ผ้าไหมแพรวา
ผ้าแพรวา นับเป็นผ้าไทยอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้นิยมผ้าไทย ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ที่มีการทอผ้าไหมแพรวาที่งดงาม และมีชื่อเสียงระดับประเทศ
ประวัติ
แพรวา หรือผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท การทอผ้าแพรวามีมาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวภูไท ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณแคว้นสิบสองจุไทย (ดินแดนส่วนเหนือของลาวและเวียดนาม ติดกับดินแดนภาคใต้ของจีน) อพยพเคลื่อนย้ายผ่านเวียดนาม ลาว แล้วข้ามฝั่งแม่นํ้าโขง เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพาน ทางภาคอีสานของไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร โดยยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหม ที่มีภูมิปัญญาในการทอด้วยการเก็บลายจากการเก็บขิด และการจกที่มีลวดลายโดดเด่น นับเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและพัฒนามาอย่างต่อ เนื่อง ผ้าแพรวาจึงเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มผู้ไท โดยผู้หญิงจะถูกฝึกทอผ้ามาตั้งแต่อายุ 9 – 15 ปี ชาวผู้ไทยที่ทอผ้าแพรวาส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ประกอบกับการเลือกใช้เส้นไหมน้อยหรือไหมยอดที่มีความเลื่อมมัน ผ้าไหมแพรวาจึงถือว่าเป็นของลํ้าค่า และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวผู้ไทยอย่างแท้จริง ดังคำขวัญจังหวัดกาฬสินธุ์ที่ว่า “หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง โปงลางเลิศลํ้า วัฒนธรรมผู้ไทย ผ้าไหมแพรวา ผาเสวยภูพาน มหาธารลำปาว ไดโนเสาร์สัตว์ โลกล้านปี”
ผ้าแพรวามีความหมายรวมกันว่าผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1ช่วงแขน ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียง ที่เรียกว่าผ้าเบี่ยงของขาวผู้ไทย ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณี หรืองานสำคัญอื่นๆโดยประเพณีทางวัฒนธรรมของหญิงสาวชาวภูไทย จะต้องยึดถือปฏิบัติคือ จะต้องตัดเย็บผ้าทอ 3 อย่างคือ เสื้อดำ ตำแพร (หมายถึงการทอผ้าแพรวา) และซิ่นไหม
ผ้าแพรวามีความหมายตามรูปศัพท์ซึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำมูล 3 คำคือ ผ้า หมายถึง วัสดุอย่างหนึ่งที่ลักษณะเป็นผืน ได้จากการเอาเส้นไยของฝ้าย ไหม ป่าน ปอ ฯลฯ ซึ่งผ่านกรรมวิธีหลายอย่าง เป็นต้นว่าการปั่น เส้นใยทำเป็นด้าย ย้อมสี ฟอกสี การฟั่นเกลียว การเคลือบผิว ฯลฯ แล้วนำมาทอเข้าด้วยกันให้เป็นผืน มีขนาดความกว้าง ความยาว แตกต่างกันไปตามความต้องการใช้สอยประโยชน์ เมื่อทอเสร็จเป็นผืนแล้ว จะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามชื่อวัสดุที่นำมาใช้ถักทอ เช่น ถ้าทอจากใยฝ้าย เรียกว่าผ้าฝ้าย หรือถ้าทอจากเส้นใยไหม เรียกว่าผ้าไหม
แพร หรือ แพ(ภาษาอีสาน) หมายถึง ผ้าที่ยังไม่ได้แปรรูปให้เป็นเสื้อ หรือซ่ง (โส่งหรือกางเกง) คือยังมีลักษณะเป็นผืนผ้าที่เสร็จจากการถักทอ มักเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวัสดุที่ใช้ เช่น แพรไหม แพรฝ้าย แพรอีโป้ เป็นต้น
วา หมายถึง มาตราวัดความยาวอย่างหนึ่ง ได้จากการกางแขนทั้ง 2 แขนออกไปจนสุดแล้วทาบกับสิ่งที่ต้องการวัดขนาดความยาว ด้วยการทาบลงไปให้แขนตรงเป็นเส้นขนาน ทำอย่างนี้แต่ละครั้งเรียกว่า 1 วา (ต่อมาปรับปรุงมาตราวัดนี้ใหม่ว่า 1 วา มีขนาดเท่ากับ 4 ศอก) ดังนั้นคำว่า ผ้าแพรวา จึงมีความหมายรวมกันว่า ผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วาหรือ 1 ช่วงแขน
