้านความเชื่อ พิธีกรรม การละเล่น และการแสดงศิลปะทางด้านดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้าน และมีการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน จนได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมของจังหวัดสุรินทร์ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์. ๒๕๕๔) นอกจากนี้หมู่บ้านดงมันยังเป็นศูนย์รวมการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ ดังเช่น พิธีกรรมโจลมะม้วต ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ
เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อโบราณที่ว่า ความเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำจากอำนาจสิ่งลี้ลับของภูตผีปีศาจ ความเชื่อเหล่านี้จึงมีผลต่อการทำพิธีกรรมเพื่อวิงวอนขอความช่วยเหลือโดยเชื่อว่าอำนาจลึกลับเหล่านี้
จะปกปักรักษาคุ้มให้ตนปลอดภัย และมีความสุข เมื่อพ้นภัยก็ยินดีแสดงความรู้คุณด้วยการเซ่นสรวงบูชาหรือ

ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ (จารุวรรณ ธรรมวัตร. ๒๕๔๐) จากความเชื่อและความศรัทธาที่มีมาอย่างยาวนาน เป็นที่พึ่งทางจิตใจในยามทุกข์ยากได้อย่างดีสำหรับชาวบ้านในชนบทโดยเฉพาะในแถบอีสานใต้ (ประกอบด้วย จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และบางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี) จึงได้มีกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านรวมตัวกันเพื่อพัฒนารูปแบบการแสดงโจลมะม้วต รวมทั้งการแต่งกายและอุปกรณ์การแสดง ทำให้กลุ่มวัฒนธรรมบ้านดงมันได้ถูกเชิญไปแสดงในหลายพื้นที่และในงานสำคัญต่าง ๆ ดังเช่น งานกาชาด งานช้างสุรินทร์ งานศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ซึ่งได้รับการตอบรับมากมาย เนื่องจากเป็นศิลปะการแสดงที่มีความงดงาม น่าตื่นเต้นและเร้าใจ ต่อมาในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงโจลมะม้วตโดยได้มีการเผยแพร่ในลักษณะของศิลปะการแสดง และผู้แสดงมีการแต่งกายใช้ผ้าไหมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ ได้มีการนำโจลมะม้วตมาแสดงเป็นศิลปะพื้นบ้านเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งวัฒนธรรมของชาวสุรินทร์ อีกทั้งได้นำศิลปการแสดงเรือมโจลมะม้วตไปแสดงอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชน เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงแนวคิดและขั้นตอนของการทำพิธีกรรมมะม้วตแล้ว จะเห็นว่าพิธีกรรมนี้ได้รวบรวมเอาลักษณะทางวัฒนธรรมไว้หลายด้านด้วยกัน การกำหนดขั้นตอนพิธีกรรม ผู้ประกอบพิธีกรรม เครื่องเซ่นบูชาครู การแต่งกาย ท่ารำ และดนตรี ตลอดจนผู้ร่วมในพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนยืนยันให้เห็นว่า พิธีกรรมมะม้วตนี้ถือเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมที่บ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ของหมู่บ้านหรือชุมชนได้อย่างชัดเจน ซึ่งนับว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าซึ่งควรแก่การอนุรักษ์และรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอด จึงสมควรได้รับการยกระดับโดยการเสนอขอ “โจลมะม้วต” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ดำรงคงอยู่กับชาวสุรินทร์และประเทศไทยสืบต่อไป

ในอดีตชุมชนหมู่บ้านชาวไทย-เขมรสุรินทร์ ต่างร่วมกันจัดงาน "พิธีกรรมโจลมะม้วต" ระหว่างหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวไปจนถึงก่อนฤดูการผลิตใหญ่ (ทำนา) เพื่อเป็นสิริมงคลและความสุขความเจริญในหมู่บ้าน กระทั่งเป็นประเพณีประจำปีของชุมชนสืบต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับพิธีกรรมมะม้วตของชาวขแมร์ (เขมร) สุรินทร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโจลมะม้วต คือ เรื่องการบูชาครูกำเนิด การรักษาผู้ป่วยและการเสี่ยงทาย พิธีกรรมมะม้วตแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ การเข้าทรงเพื่อทำนาย และรักษาความเจ็บป่วยเรียกว่า "บ็องบ็อด" และทำพิธีไหว้ครูประจำปี (การบูชาครู) เรียกว่า "มะม้วต" สำหรับโจลมะม้วตแบบบ็องบ็อด คือ ผู้ทำหน้าที่ร่างทรงจะเชิญเทพเทวดาอารักษ์มาเข้าร่างทรงนี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำนายและรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไปหรือคนเจ็บป่วย และทำพิธีช่วยเหลือชาวบ้านที่เข้ามาพึ่งพาตามความเชื่อในท้องถิ่น เมื่อคนร่างทรงจะทำพิธี "บ็องบ็อด" ก็จะเลือกดนตรี

