ประวัติองค์พระธาตุศรีมงคลและวัดพระธาตุศรีมงคล
บริเวณที่ตั้งบ้านธาตุแต่เดิมพื้นที่เป็นป่าดง ครั้งแรกได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งมีภูมิลำเนาเดิม อยู่ที่อำเภอวาริชภูมิปัจจุบันนี้ เดิมเรียกว่า เมืองวารี มีนายเวียงแก โฮมวงศ์ เป็นหัวหน้านายจันทะเนตร โฮมวงศ์ นายเมืองกาง หัศกรรจ์ หลวงแก้ว ไม่ทราบนามสกุล นายบุตราช บุณรักษา นายจันตัวง แก้วคำแสน ได้พากันออกมาหักร้างถางไพรเพื่อทำไร่ พอถางลีกเข้าไปจึงพบองค์พระธาตุร้างอยู่ในดง จึงจะงักการถากถางเพราะหลังอำนาจของพระธาตุนี้ลงโทษ ดังนั้น จึงได้นิมนต์ท่านพระครูหลักคำ ประธานสงฆ์เมืองวารี
ท่านเห็นว่าสถานที่บริเวณนี้เป็นมงคลเหมาะที่จะสร้างหมู่บ้าน จึงได้พร้อมใจกันถากถางบริเวณพระธาตุร้างนี้ พร้อมได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแผ่ไปให้แก่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาองค์พระธาตุและได้สร้างวัดตรงนี้ ท่านพระครูหลักคำได้ตั้งชื่อว่าวัดธาตุศรีมงคลเมื่อประมาณ พ.ศ. 2444 และเรียกหมู่บ้านธาตุ
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จมาทรงบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุและยกฉัตรเจดีย์พระธาตุศรีมงคล ได้พระราชทานนามวัดธาตุศรีใหม่เป็น วัดพระธาตุศรีมงคล จนปัจจุบันนี้ ส่วนวัดพระธาตุศรีมงคลได้มีเจ้าอาวาสปกครองดูแลตามลำดับนับตั้งแต่เจ้าอาวาสรูปแรก พ.ศ. 2444 คือพระครูพร ซึ่งเป็น ลูกหลานผู้ไทบ้านธาตุมาจนถึงท่านพระครูวิธาน ปริยัติธรรม รวมทั้งหมด 14 รูป กล่าวกันว่าพระธาตุแห่งนี้ได้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์
วันเสาร์แรกของเดือนเมษายน พี่น้องชาวบ้านธาตุ บ้านธาตุพัฒนาและพุทธศาสนิกชนพร้อมใจจัดงานนมัสการองค์พระธาตุศรีมงคลขึ้นทุกปี
การปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุศรีมงคล พ.ศ. 2516 - 2526
พระธาตุศรีมงคลได้ทำการปฏิสังขรณ์ครั้งแรก พ .ศ. 2172 โดยท่านพระครูทันเป็นผู้ควบคุมในการรื้อถอนและปฏิสังขรณ์โดยการก่ออิฐฉาบปูนขาวล้อมรอบสูงประมาณ 20 เมตร ต่อมาไม่นานก็สลักหักพังลงมาอีกและวัตถุโบราณล้ำค่าก็ปรากฎออกมาให้เห็นบริเวณรอบๆ องค์พระธาตุจำนวนมาก แต่ชาวบ้านไม่มีใครกล้าแตะต้อง เพราะกลัวอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุจะลงโทษ ครั้งต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 อาจารย์สัทธา อินทรพาณิช พร้อมด้วยชาวบ้านได้ปรึกษาหารือกันให้ทำการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุศรีมคลขึ้นมาใหม่เป็นครั้งที่2 เมื่อวันที่8 เมษายน พ.ศ. 2516 โดยโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ฐานปิดด้วย ประติมากรรมปั้นดินเผาเป็นภาพพุทธประวัติฐานกว้าง 10 เมตร สูง 36 เมตร ได้สร้างฉัตร 7 ชั้น ทำด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองที่ยอดฉัตรทำด้วยทองคำมีน้ำหนัก 30 บาท พร้อมทั้งผอบ 5 ชั้น เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมมูลค่าในการปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุศรีมงคล เป็นเงิน 1,000,000 บาท
ในความร่วมมือปฏิสังขรณ์พระธาตุศรีมงคลนี้ ได้ดำเนินการเป็นรูปแบบของคณะกรรมการและคณะที่ปรึกษามีทั้งฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ร่วมกันสถาปนิกผู้ออกแบบองค์พระธาตุศรีมงคลใหม่ คืออาจารย์วิโรจน์ ครีสุโร วิศวกร ได้แก่ อาจารย์สมควร อินทรพานิช และอาจารย์ประยุทธ วงศ์ประทุม เป็นวิศวกรที่ปรึกษาปฏิมากรรม ผู้ปั้นดินเผา คือ ฮาจารย์สมเกียรติ เสวิกุลและอาจารย์พิศ ป้อมสินทรัพย์ ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของการปฏิสังขรณ์พระธาตุศรีมงคลในครั้งนี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกราตุและทรงยกฉัตรเจดีย์พระธาตุศรีมงคล นับว่าเป็นกุศลกรรมของชาวบ้านผู้ไททั้งมวลรวมทั้งสาธุชนทั้งทลายที่ร่วมแรงร่วมใจกันจนประสพความสำเร็จในที่สุด
การบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2561 โดยการนำของท่านพระครูวิธาน ปริยัติธรรม รองเจ้าคณะอำเภอวาริชภูมิพร้อมด้วยชาวบ้านธาตุ -บ้านธาตุพัฒนาคณะลูกหลานที่สำนึกรักบ้านเกิดและสาธุชนทั่วไปได้ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์มีสภาพ สง่างามดังเดิม เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มาสักการะตลอดไป
พระธาตุศรีมงคล ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีมงคล ตำบลวาริชภูมิ อำเภอวาริชภูมิ ห่างจากจังหวัดประมาณ 65 กิโลเมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 200 เมตร จุดเยี่ยมชมภายในวัด ได้แก่ สักการะองค์พระธาตุ พระพุทธรูปใต้ต้นโพธิ์ พระธาตุศรีมงคลนี้เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาววาริชภูมิ ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ยอดแหลม องค์พระธาตุประดับด้วยลายปั้นดินเผาสวยงาม มีรูปปั้นพระพุทธรูปประทับยืนและนั่งขัดสมาธิอยู่ทั้ง 4 ด้านขององค์พระธาตุ บริเวณฐานเป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า