ผ้าแพรวาได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง เมื่อปี 2520 ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวภูไทบ้านโพน แต่งตัวโดยใช้ผ้าแพรวาห่มตามแบบสไบเฉียง หรือเรียกว่าผ้าเบี่ยงทรงสนพระทัยมาก จึงโปรดให้มีการสนับสนุน และได้มีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้าให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะนำไปใช้เป็นผ้าผืน สำหรับตัดเสื้อผ้าได้ อีกทั้งพัฒนาลวดลายให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด การพัฒนาการทอผ้าแพรวา เกิดขึ้นเพราะพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะชิ้นนี้ในครั้งนั้น
ลวดลายและกรรมวิธีการทอ
ลวดลายผ้าแพรวา นับเป็นผ้ามรดกของครอบครัว โดยในแต่ละครัวเรือนจะมีผ้าแซ่ว ซึ่งเป็นผ้าไหม ส่วนใหญ่ทอพื้นสีขาว ขนาดประมาณ 25 x 30 เซนติเมตร มีลวดลายต่างๆเป็นต้นแบบ ลายดั้งเดิมแต่โบราณ ซึ่งทอไว้บนผืนผ้าที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ บนผ้าแซ่วผืนหนึ่งๆ อาจมีลวดลายมากถึงประมาณกว่า 100 ลาย การทอผ้าจะดูลวดลายจากต้นแบบในผ้าแซ่ว โดยจะจัดวางลายใดตรงส่วนไหนหรือให้สีใด ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทอ เกิดเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาจากการวางองค์ประกอบของลวดลายต้นแบบ และการให้สีสันของผู้ทอลวดลายของแพรวา มีลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสาน แตกต่างกันบ้างที่ความหลากหลายของสีสันในแต่ละลวดลาย แต่มีลักษณะรวมกันคือ ลายหลักมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของลายผ้า ส่วนสีสันบนผ้าแพรวาแต่เดิมนิยมพื้นสีแดงคลํ้า ย้อมด้วยครั่งมีลายจกสีเหลือง สีนํ้าเงิน สีขาว และสีเขียวเข้ม กระจายทั้งผืนผ้าสอดสลับในแต่ละลาย แต่ละแถวลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอแพรวา ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าประเภทนี้ จะประกอบด้วยตัวลาย ทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้
1) ลายหลัก คือลายที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของลายผ้าในแนวนอนลายหลักแต่ละลายมีความ กว้างของลายสมํ่าเสมอกัน คือกว้างประมาณแถวละ 8 – 12 เซนติเมตร ในแพรวาผืนหนึ่งๆ จะมีลายหลักประมาณ 13 แถว ลายหลักต่างๆ เช่น ลายนาค ลายสี่แขน ลายพันธุ์มหา ลายดอกสา ฯลฯ ส่วนประกอบสำคัญของลายหลัก คือ ลายนอก ลายใน และลายเครือ ลายนอก คือส่วนที่มีลักษณะเป็นตารางสามเหลี่ยมประกอบ 2 ข้างของลายใน มีลวดลายครึ่งหนึ่งของลายใน ตลอดความกว้างของผืนผ้า ลายใน คือส่วนที่อยู่ตรงกลางของแถวหลัก มีลวดลายเต็มรูปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนม เปียกปูน ตลอดความกว้างของผืนผ้าเช่นกัน ลายเครือ คือส่วนที่อยู่ในกรอบแถวบนของกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ในแต่ละแนวมี กึ่งกลางของลายหลักเป็นส่วนยอดของลายเครือ
2) ลายคั่น หรือลายแถบ คือลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ความกว้างของลายประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วงสลับกันไป เช่น ลายตาไก่ลายงูลอย ลายขาเข ฯลฯ
3) ลายช่อปลายเชิง หรือลายเชิงผ้า คือลายที่ปรากฏอยู่ตรงช่วงปลายของผ้าทั้ง 2 ข้าง ทอติดกับลายคั่น ทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มและตัวจบของลายผ้า มีความกว้างประมาณ 4 – 10 เซนติเมตร เช่น ลายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ฯลฯ
