เป็นสระน้ำโบราณ ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๗ เมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี น้ำจากสระแห่งนี้ได้เข้าพระราชพิธีมูรธาภิเษก ในงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมาทุกรัชกาล กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐
ตามตำนานที่ ๑ กล่าวว่า น้ำที่สระแก้วอยู่ใกล้กับเขาสระแก้ว เมื่อกาลนานหลายชั่วอายุคนมาแล้ว มีผู้ที่พบสระน้ำแห่งหนึ่ง อยู่ในป่าทึบปราศจากบ้านคน มีน้ำเต็มเปี่ยมและใสบริสุทธิ์ มองเห็นเป็นสีมรกต มีปลานานาชนิดอยู่ สามารถมองเห็นถนัด ปลาที่อยู่ในสระก็ปราศจากคนรบกวนข้างสระมีต้นตาลใหม่งอกงาม เขียวชอุ่มอยู่เป็นนิจ ในสระปรากฏแสงสว่างเป็นวงเขียว คล้ายแก้ว เป็นวงรอบสระ
ตามตำนานที่ ๒ มีผู้พบเห็นแสงสว่างจากต้นตาล แล้วแสงสว่างนั้นสะท้อนลงในสระด้วยความสะอาดของน้ำในสระนั้น
ตามตำนานที่ ๓ ณ ที่นี้มีภูเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง บนยอดเขามีสระน้ำ ลักษณะเป็นน้ำเขาใสสะอาดเย็นชื่นใจ และมีตายายสองคนผัวเมียคู่หนึ่ง ปลูกบ้านเรือนอาศัยอยู่ตีนเขา เป็นคนยากจนเข็ญใจอาศัยเก็บผัก เก็บฟืนขาย หรือแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน บางครั้งก็ล่าสัตว์เล็กๆ มากินเป็นอาหาร และตายายสองคนนี้เป็นโรคเรื้อน ตามร่างกายเป็นแผลพุพองที่ไม่รู้จักหาย มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ตลอดเวลา โรคนี้ในสมัยโบราณถ้าใครเป็นแล้วรักษาไม่หาย เพราะการแพทย์ไม่เจริญ ถ้าเป็นนานอาการเข้าขั้นรุนแรงอาจทำให้ตาบอด มือกุด เท้ากุดได้ อยู่มาวันหนึ่ง ตาล่ากระต่ายติดตามรอยเลือดไปจนถึงยอดเขา พบว่ากระต่ายกระโดดลงไปในสระน้ำดังกล่าว เมื่อกระต่ายขึ้นจากสระบาดแผลก็หาย และสามารถวิ่งหนีไปได้อย่างรวดเร็วเหมือนไม่เคยถูกยิงบาดเจ็บมาก่อน ตาเห็นแปลกจึงลงไปแช่น้ำในสระ เมื่อขึ้นมาจากสระความอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้นคือแผลพุพองต่างๆ ก็หายไปสิ้น น้ำเหลืองที่เคยไหลเยิ้มก็แห้งสนิท จึงมาบอกยายด้วยความดีใจ และเมื่อพายายไปอาบน้ำในสระ แผลพุพองของยายก็หายเช่นเดียวกัน ในไม่ช้าข่าวนี้ก็กระจายไปอย่างรวดเร็วราวกับพายุ รู้ถึงหูเจ้าบ้านผ่านเมืองก็พากันมาดูชม และพิสูจน์เห็นประจักษ์แจ้ง แล้วเจ้าเมืองก็รายงานไปยังส่วนกลาง คือเมืองหลวงให้ทราบว่าได้พบสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีกแห่งแล้ว ภายหลังเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่าเป็นพราหมณ์ ประจำราชสำนักกำหนดให้น้ำสระแก้วแห่งนี้ไปรวมกับน้ำศักดิ์สิทธ์จากแหล่งอื่นๆ ทั่วราชอาณาจักร สำหรับทำเป็นน้ำเทพมนต์ใช้ในพิธีมุรธาภิเษกหรือพิธีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับน้ำ เช่นน้ำที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น และเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ ได้จัดพิธีพลีกรรมตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจัดทำน้ำอภิเษก ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ นายสุชาติ สงวนจิตร์ กำนันตำบลพลอยแหวน ในขณะนั้นเห็นว่าสระแก้วมีขนาดเล็กและตื้นเขินมาก จึงได้ทำหนังสือถึงราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง เพื่อขอบูรณะสระแก้ว เนื่องจากว่านับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ในพระราชพิธีสรงมูรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยนำน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักรรวม ๑๘ จังหวัด ที่ได้พลีกรรมนำมาประกอบพระราชพิธี ฯ ปรากฏว่า น้ำที่ได้จากสระแก้ว ตำบลพลอยแหวน ก็เป็นแห่งหนึ่ง ที่ได้นำเข้าพระราชพิธีฯ ด้วย จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
“หากจะกล่าว ถึงตำนาน วัดสระแก้ว
คงไม่แคล้ว ภูเขาเตี้ย สระน้ำใส
ที่มีฤทธิ์ รักษาแผล หายเร็วไว
แค่กระโดด ลงไป หายทันที
ตามตำนาน เล่าขาน ถึงตายาย
ที่เป็นแผล ไม่หาย คล้ายดั่งฝี
วันหนึ่งตา เห็นกระต่าย บาดแผลมี
จึงทำที เดินตาม รอยเลือดไป
ตามกระต่าย ไปถึง ที่ยอดเขา
กระต่ายเอา ตัวกระโดด ลงน้ำใส
พอขึ้นมา แผลที่มี ก็หายไป
ตาก็เห็น รีบเร็วไว ลงไปดู
ปรากฏว่า แผลที่มี นั้นหายวับ
จึงรีบกลับ ไปบอกยาย ฟังกับหู
เมื่อยายทำ แผลก็หาย ให้ตาดู
ข่าวจึงรู้ กระจาย ทั่วกันไป
รู้ไปถึง พระเจ้า แห่งแผ่นดิน
ทรงได้ยิน จึงสั่งให้ สระน้ำใส
เป็นแหล่งน้ำ ศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้ใน
พระราชพิธี ของไทย แต่นั้นมา
ด้วยความที่ น้ำนั้น ใสเหมือนแก้ว
บ้างว่ามี เพชรแวว ในน้ำหนา
เป็นตำนาน กล่าวขาน นานนมมา
จึงเรียกสระ นี้ว่า “สระแก้ว”เอย “
บทกลอนจาก: คุณSainamsom จากpantip.com