ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 16° 50' 3.2654"
16.8342404
Longitude : E 100° 26' 22.7616"
100.4396560
No. : 196223
มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี)
Proposed by. พิษณุโลก Date 17 March 2022
Approved by. พิษณุโลก Date 22 September 2022
Province : Phitsanulok
0 498
Description

พระพุทธรูปเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเคารพ ความศรัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ศิลปะงานสร้างพระพุทธรูปนั้นมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การทำจิตใจให้สะอาด บริสุทธิ์ ผสมผสานความใส่ใจในการสร้างผลงานทุกชิ้น ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างพิถีพิถัน การใส่ใจทุกรายละเอียดนั้นยิ่งทำให้งานสร้างพระพุทธรูปออกมามีลักษณะเหมือนจริงและโดดเด่น ดึงดูดความสนใจต่อผู้ที่มาพบเห็น

หากพูดถึงพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นหนึ่งในเมืองไทย คงต้องนึกถึง “พระพุทธชินราช”ที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นศูนย์รวมจิตใจ ทั้งยังเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของพุทธศาสนิกชนชาวพิษณุโลก ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมืองพิษณุโลก ในฐานะที่สังคมไทยเป็นสังคมเมืองพุทธ ชาวไทยมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน พระพุทธรูปจึงเปรียบเสมือนรูปที่สร้างขึ้นแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบไหว้บูชา เป็นหัวใจของศิลปวัตถุทางศาสนา ดังนั้น การหล่อพระพุทธรูปจึงเปรียบเสมือนการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไป

โรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี) ตั้งอยู่ที่ ๒๖/๔๓ วิสุทธิกษัตริย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก พิษณุโลก เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมด้านงานช่างฝีมือดั้งเดิม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยจ่าสิบเอก ทวี บูรณเขตต์ เพชรน้ำงามแห่งวงการช่างศิลป์ ผู้บุกเบิกการหล่อพระพุทธรูปเป็นแห่งแรกของจังหวัดพิษณุโลก

เส้นทางการหล่อพระพุทธรูปของลุงจ่าเริ่มต้นจากคุณพ่อคุณแม่ของลุงจ่า ที่ประกอบอาชีพรับจ้างและเป็นช่างศิลป์ เมื่อครั้งลุงจ่าจบการศึกษาจากชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ได้มีโอกาสเป็นลูกมือช่างศิลปะจนอายุได้ ๒๓ ปี และได้ต่อยอดความรู้ด้วยการสมัครเป็นทหาร ในตำแหน่งช่างวาดเขียน จนได้รับยศเป็นสิบตรีประจำกองทัพภาคที่ ๓ นอกจากนี้ เมื่อกองทัพภาคที่ ๓ ต้องการช่างสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ลุงจ่ายังได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ด้านศิลปะด้วยการศึกษาวิธีการปั้นและการหล่อโลหะกับ อ.ศิลป์ พีระศรี อ.เขียน ยิ้มศิริ อ.สนั่น ศิลากรอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นได้สมรสกับป้าพิมพ์และยังคงรับทำงานศิลป์ต่าง ๆ คุณลุงจ่าที่เล็งเห็นถึงความสำคัญงานศิลปะและความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงริเริ่มนำญาติ ๆ รวมไปถึงชาวบ้านนับร้อยคนมาฝึกงานช่างหล่อ และก่อร่างสร้างเป็นโรงหล่อพระบูรณะไทยจนถึงทุกวันนี้