ส่วนประกอบของผ้าแพรวา
ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอจากเส้นใยไหม ที่มีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างลายขิดและจกบนผืนผ้า ในกระบวนการขิดจะใช้วิธีเก็บลายขิดบนผ้าผืนเรียบ ใช้ไม้เก็บขิด คัดเก็บขิดยกลาย โดยต้องนับจำนวนเส้นไหม แล้วใช้ไม้ลายขิดสายเป็นลายเก็บไว้ ในการทอเก็บลายจะแบ่งเป็นช่วง แต่ละช่วงเก็บลายไม่เหมือนกัน ส่วนที่อยู่ตรงปลายต่อกับผ้าเรียบ เป็นการเก็บขิดดอกเล็ก ส่วนต่อไปเป็นการเก็บขิดดอกใหญ่ เรียกว่า “ดอกลายผ้า” ใช้ไม้ในการเก็บลายต่างกัน
ส่วนกรรมวิธีการจก ซึ่งคือกรรมวิธียกเส้นด้ายยืน แล้วสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในผืนผ้า ทำให้เกิดลวดลายผ้าที่ต้องการ การทอแพรวาแบบผู้ไทแท้นั้น จะไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วย ไม่ว่าจะเป็นเข็ม ไม้ หรือขนเม่น แต่จะใช้นิ้วก้อยจกเกาะเกี่ยว และสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษแล้วผูกเก็บปมเส้นด้ายด้านบน เพื่อให้เกิดลวดลาย โดยใช้การเกาะลายด้วยนิ้วก้อยตลอด จากริมผ้าข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งตลอดทั้งแถว
จุดเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาคือ ลวดลายสีสัน และความมีระเบียบ ความเรียบ ความเงางามของผืนผ้า ในผ้าแพรวาผืนหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 10 หรือ 12 ลาย ใช้เส้นไหมในการทอตั้งแต่ 2-9 สี สอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว ลวดลายที่ปรากฏจะประณีตเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งผืนผ้าลักษณะของ ลายผ้าของแพรวาที่ทอในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆได้แก่ ผ้าแพรวาลายล่วง ผ้าแพรวาลายจก และผ้าแพรวาลายเกาะผ้าแพรวาลายล่วง หมายถึง ผ้าแพรวาที่มีลวดลายเรียบง่าย มี 2 สี สีหนึ่งเป็นสีพื้น อีกสีหนึ่งเป็นลวดลายผ้าแพรวาลายจก หมายถึง ผ้าแพรวาลายล่วง ที่มีการเพิ่มความพิเศษโดยการจกเพิ่มดอกเข้าไปในลายล่วงบนผืนผ้า เพื่อแต้มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้น แต่สีจะไม่หลากหลายสดใสเหมือนแพรวาลายเกาะผ้าแพรวาลายเกาะ หมายถึงผ้าแพรวาที่มีลวดลายและสีสันหลายสีเกาะเกี่ยวพันกันไป ลวดลายที่ใช้ทอแพรวาลายเกาะ ส่วนใหญ่เป็นลายดอกใหญ่ ซึ่งเป็นลายหลักของการทอผ้าแพรวา อาจจะทอไม่ให้ซํ้าลายกันเลยในแต่ละแนวก็ได้การนำไปใช้ประโยชน์ แต่โบราณนิยมเพื่อนำไปใช้เป็นผ้าห่มตัว โดยห่มเฉียงบ่าหรือห่มเคียนนอก ฯลฯ และใช้ปูสำหรับกราบพระ นิยมใช้คู่กับแพรมนซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีชายครุยทั้ง 2 ด้าน ใช้สำหรับคลุมศีรษะหรือเป็นผ้าเช็ดหน้า ปัจจุบันมีการทอเป็นผ้าผืนหน้ากว้าง สำหรับตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่
อ้างอิงข้อมูลโดย กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดกาฬสินธุ์
ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ศูนย์ราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ถนนเลี่ยงเมืองหัวคู อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ 46000
โทร/แฟกซ์ 0-4381-1620 อีเมลผู้ดูแลเว็บไซต์ :admin@kalasin.mail.go.th
อีเมลงานสารบรรณกลาง :saraban_kalasin@moi.go.th------------------------------