แล้วแต่ว่าเทพองค์ใดจะโปรดดนตรีชนิดใด เช่น ดนตรีกันตรึม ส่วนพิธีไหว้ครูมะม้วต เพื่อทำหน้าที่ทำนายด้วยการเข้าทรงและรักษาความเจ็บป่วยให้แก่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านนั้น จะมีครูมะม้วตและบริวารมะม้วตมาทำพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลและความสุขความเจริญของคนในหมู่บ้าน โดยจะมีชาวบ้านเข้ามาช่วยเหลือกัน จัดปะรำพิธี เครื่องเช่นบูชาครูเครื่องดนตรีหรือวงกันตรึม จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อทำอาหารเลี้ยงคนที่มาร่วมพิธี จึงนับได้ว่าในพิธีกรรมดังกล่าวยังเป็นส่วนช่วยให้เกิดความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนอีกด้วย

รูปแบบ/ขั้นตอนปฏิบัติ ประกอบด้วย

๑. พิธีเซ่นไหว้เชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้มาร่วมพิธีกรรมโจลมะม้วต ถ้าไม่ได้ทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณก็จะไม่ลงมาประทับร่างทรงในช่วงประกอบพิธี หลังจากนั้นก็เซ่นไหว้ขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทางเพื่อให้การประกอบพิธีกรรมเป็นอย่างราบรื่นและสำเร็จด้วยดี

๒. พิธีเซ่นไหว้ครูดนตรี เพื่อให้การบรรเลงเพลงเป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีอะไรติดขัดตลอดระยะเวลาประกอบพิธีกรรม

๓. พิธีเปิดพิธีกรรมโจลมะม้วต เจ้าภาพผู้จัดพิธี มอบเครื่องบูชาแก่ร่างทรงวิญญาณปู่ตา
ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการเปิดงาน ต่อจากนั้น นักดนตรีก็จะเริ่มบรรเลงเพลงเพื่อเป็นการเอาฤกษ์ เอาชัย และบรรเลงเพลงเชิญวิญญาณปู่ตาให้เข้าประทับร่างทรง

๔. พิธีเข้าทรงของเจ้าภาพ และร่างทรงที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธี เจ้าภาพ คือ ผู้ป่วยที่จัดพิธีกรรมโจลมะม้วต การเข้าทรงของเจ้าภาพนั้นต้องเชิญวิญญาณบรรพบุรุษ (ครูมะม้วต) เข้ามาก่อนและตามด้วยครูกำเนิด เมื่อวิญญาณบรรพบุรุษ หรือครูมะม้วตประจำตระกูลเข้ามาประทับทรงเต็มรูปร่างแล้ว ก็ถามไถ่ถึงสาเหตุที่มาทำให้ลูกหลานเจ็บป่วย ถ้าครูมะม้วตเป็นผู้กระทำก็จะบอกสาเหตุ เช่น ลูกหลานไปกระทำผิดประเพณี ทำให้วิญญาณบรรพบุรุษเกิดความไม่พอใจ เป็นต้น เมื่อรู้สาเหตุแล้ว ก็ต้องถามว่าจะให้ทำอย่างไร ครูมะม้วตก็จะบอกวิธีการรักษาให้ เช่น ต้องทำพิธีเซ่นไหว้ขอขมา หรือไม่ก็บอกวิธีอื่น ๆ แต่ถ้าความป่วยไข้ไม่ได้เกิดจากครูมะม้วต ญาติ ๆ ก็ขอพรจากครูมะม้วต ถ้าครูมะม้วตประจำครอบครัวใดสามารถรักษาโรคได้
ก็จะทำการรักษาโรคให้