ในโรงหล่อจะมีรูปภาพและข้อมูลการให้ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธรูปสมัยและปางต่างๆ และเต็มไปด้วยหุ่นพระพุทธรูปทั้งเล็กและใหญ่ มีกองอิฐ ดิน เทียน วัสดุต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบในการหล่อเก็บไว้เป็นสัดส่วนคนงานฝึกใหม่ก็เริ่มจากผสมดิน ดัดเหล็กขึ้นรูปหุ่นพระ หล่อปูนปาสเตอร์ ไปจนกระทั่งเททองและขัดองค์พระ โดยขั้นตอนหล่อพระพุทธรูป มีดังนี้ ๑. เทขี้ผึ้งร่อนลงไปในแม่พิมพ์ ๒. ได้เป็นพระพุทธรูปขี้ผึ้ง ๓. ตอกตะปูตามจุดต่าง ๆ ๔. หุ้มด้วยส่วนผสมปูนปลาสเตอร์ ทรายและน้ำ ๕. ใช้ลวดพันให้แน่น ๖. หุ้มดินนอกและทำปากจอก ๗. นำไปเข้าเตาเพื่อให้ขี้ผึ้งไหลออกให้หมด และจะเกิดช่องว่างในแม่พิมพ์ ๘. เทส่วนผสมของน้ำโลหะเข้าไปแทนขี้ผึ้ง ๙. ทุบดินออกให้หมดจะได้พระพุทธรูปโลหะ จากนั้นนำมาขัดและตกแต่ง ๑๐. โป๊วสีและใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบ ๑๑. นำไปลงรักปิดทอง ๑๒. สำเร็จเป็นพระพุทธรูป

คุณลุงจ่าทวีท่านได้สร้างคน สร้างงานช่างหล่อให้กับท้องถิ่นจนสามารถนำความรู้ไปก่อตั้งโรงงานหล่อพระขึ้นนับสิบโรงจนเป็นเอกลักษณ์ในทางด้านพุทธศิลป์ของจังหวัดพิษณุโลกอีกต่อหนึ่ง ทั้งยังได้อนุรักษ์รูปแบบ และแนวปฏิบัติในการหล่อพระแบบดั้งเดิม เน้นผลงานที่มีคุณค่า มีความละเอียด สวยงาม ทำงานด้วยใจ ไม่ใช่เชิงธุรกิจและได้เปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนทดลองปฏิบัติงาน การหล่อพระพุทธรูปได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งถือเป็นการสร้างคน สร้างงานช่างหล่อให้กับท้องถิ่นจนสามารถนำความรู้ไปก่อตั้งโรงงานหล่อพระขึ้นนับสิบโรงหล่อ จนเป็นเอกลักษณ์ในทางด้านพุทธศิลป์ของจังหวัดพิษณุโลก ทำให้ในแต่ละวันจะมีผู้มาเยือนโรงหล่อพระพุทธรูปของ จ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ค่อนข้างมาก มีทั้งชาวต่างประเทศ ทั้งผู้มาศึกษาหาความรู้ ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาจากโรงเรียนและสถาบันต่างๆ ทั้งนี้โรงหล่อพระบูรณะไทยยังได้บูรณาการความร่วมมือกับเทศบาลนครพิษณุโลก ในการดำเนินโครงการมัคคุเทศก์น้อย โดยใช้พื้นที่พิพิธภัณฑ์จ่าทวีและโรงหล่อพระเป็นสถานที่จัดกิจกรรม

เนื่องจากปัจจุบันโรงหล่อพระบูรณะไทยมีผู้สืบทอดคือคุณธรรมสถิตย์ บูรณเขตต์ ได้มีการถ่ายทอดความรู้ไปยังบุตรหลานของช่างหล่อที่ทำงานอยู่ ณ โรงหล่อบูรณะไทย ตลอดจนผู้ที่สนใจ แต่มีกลุ่มคนบางส่วนได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอด ไปก่อตั้งโรงหล่อพระและดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง โดยไม่ให้ความใส่ใจในเรื่องของคุณภาพ และจรรยาบรรณในการทำงานเท่าที่ควรทำให้โรงหล่อพระบูรณะไทยมีความเสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลกจึงมีมาตรการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่คาดว่าจะดำเนินการในอนาคตด้วยการพัฒนาโรงหล่อพระให้เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวของจังหวัด และจัดทำข้อมูล องค์ความรู้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

Location
Province Phitsanulok
Details of access
Reference สวจพล พล Email plk.culture@gmail.com
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่