ช่วงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่มีการเกี่ยวข้าวของชาวกะเหรี่ยงที่ทำไร่ทั้งบนภูเขาและพื้นที่ราบเป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำไร่หมุนเวียนมานานนับร้อยปี โดยทำได้แค่ปีละครั้งต้องอาศัยน้ำจากน้ำฝนในช่วงฤดูฝนเป็นหลักพอหมดฝนก็เตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตจากท้องไร่ท้องนา พอเกี่ยวข้าวเสร็จจะมีการจับข้าวที่เกี่ยวมัดกับตอกเป็นกำ ๆ แล้ววางตากไว้ที่ในข้าวที่เกี่ยวข้าวไป แล้วค่อยรวบรวมเก็บมากองเป็นจุดเดียวกัน ปล่อยตากแดดสักวันสองวัน แล้วค่อยทำการฟาดข้าวในช่วงเวลากลางคืนเพื่อจะได้ไม่ร้อนชาวกะเหรี่ยงจะทำแคร่ยกพื้นขึ้นมาด้วยไม้ไผ่เพื่อง่ายต่อการยืนฟาดข้าวได้โดยจะรองพื้นด้วยผ้าหรือมุ้งไนล่อนสีฟ้าเพื่อเก็บเม็ดข้าวเปลือกที่ถูกฟาดบนแคร่ แล้วจะทำการเก็บเศษฟางที่มาจากการฟาดในแต่ละครั้ง เมื่อฟาดข้าวจนหมดแล้วเก็บเศษฟางที่ค้างอยู่ แล้วค่อยเก็บปิดไว้ให้มิดชิดเพื่อตวงใส่ถัง แล้วนับจำนวนที่ได้ทั้งหมดในเช้าวันต่อมา หลังจากนั้นค่อยใส่ถุงปุ๋ยกลับไปเก็บในยุ้งฉาง ที่บ้านต่อไป หากต้องการกินก็แค่นำไปตากแดดก่อนแล้วนำไปตำหรือไปสีส่วนหนึ่งจะนำไปทำบุญข้าวใหม่ให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน รวมทั้งการหุงข้าวใหม่เพื่อใส่บาตรพระสงฆ์
ประเพณีฟาดข้าว เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณของชาวกะเหรี่ยง ในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จะมีการจัดงานประเพณีฟาดข้าวระดับตำบลทุกปี คือ จะมีหนึ่งหมู่บ้านในตำบลจะเป็นเจ้าภาพจัดงานโดยมีการเลือกไร่ที่เหมาะสม อยู่ใกล้แม่น้ำหรือติดห้วยเพื่อสะดวกในการใช้น้ำ ทำเป็นโรงทานให้กับผู้มาร่วมงาน สำหรับการจัดงานประเพณีฟาดข้าวทุก ๆ ปี เป็นการสืบสานประเพณีการใช้ชีวิตที่อิงอาศัยกับป่า สำนึกในคุณธรรมชาติ สำนึกในพระคุณของแม่โพสพที่ช่วยดูแลต้นข้าวให้ชาวกะเหรี่ยง และการเอาแรงช่วยกันอีกทั้งมีการละเล่นที่เพิ่มเติมเข้ามาสร้างสีสันให้งานอีกด้วย
