สายสิญจน์คิงวา หรือ “ต๋ามขี้สาย” เป็นพิธีกรรมของชาวล้านนาที่จัดขึ้นในวันลอยกระทง โดยมีความเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา เสริมดวงชะตาทำแล้วจะทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขนิยมทำในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี มีมาแต่สมัยโบราณนานหลายร้อยปีและยังถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า “สายสิญจน์คิงวา
” คำว่า “คิง” ในที่นี้ความหมายคือแทนตัวตนของคนๆนั้น ซึ่งสมาชิกทุกคนของแต่ละครอบครัวจะใช้ด้ายสายสิญจน์วัดวาโดยกางมือทั้งสองข้างออกและใช้สายสิญจน์วัดความหมายจากปลายนิ้วมือซ้ายถึงปลายนิ้วมือขวา จากนั้นนำด้ายวัดรอบศีรษะ ซึ่งเรียกว่าการ “วัดวา” ก่อนที่จะตัดด้ายจะเผื่อความยาวของด้ายแต่ละเส้นประมาณ 1 คืบโดยมีความเชื่อว่าป็นการต่ออายุให้ยืนยาว ด้ายแต่ละเส้นคือความยาวของแขนแต่ละคนโดยจะวัดครบจำนวนสมาชิกในคริบครัว (หากลูกหลานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็สามารถทำแทนกันได้) หลังจากนั้นจะนำด้ายสายสายสิญจน์ไปแช่ในน้ำมันมะพร้าว พอถึงช่วงเย็นชาวบ้านจะไปรวมกันที่วัด โดยใช้ไม้ส้าว (ไม้สำหรับพาดด้ายสายสิญจน์) ไปด้วย ก่อนที่จะจุดด้ายจะมีการฟังเทศน์เกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของประเพณีลอยกระทง และมีการจุดประทีปด้วย หลังจากนั้นจะนำด้ายสายสิญจน์ที่เตรียมไว้ไปพาดบนไม้ โดยจะเรียงด้ายสายสิญจน์ตามลำดับอาวุโส ระหว่างที่จุดก็จะมีกุศโลบายในการอบรมสั่งสอนลูกหลานและเป็นการทำนายลักษณะอุปนิสัยของคนๆนั้น โดยมีความเชื่อว่าถ้าด้ายของใครไหม้เร็วจะสื่อว่าเป็นคนอารมณ์ร้อน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็จะอบรมสั่งสอนลูกหลานในกานดำเนินชีวิต ไม่ให้ใช้ชีวิตประมาท สุขุมรอบคอบ โดยจะจุดจนกว่าด้ายจะหมด หลังจากนั้นนำน้ำมันมะพร้าวไปเทใส่ถ้วยประทีปหรือวัสดุที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ เป็นอันเสร็จพิธี