มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พระคาถาฎีกาพาหุง
ธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ก่อนที่จะฉันภัตราหารในการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานราชพิธี รัฐพิธี และพิธีกรรมทั่วไป จะสวดคาถาพาหุงหรือถวายพรพระก่อนเสมอ และได้ถือปฏิบัติทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่วนอุบาสก อุบาสิกานิยมสวดทั่วไป โดยเฉพาะสวดมนต์ก่อนนอน เชื่อว่าจะประสบชัยชนะ สวัสดี และมีความเชื่อว่าบุคคลใดที่มีดวงชะตาชีวิตไม่ปกติ ก็จะสวดพระคาถาพาหุงเท่ากับจำนวนอายุหรือเกินกว่าอายุ 1 รอบก็จะทำให้พบกับความสวัสดีมงคล ซึ่งความเชื่อนี้มีความตั้งแต่สมัยโบราณ ต่อมาพระธรรมสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรีท่านรณรงค์พระคาถาพาหุงอย่างแพร่หลาย โดยมีการพิมพ์เอกสารบทคาถาพาหุงออกเผยแพร่เป็นจำนวนมาก
พระชัยมงคลคาถานี้ โดยเนื้อหาเพื่อให้ทราบถึงวิธีการที่สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเอาชนะพญามารและอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยพระบารมี มีทานบารมี ขันติบารมี เป็นต้น ชัยชนะเหล่านั้นคือ 1. ทรงชนะ พญาสวัตสวดีมาร 2. ชนะอาฬวกยักษ์ 3. ชนะช้างนาฬาคิรี 4. ชนะโจรองคุลีมาล 5. ชนะนางจิญจมาณวิกา 6. ชนะสัจจกนิครนถ์ 7. ชนะนันโทปนันทนาคราช และ 8.ชนะพกาพรหม ชัยชนะทั้งปวงของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นชัยชนะที่ไม่กลับมาพ่ายแพ้อีก ชนะด้วยพระบารมีธรรม มิทรงใช้ศาสตราวุธใดเลย
การบอกเล่าความหมายของพระชัยมงคลคาถานี้ก็เพื่อให้พุทธศาสนิกชนยึดถือวิธีการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นแบบอย่างในการต่อสู้ชีวิตด้วยความเพียรและความอดทน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต อีกทั้งพระคาถาฎีกาพาหุงเป็นบทสวดที่เป็นแรงบันดาลใจ เสริมสร้างกำลังใจ กำลังความคิด ในการประกอบความดีจนไปสู่บารมีธรรมที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ตามครรลองคำสอนในพระพุทธศาสนา โดยอ้างสัจวาจาในที่สุดแห่งคาถา ขอชัยมงคลจงปกปักรักษาคุ้มครองป้องกัน ให้บังเกิดความสวัสดี
มีความเชื่อกันว่าพระคาถาฎีกาพาหุงเกิดครั้งแรก ณ เมืองพิษณุโลก ในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 8 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระชันษา 15 พรรษา ได้เสด็จขึ้นมาครองเมืองพิษณุโลก ในตำแหน่งพระมหาอุปราช ทรงพระนามว่า “พระราเมศวร”เสด็จครองเมืองพิษณุโลกได้ 2 ปี พระชันษา 17 พรรษา ทรวงเสวยราชสมบัติสืบสันติวงศ์จากพระราชบิดา ณ กรุงศรีอยุธยาได้ 15 ปี ต่อมาทรงเปลี่ยนราชธานีขึ้นมาประทับ ณ เมืองพิษณุโลก ตั้งแต่ปีมะแม จุลศักราช 825 ตรงกับพุทธศักราช 2006 ครองสิริราชสมบัติอยู่ต่อเนื่องจนเสด็จสวรรคต ณ เมืองพิษณุโลกนั้น เป็นระยะเวลา 25 ปี รวมทรงครองสิริราชสมบัติทั้งสิ้น 40 ปี