โดยแรกเริ่มงานในเวลาตอนเย็น จะมีการยกเสาไม้ไผ่ที่ห้อยพันธุ์เมล็ดข้าวที่ไว้สำหรับเป็นพันธุ์ที่จะทำการเพาะปลูกในปีถัดไปปล่อยลอยลงมาตรงกับแคร่ในลานฟาดข้าว จากนั้นก็จะมีพิธีสงฆ์ มีการขอศีล อาราธนาธรรม และการเจริญพระพุทธมนต์เย็นจากคณะสงฆ์ หลังจากนั้น เจ้าของไร่ที่เป็นสามีภรรยาก็มาจุดเทียนไหว้พระแม่โพสพที่ต้นเสาไม้ไผ่ที่ห้อยเมล็ดพันธุ์ข้าวและจุดเทียน ๓ เล่มบนแคร่ ก่อนจะทำการฟาดข้าวลงไป พร้อมทั้งกล่าวคำอธิษฐานให้ได้ข้าวเปลือกมาก ๆ ในปีนี้ จนครบ ๓ รอบ จากนั้นก็เริ่มมีการเชิญชวนให้ผู้มาร่วมงานได้มาฟาดข้าวโดยจะมีการแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ตัวแทนฝ่ายชายและตัวแทนฝ่ายหญิง จะมีครูเพลงทั้ง ๒ ฝ่าย เพื่อเป็นต้นเสียงให้กับผู้มาร่วมฟาดข้าวในลานฟาดข้าว โดยจะเริ่มที่ฝ่ายหญิงก่อนเป็นฝั่งเปิดงานการฟาดข้าวเมื่อต้นเสียงเพลงมา คนที่ร้องตามก็จะถือรวงข้าวกันคนละมัด ๒ มัด เดินร้องเพลงตามต้นเสียงครูเพลง แล้วเข้าไปล้อมที่แคร่ฟาดข้าว ร้องเพลงด้วย ฟาดข้าวด้วย และหมุนวนไปจนรอบแคร่ แล้วเดินกลับไปนั่งที่เดิมหน้ากองข้าวจากนั้นครูเพลงฝ่ายชายก็จะขึ้นเพลงแก้ให้ลูกทีม ร้องเป็นต้นเสียงพร้อมกับถือรวงข้าวมาที่แคร่พร้อมฟาดข้าวลงไป และหมุนตามแคร่ จนเม็ดข้าวร่วงหมด สลับเวียนกันไปเรื่อยๆ ระหว่างฝั่งชายกับหญิง ครูเพลงก็ต้องคิดเนื้อเพลงโต้ตอบกันไปมาจนกองข้าวในลานฟาดข้าวหมด ระหว่างที่กองข้าวลดลงได้ครึ่งหนึ่ง เจ้าของไร่สามีภรรยาก็มาทำพิธีจุดเทียนบนแคร่ แล้วฟาดข้าวอีก ๓ รอบ ก่อนให้ผู้มาร่วมงานได้มาฟาดกันต่อ จนกองข้าวใกล้จะหมด เจ้าของไร่สามีภรรยาก็มาทำพิธีครั้งสุดท้ายอีกครั้งโดยจุดเทียน ๓ เล่มบนแคร่ และฟาดอีก 3 รอบ หรือฟาดต่อจนหมด ก็ถือว่าเสร็จพิธีเก็บกวาดเศษฟางให้ลดลงไปจนสะอาดขึ้น แล้วหาผ้าใบมาปิดไว้ ก่อนที่เปิดลานการละเล่นต่อไป การละเล่นมีหลายการละเล่นด้วยกันเช่น มวยปล้ำบันไดลิง และไต่เสาน้ำมัน โดยจะมีรางวัลแขวนไว้ที่ด้านบนใครขึ้นไปได้ก็จะได้รางวัลเหล่านั้น ทั้งขนมและเงิน และกิจกรรมสุดท้าย คือ การทำต้นผ้าป่าเพื่อถวายให้ทางวัดในรุ่งเช้าของอีกวันชาวบ้านก็นำไปถวายภัตตาหารเช้า ถวายต้นผ้าป่า รับพร และกรวดน้ำและในเดือนถัดไปก็จะมีการทำบุญข้าวใหม่ที่วัดอีกครั้ง
งานประเพณีฟาดข้าวจะจัดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคมของทุก ๆ ปี แต่ละปีจะจัดขึ้นโดยสลับสับเปลี่ยนสถานที่จัดงานหมุนเวียนวนไปในทุกหมู่บ้านของตำบลไล่โว่ ซึ่งมีอยู่ ๖ หมู่บ้าน ได้แก่บ้านเสน่ห์พ่อง, บ้านกองม่องทะ,บ้านเกาสะเดิ่ง,บ้านไล่โว่, บ้านจะแกและบ้านทิไล่ป้า