การละเล่นพื้นบ้านของภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราดนั้นมีการละเล่นมหรสพที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “ละครเท่งตุ๊กหรือเท่งกรุ๊ก” แต่เดิมมีชื่อเรียกว่าละครชาตรี โดยสันนิษฐานว่าละครเท่งตุ๊กหรือเท่งกรุ๊ก เป็นละครสืบทอดจากละครชาตรีที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเผยแพร่มาทางภาคตะวันออกในช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นบ้านจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะและสืบทอดต่อๆ กันมา ละครเท่งตุ๊กแต่เดิมก็เรียกว่าละครชาตรีจนถึงประมาณรัชกาลที่ ๔-๕ จึงมีการเรียกละครเท่งกรุ๊ก ตามเสียงโทนกลองคือเสียงเท่งจากโทน เสียงกรุ๊กจากกลองตุ๊ก และเสียงเพี้ยนมาเป็นละครเท่งตุ๊ก ในปัจจุบันท้องถิ่นแถบนี้จะเรียกละครชาตรีบ้าง ละครเท่งตุ๊กบ้าง หรือนำมาเรียกต่อกันว่า “ชาตรี-เท่งตุ๊ก” ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน “ละครเท่งตุ๊กหรือเท่งกรุ๊ก” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมพื้นบ้านในท้องถิ่น และงานที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ รวมทั้งเผยแพร่ให้กับประชาชนทั่วไปผ่านทางหน่วยงานของทางราชการ งานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมในท้องถิ่น สำหรับผู้ที่สืบทอดละครเท่งตุ๊กแต่โบราณในจังหวัดตราด ได้แก่ ครูฟุ้ง และครูต้อ ปัจจุบันถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว แต่ยังมีลูกศิษย์ที่สบทอดต่อกันมา