ความสำคัญทางประวัติศาสตร์
วัดสุนทราวาส เดิมเรียกว่า วัดปลายนา หรือวัดชายนา ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหัวสนทรา หรือ วัดสนทรา เพื่อให้สอดคล้องกับนิทานเรื่องนางสิบสองที่ว่า เมื่อนางสนทราตายแล้ว ได้นำศพมาทิ้งไว้ที่วัดนี้จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสุนทราวาส” อีกกระแสหนึ่งเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่า มีชายคนหนึ่งได้ขุดสระน้ำขึ้นที่บ้านสุนทรา เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำ พร้อมกับได้สร้างวัดขึ้น คือ วัดสุนทราวาส
ในเอกสารเรื่องจังหวัดพัทลุงของหน่วยศึกษานิเทศก์จังหวัดพัทลุง ได้กล่าวว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒0๑๕ และตามทำเนียบวัดของพระครูอริยสังวร (เอียด) ว่าวัดนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๒๘๕ แต่หลักฐานเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นศิลปะ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเท่านั้น
โบราณสถาน/โบราณวัตถุ/จุดเด่น
๑. อุโบสถเดิมอุโบสถสร้างด้วยไม้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ ได้บูรณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนกว้าง ๖.๘๗ เมตร ยาว ๘.๙๗ เมตร ใช้เวลาสร้าง ๑๒ ปี
ได้ทำการฉลองในปีฉลู เบญจศก พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบการสร้างอุโบสถหลังนี้ด้วย และยังได้รับการอุปถัมภ์จากพระยาพัทลุง (จุ้ย) อีกด้วย ลักษณะอุโบสถเป็นศิลปะแบบจีนคล้ายกับวัดพิเรนทร วัดมหรรณพารามและอุโบสถวัดหงส์รัตนราม กรุงเทพ ฯ ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้า ๑ ประตู ฐานอุโบสถโดยรอบมีเสารูปสี่เหลี่ยมรองรับปีกชายคา ๑๘ เสา มีหน้าต่างด้านละ ๓ ช่อง เหนือประตูและหน้าต่างมีปูนปั้นลายพรรณพฤกษา คล้ายกับวัดวัง และวัดยางงามหน้าอุโบสถทั้งด้านหลัง มีลวดลายปูนปั้นรูปกนกทันหน้าชนกัน ประกอบด้วยลายดอกไม้ ใบไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เหนือหลังคาประดับด้วยรูปสิงห์โตจีนเคลือบเขียวสองตัว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย จำนวน ๓ องค์ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พ.ศ. ๒๓๘๕
๒. พระพุทธรูปที่สำคัญได้แก่ พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทรทรงเครื่อง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หล่อสำริด สูง ๑.๕- เมตร ฝีมือช่างกรุงเทพ ฯ สมัยรัชกาลที่ ๓ เดิม ประดิษฐานอยู่ในภายในอุโบสถ ทางวัดเห็นว่าไม่ปลอดภัยจึงนำมาเก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปูนปั้นและพระพุทธรูปจำหลักด้วยงาช้าง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์อยู่ด้วยหลายองค์
การเดินทาง
เดินทางจากศาลากลางจังหวัดพัทลุง โดยใช้ถนนหมายเลข ๔๐๔๘ ถนนหมายเลข ๔๐๐๙ ทางต่อไปบนถนนหมายเลข ๔๐๑๙ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๒๑.๙ กิโลเมตร