ระหว่างที่เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับ ณ เมืองพิษณุโลก ในปี พ.ศ.2006 นั้น ปรากฏมีพระมหาพุทธสิริเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์รูปหนึ่งในจำนวนหลายรูปของพระองค์ ได้รจนาคัมภีร์ฎีกาพาหุง เพื่อสรรเสริญชัยชนะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าพระมหาเถระรูปนั้นน่าจะรจนาขึ้น ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อันเป็นพระอารามหลวงกลางใจเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นพุทธสถานอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ที่สร้างมาแต่ครั้งสุโขทัย โดยพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์พระร่วง ราวปี พ.ศ. 1900 นั้น
คัมภีร์ฎีกาพาหุง จึงนับว่าเป็นผลงานชั้นเอกอุชิ้นหนึ่ง ที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก โดยมีพระมหาพุทธสิริเถระ เป็นประธานในการรจนาขึ้น ณ แผ่นดินเมืองพิษณุโลกนั้น คัมภีร์ฎีกาพาหุง ประพันธ์เป็นคาถาลักษณะฉันท์ ชื่อ วสันตดิลกฉันท์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พุทธชัยมงคลคาถา” มีทั้งหมด 8 คาถา อันกล่าวถึงชัยชนะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จำนวน 8 ครั้งสำคัญ
งานพิธีกรรมทางศาสนาพุทธในส่วนของศาสนพิธีเบื้องต้น ก็มักจะสวดพระคาถาพาหุงเพื่อบูชาพระรัตนตรัย สมาทานศีลก่อนเสมอ แม้แต่งานรัฐพิธีของส่วนราชการถือปฏิบัติดังกล่าวมา ไปต้นถึงงานราชพิธีของหลวงก็เช่นกัน จึงกล่าวได้ว่าคาถาพาหุงหรือที่เรียกว่าถวายพรพระ เป็นบทสวดเบื้องต้นที่พุทธศาสนิกชนทุกคนต้องจำให้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่เคยบวชเรียนในพระพุทธศาสนา จึงนับได้ว่าคาถาพาหุง ซึ่งมีเรื่องราวแต่งขยาย ที่เรียกว่าฎีกาพาหุงมีอิทธิพลต่อจิตใจของพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะในประเทศไทยมากว่า 500 ปี
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกจึงมีมาตรการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่คาดว่าจะดำเนินการในอนาคตด้วยการถ่ายทอดประวัติความเป็นมา ประโยชน์ของคาถาฎีกาพาหุง รวมถึงสอนให้ศาสนิกชนได้สวดคาถาฎีกาพาหุงเป็นทุกคนจัดให้มีการส่งเสริมจากศาสนสถาน เช่น วัด อาจรณรงค์ให้พุทธศาสนิกชนสวดคาถาฎีกาพาหุง หรือให้สถานศึกษาจัดให้มีการสวดมนต์ทุกสุดสัปดาห์ เหมือนอดีตที่เคยปฏิบัติกันมา
ปัจจุบันนี้การสวดคาถาพาหุงหรือที่เราเรียกว่าสวดถวายพรพระยังคงปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตาม ศาสนสถานต่าง ๆ ทุกวันพระ และมีธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ก่อนที่จะฉันภัตราหารในการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็นงานราชพิธี รัฐพิธี และพิธีกรรมทั่วไป จะสวดคาถาพาหุงหรือถวายพรพระก่อนเสมอและได้ถือปฏิบัติทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ในจังหวัดพิษณุโลกมีผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาพระคาถาฎีกาพุงหลัก ๆ อยู่จำนวน ๔ คน ได้แก่ นายร้อยแก้ว สายยิ้ม ปราชญ์ชาวบ้านที่ศึกษาเรื่องพระคาถาฎีกาพาหุงมาเป็นอย่างยาวนานกว่า ๑๐ ปี ผ.ศ.สุพจน์ พฤกชะวันผู้ทรงคุณวุฒิสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก นางเปรมฤดี ชามพูนทประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก และพระครูโสภณธรรมวิภัชผู้ช่วยเจ้าอาวาสฝ่ายการเผยแพร่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร