ที่มาของคนลาวเวียง ย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี คนลาวเวียงอพยพมาจากเวียงจันทน์ มาพร้อมกับพระแก้วมรกต การมีรากเหง้าทำให้คนที่นี่ยังสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไว้ อาชีพแต่ดั้งเดิมมาคือการทอผ้าหางกระรอก ปัจจุบันมีการฟื้นฟูอัตลักษณ์เรื่องการแต่งกาย ภาษาถิ่น การละเล่นต่างๆ
คุณสตราวุฒิเล่าว่า สมัยรุ่นทวดขึ้นไป วิถีชีวิตชาวบ้าน หลังการทำนา ผู้หญิงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผู้ชายจักสาน พอถึงหน้าแล้งไม่มีอาหารจะบริโภคในครัวเรือน มีก็แต่ผ้าไหมที่ทอเอาไว้เก็บอยู่ในหีบเป็นจำนวนมาก จึงนำผ้าไหมไปแลกของกับคนจีนในตลาด คนจีนเขาก็นำผ้าไหมไปจำหน่าย ต่อมาผ้าไหมติดตลาด ชาวบ้านปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไม่ทันและไม่พอแก่ความต้องการ เขาก็จะหาซื้อเส้นไปมาให้ทอ อย่างทอได้ 6 ผืน เจ้าของเส้นไหมจะได้ผ้า 4 ผืน ชาวบ้านจะได้ 2 ผืน ทำอย่างนี้เรื่อยมาจนมาถึงรุ่นยาย คนทอผ้าเริ่มมีทุนจึงซื้อไหมมาทอเองแล้วส่งขาย งานประเพณีที่ได้ฟื้นฟูขึ้นมานอกจากการแต่งกายก็มี รำนางด้ง สมัยโบราณมีการรำนางด้งในวันสงกรานต์เดือนห้า นางด้งจะเป็นการเสี่ยงทายฟ้าฝน รำเดือนห้ายังเป็นการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ถูกใจปฏิพัทธ์รักใคร่กัน เดือน 12 แต่งงาน ถ้าใครยังไม่ได้คู่ปีหน้าเดือนห้าก็มารำใหม่ อีกหนึ่งพิธีกรรมของชาวไทยเวียงที่ยังนับถือปฏิบัติคือ การเลี้ยงผีประจำตระกูล พิธีจะเริ่มตั้งแต่เดือนหกขึ้นไป การเลี้ยงผีจะยึดถือตามฝ่ายหญิงคือ การแต่งงานเป็นการแต่งลูกเขยเข้าบ้าน แต่ละตระกูลจะถือไม่เหมือนกัน บางตระกูลถือธรณี บางตระกูลถือเทวดา โดยจะมีเรือนเจ้าโคตรอยู่หนึ่งเป็นผู้รักษาผี ในการเลี้ยงอย่างผีธรณี มีขันห้าผ้าขาววาดอกไม้ธูปเทียนขนมหวาน ยกขันด้วยกัน ผูกข้อไม้ข้อมือ