๕. พิธีเซ่นไหว้ปลมปลี พิธีนี้มีขึ้นในช่วงเวลาเที่ยงคืน เป็นการเซ่นไหว้เครื่องดนตรีและเสี่ยงทายว่าหลังจากประกอบพิธีกรรมโจลมะม้วตเสร็จแล้ว เจ้าภาพจะหายจากอาการป่วยไข้หรือไม่ การเสี่ยงทายนั้นทำได้โดยการดูลักษณะของลิ้นไก่ หรือบางที่เรียกกระดูกคางไก่ (เกียงเมือน) ถ้าลิ้นไก่อ่อนช้อยสวยงาม หมายถึง ผลที่ได้จากการประกอบพิธีกรรมนั้นดี เจ้าภาพที่ประกอบพิธีกรรมจะหายจากอาการป่วยไข้ แต่ถ้าลิ้นไก่ไม่สวยงาม ความป่วยไข้อาจจะไม่หายก็ได้

๖. พิธีลา เมื่อทำพิธีเข้าทรงต่อจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น การเชิญวิญญาณเข้าประทับร่างทรงของเจ้าภาพผู้จัดพิธี ถ้าสมาชิกในครอบครัวมีเท่าไรก็ต้องเชิญครูกำเนิด (ครูหรือเทวดาประจำตัวของทุกคน) เข้ามาให้ครบทุกคน เช่น ครอบครัวหนึ่ง มีสามี มีลูกสาว ๒ คน ลูกชาย ๓ คน เวลาเชิญครูกำเนิดเข้าประทับร่างต้องเชิญให้ครบ บางครั้งไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ขึ้นอยู่กับใครเข้ามาก่อนก็ไม่เป็นไร ในกรณีที่ครูกำเนิดกระทำให้ลูกหลายเจ็บป่วย ก็ขอวิธีรักษาจากครูมะม้วตอีกที หรือถามจากครูกำเนิดก็ได้ แต่ในกรณีที่ครูกำเนิดไม่ได้เป็นผู้ทำให้เจ้าตัวเจ็บป่วย ครูกำเนิดก็เป็นเพียงเข้ามาเพื่อความสนุกสนานได้ฟ้อนรำในพิธีกรรมด้วย

การรักษาอาการป่วยไข้ตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร แม้ว่าไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษาอาการป่วยไข้ให้หายจากโรคได้จริง แต่ก็มีส่วนทำให้อาการของผู้ป่วยนั้นดีขึ้นตามลำดับ และบางคนก็มีอาการหายจากป่วยไข้จริง จึงเป็นเครื่องยืนยันความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร ให้คงอยู่และการประกอบพิธีกรรมเพื่อการรักษานั้น ก็ยังปรากฏมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน วิธีการรักษาตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมร สังคมภายนอกอาจจะมองว่าเป็นวิธีการรักษาที่ล้าหลังไม่ทันสมัย เป็นความเชื่อที่งมงาย แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสการประกอบพิธีกรรมการรักษาแล้ว ทำให้อยากศึกษามากยิ่งขึ้น

พิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงแนวคิดและขั้นตอนของ การทำพิธีกรรมโจลมะม้วตแล้ว จะเห็นว่าพิธีกรรมนี้ได้รวบรวมเอาลักษณะทางวัฒนธรรมไว้หลายด้านด้วยกัน การกำหนดขั้นตอนพิธีกรรม ผู้ประกอบพิธีกรรมเครื่องเช่นบูชาครู การแต่งกาย ท่ารำ และดนตรี ตลอดจนผู้ร่วมในพิธีกรรมเหล่านี้ล้วนยืนยันให้เห็นว่าพิธีกรรมมะม้วตนี้ถือเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมที่บ่งขี้ถึงอัตลักษณ์ของหมู่บ้านหรือชุมชนได้อย่างชัดเจนนับว่า
เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าซึ่งควรแก่การส่งเสริมและรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบทอด

สถานะการขึ้นทะเบียน

โจลมะม้วตได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๒

สถานที่ตั้ง
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
เลขที่ 796
ตำบล นอกเมือง อำเภอ เมืองสุรินทร์ จังหวัด สุรินทร์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง สำนักงานวัฒนธรรม สุรินทร์ อีเมล์ surin@m-culture.go.th
ตำบล นอกเมือง อำเภอ เมืองสุรินทร์ จังหวัด สุรินทร์ รหัสไปรษณีย์ 32000
โทรศัพท์ 044511963
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่