ส่วนผสม
1. ยอดอ่อนใบบอน
2. หนังควาย
3. ตะไคร้
4. ข่าแก่ และข่าอ่อน
5. กระเทียม
6. หอมแดง
7. ใบมะกรูด
8. พริกแห้ง
9. ต้นหอม ผักชี
10. ผักชีใบเลื่อย
11. มะเขือเหลือง
12. จะค่าน
13. มะกอก
เครื่องแกง
1. เกลือ
2. กะปิ
3. ปลาร้า
4. น้ำปลา
5. ผงปรุงรส
เครื่องเคียง
1. ผักกาด มะเขือ ถั่วฝักยาว
2. แคบหมู
3. ข้าวเหนียว
เคล็ดลับในการเลือกวัตถุดิบ
การเก็บใบบอนต้องคัดเฉพาะยอดอ่อนของใบบอนเท่านั้น หากเก็บเป็นใบบอน จะทำให้แกงเนื้อหยาบ แข็ง และไม่อร่อย วัตถุดิบทุกอย่างที่ใช้ประกอบในการทำแกงบอน ต้องสดใหม่เสมอ
ขั้นตอนการปรุง
1. นำยอดอ่อนใบบอนมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปต้มให้สุกจนยอดใบบอนเปื่อย และนำไม้ปั่นบอน มาปั่นบอนให้ละเอียด
2. การทำพริกแกง นำตะไคร้ เกลือ พริกแห้ง ใส่รวมกัน โขลกให้ละเอียด ต่อด้วยผิวมะกรูด กระเทียม หอมแดง ข่าแก่ ใส่กะปิ ปลาร้า
3. นำหนังควายมาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปต้มสุก หลังจากนั้น หั่นเป็นชิ้นพอดีคำ
4. หั่นจะค่าน ให้เท่ากับเหรียญ 10 บาท
5. นำเครื่องแกงที่โขลกไว้ใส่ลงในหม้อที่ต้มบอน คนให้เข้ากัน ใส่น้ำมะขามเปียก ใส่หนังควายลงไปต้มสุก แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลา และผงปรุงรส เมือ่แกงสุกชิมให้ได้รสชาติที่ลงตัว
6. หั่นข่าอ่อน 10 กรัม ใส่ลงหม้อแกง
7. ใส่ผักชีใบเลื่อย (ผักชีฝรั่ง) และต้นหอมผักชี
8. เสิร์ฟ พร้อมเครื่องเคียง
เคล็ดลับการปรุง
การทำให้แกงบอนออกรสเปรี้ยว มีวิธีที่หลากหลาย แล้วแต่พื้นที่ ที่ทำ แตกต่างกันออกไป เช่น การใช้มะขามเปียก การใช้ผักส้มป่อย การใช้ผักส้มปูน ทั้ง 3 อย่างนี้ ให้รสชาติที่เปรี้ยว แต่อำเภอสันติสุข ใช้ผักส้มป่อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่หาได้ง่าย และมีรสชาติที่ลงตัว
ความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร
เวลาแกงห้ามส่งเสียงดัง เพราะโบราณถือว่า ถ้าเวลาทำแกงบอนแล้วส่งเสียงดัง จะทำให้เวลาทานบอนเข้าไปแล้วจะคันที่คอ
ผู้ให้ข้อมูลอาหาร
1. นางยอดหล้า วงค์สุวรรณ (สภาวัฒนธรรมอำเภอสันติสุข)
2. นางสาวรมิดา เหมี้ยงหอม (สภาวัฒนธรรมอำเภอสันติสุข)
3. นายติณณภพ วงค์สุวรรณ (สภาวัฒนธรรมอำเภอสันติสุข)