ในอดีตรำกะเหรี่ยงกระทบไม้ ชาวกะเหรี่ยงจะเล่นในงานศพเพื่อส่งดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตเท่านั้น เพราะชาวกะเหรี่ยงนับถือผี การกระทบไม้ถือเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ใช้เรียกวิญญาณของผู้ตายในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับส่งดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตให้ไปสู่สรวงสรรค์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทบไม้ ประกอบด้วย ไม้ไผ่ลำยาวจำนวน ๒๔ ลำ ไม้ไผ่หรือไม้อะไรก็ได้สำหรับทำเสาตั้งสำหรับแขวนตะกร้า จำนวน ๑ ลำตะกร้าที่สานจากไม้ไผ่ จำนวน ๑ ใบ สวิงหรืออุปกรณ์สำหรับตักวิญญาณ กล้วยน้ำว้าดิบ จำนวน ๑ ลูก เสื้อผ้าของใช้ของผู้ตาย ผู้ที่ทำหน้าที่กระทบไม้ จำนวน ๑๒ คน ผู้ทำพิธีเรียกวิญญาณ จำนวน ๑ คน และญาติของผู้ตาย จำนวน ๑ คน ทำหน้าที่โยนกล้วยซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณของผู้ตาย เมื่อผู้ตายเสียชีวิตครบ ๗ วัน จะเริ่มทำพิธีกระทบไม้ โดยพิธีจะเริ่มเวลาบ่ายโมง คนที่กระทบไม้ จำนวน ๑๒ คนจะจับคู่กันเป็น ๖ คู่ โดยแต่ละคู่ จะถือปลายกระบอกไม้ไผ่หัวท้ายคู่ละ จำนวน ๒ ลำ นั่งตรงข้ามกัน จำนวน ๓ คู่แรก จะวางไม้ไผ่ด้านล่าง อีก ๓ คู่ต่อมา จะวางไม้ไผ่ด้านบน ลักษณะเป็นตาราง บริเวณตรงกลางของพื้นที่วางไม้ไผ่ จะปักเสาไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ จำนวน ๑ ต้น ผู้ที่ประกอบพิธีเรียกวิญญาณจะยืนอยู่บริเวณนั้น พร้อมตะกร้าที่เตรียมไว้ใส่วิญญาณ และสวิงสำหรับซ้อนวิญญาณ
ปัจจุบันกะเหรี่ยงได้เปลี่ยนจากการนับถือผี เป็นนับถือศาสนาพุทธ หรือศาสนาคริสต์ รำกะเหรี่ยงกระทบไม้ จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการแสดงไม่มีการร้องโต้ตอบระหว่างหญิง-ชายแต่เป็นการแสดงท่าทางประกอบเพลงโดยมีวัตถุประสงค์ในการแสดง ๓ ลักษณะ คือ
๑) เพื่อถ่ายทอดและบอกเล่าขั้นตอนกระบวนการทำไร่แบบเศรษฐกิจพอเพียงของบรรพบุรุษสู่รุ่นต่อมา
๒) เพื่อให้ความบันเทิงในงานรื่นเริงต่าง ๆ
๓) เพื่ออนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมให้คงอยู่
ลักษณะและเนื้อหาของการแสดงเป็นการบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีการถ่ายทอดผ่านลำไผ่ คำร้องและท่วงท่าบ่งบอกถึง การประกอบอาชีพ ทำไร่ เริ่มตั้งแต่การเข้าไปสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกข้าวไร่ ดูฤกษ์งามยามดีในการเข้าถางหญ้า และวิธีการกำจัดวัชพืชแบบธรรมชาติปราศจากสารเคมี การปลูกเมล็ดข้าว จะปลูกผสมผสานเมล็ดพริก แตงโม แตงเปรี้ยว แตงไทย มันแกว ข้าวโพด ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ถั่ว พืชผักต่าง ๆ มีกินตลอดทั้งปี การเก็บเกี่ยวข้าว การฟาดหรือนวดข้าวสมัยก่อนจะมีการลงแขก มีการเลี้ยงอาหารกัน ร้องเพลงจีบกันบ้างด้วยความสนุกสนาน คัดแยกเมล็ดข้าวเปลือกที่สมบูรณ์นำมาใส่ยุ้งข้าว จัดงานทำบุญขอบคุณพระแม่โพสพ ฯลฯ เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงรำกะเหรี่ยงกระทบไม้มีหลายชนิด สำหรับการแสดงของโรงเรียน บ้านไร่ป้า ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จะใช้ไม้ไผ่ลำยาว จำนวน ๑๔ ลำ ใช้สำหรับกระทบกันให้เกิดจังหวะ และมีผู้แสดง จำนวน ๒๐ คน นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดง ดังนี้ เคียวเกี่ยวข้าว จำนวน ๔ เล่ม มีด จำนวน ๔ เล่ม ตะกร้า จำนวน ๔ ใบ ไม้นวดข้าว จำนวน ๔ อัน ไม้ตำข้าว จำนวน ๔ อัน และกระด้ง จำนวน ๔ ใบ รูปแบบการแสดงจะประกอบด้วยท่าการรำ จำนวน ๑๒ ท่า คือ
ท่าที่ ๑-๒ เข้าป่าดูทำเลพื้นที่ทำไร่
ท่าที่ ๓ เข้าไปฟันไร่
ท่าที่ ๔ ผู้หญิงไปเก็บกองหญ้าเศษไม้ที่ตากแห้งกองรวมกันเพื่อทำการเผา
ท่าที่ ๕ ผู้ชายขุดหลุมปลูกข้าว ผู้หญิงหยอดข้าว
ท่าที่ ๖ ถางหญ้า
ท่าที่ ๗ เกี่ยวข้าว
ท่าที่ ๘ นวดข้าว
ท่าที่ ๙ การร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน
ท่าที่ ๑๐ ฝัดข้าวเพื่อคัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ไว้กิน
ท่าที่ ๑๑ นำข้าวสารไปใส่ยุ้งข้าวไว้กินตลอดฤดูฝนของการทำไร่
ท่าที่ ๑๒ หลังจากทำไร่แล้ว มีการทำบุญ งานรื่นเริงในงานเทศกาลโอกาสต่าง ๆ เรียบง่ายตามสภาพ