พระวิหารคด หรือพระระเบียง หรือพระด้านสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรอยุธยาโดยก่อกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีหลังคาคลุมเข้าด้านในสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นผนังหรือกำแพงล้อมรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์และเจดีย์ราย เหตุที่เรียกกันว่าวิหารคดก็เพราะว่าวิหารนี้สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบบริเวณขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ การสร้างหักมุมแบบนี้จึงเรียกว่า "วิหารคด" ส่วนที่เรียกอีกอย่างว่าพระด้านหรือพระระเบียงก็เพราะเป็นระเบียงขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงเรียกว่า"พระระเบียง" ส่วนที่เรียกว่าพระด้าน ก็เพราะว่าในวิหารหรือระเบียงนี้ เต็มไปด้วยพระพุทธรูปปั้นเรียงเป็นระเบียบเป็นพระพุทธรูปนั่งเป็นแถวยาวตลอดทุกด้านของระเบียง จำนวน ๑๗๓ องค์ พระพุทธรูปเหล่านี้เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ การที่มีพระพุทธรูปอยู่รอบด้านของพระบรมธาตุเจดีย์นี้เองจึงเรียกกันว่า "พระด้าน" วิหารคดมีประตูทางเข้า ๒ ประตู คือประตูด้านหน้าและประตูด้านหลัง ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน ประตูหน้ามีชื่อว่าประตูเหมรังสี ข้างประตูมีรูปสิงโตที่ทำด้วยหินเป็นสิงโตตัวผู้และตัวเมียอยู่ข้างละ ๑ ตัว หน้าจั่วของซุ้มประตูประดับแก้วสีเป็นรูปครุฑและนาคยึดเกี่ยวเกี่ยวพันกับซึ่งประดับด้วยแก้วสี ทุกด้านของวิหารคดจะมีธรรมาสน์ตั้งอยู่เช่นเดียวกันกับในวิหารทับเกษตร ทั้งนี้ก็เพื่อใช้เป็นที่แสดงธรรมในวันวันโกนหรือวันธรรมสวนะ ก่อนแสดงธรรมจะมีสวด (อ่าน) หนังสือทำนองเสนาะที่เรียกว่า “สวดด้าน” ประเพณีสวดด้านจึงถือว่าเกิดขึ้นที่ระเบียงคดนี้ ทางด้านเหนือมีโครงกระดูกปลาวาฬ ที่ตายลอยมาเกยหาดที่ปากน้ำท่าสูง อำเภอท่าศาลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ปัจจุบันวิหารคดบางส่วน ได้ใช้เป็นสาขาของห้องสมุดแห่งชาติ