วิหารพระธรรมศาลาอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์ นอกระเบียงตรงประตูเยาวราช กล่าวกันว่าพระเหมรังสีเถระเป็นผู้สร้างตรงหน้าจั่วสลักหนังสือไว้บนแผ่นกระดานว่าได้บูรณะเสร็จเมื่อวันเสาร์เดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะเมีย ศก. พ.ศ. ๒๔๓๗ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ประดิษฐานเรียงรายโดยรอบ บนฐานชุกชีมีพระพุทธรูปปูนปั้นหลายองค์ แต่องค์ใหญ่สุดในวิหารหลังนี้ชื่อ “พระธรรมศาลา” เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง เป็นศิลปะยุคเดียวกับพระพุทธรูปพระเจ้าศรีธรรมโศกราชซึ่งประดิษฐานในวิหารสามจอม ด้านหน้าวิหารมีพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางประทานอภัย ก่อด้วยอิฐถือปูน ลงรักปิดทองนามว่า "พระทนทกุมาร" ภายในวิหารด้านหน้า มีเจดีย์เรียกว่า "พระเจดีย์สวรรค์" ประดับด้วยกระจก ตำนานกล่าวว่าพระยาแก้วเป็นผู้สร้างเจดีย์นี้ขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำ ผู้ครองเมืองนครที่เสียชีวิตกลางศึกโจรสลัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘๑ พระยารามราชท้ายน้ำนี้ เดิมเป็นทหารเอกของพระนเรศวรมหาราช ที่ถูกส่งมาปกครองเมืองนคร ต่อมามีพวกโจรสลัด (อุชงคนะ) จะมาตีนครศรีธรรมราช พระยารามราชท้ายน้ำ เป็นผู้นำทัพออกรบกับพวกโจรสลัดด้วยตนเองและสู้กันนานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ถือว่าเป็นศึกครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองนคร ฝ่ายโจรสลัดได้ยกพลขึ้นบกที่ใกล้วัดท่าโพธ์ทางด้านตะวันออกของวัด เพื่อรุกคืบหน้าเข้าสู่ตัวเมืองทางด้านทิศตะวันตก พอถึงวันที่เจ็ดตอนพลบค่ำพระยารามราชท้ายน้ำซึ่งอยู่ในวัยชรา ได้เป็นลมล้มลงเสียชีวิต ทำให้ทหารของนครเสียขวัญ ข้าศึกเกิดฮึกเหิมรุกไปจนถึงวัดท่าโพธิ์ แล้วทำการเผาวัดท่าโพธิ์ รวมทั้งชุมชนแห่งนั้นจนเสียหายยับเยิน แต่สุดท้ายแล้วนครก็ชนะศึกโจรสลัดครั้งนี้ ต่อมาพระยาแก้วซึ่งเป็นหลานของพระรามราชท้ายน้ำ ได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ในวิหารธรรมศาลา ซึ่งพระยาแก้วคนนี้ต่อมาได้เป็นเจ้าเมืองนครคนต่อไปและมายอมสวามิภักดิ์ต่อออกญาเสนาภิมุข นางามาซะ ที่ถูกอยุธยาส่งมาปราบ สุดท้ายพระยาแก้วก็ถูกลูกของออกญาเสนาภิมุข นางามาซะ ชื่อออกญาเสนาภิมุข
โอนิน ฆ่าตาย จากการแย่งชิงอำนาจกัน