ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 39' 3.9838"
17.6511066
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 2' 55.8067"
100.0488352
เลขที่ : 197162
บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)
เสนอโดย อุตรดิตถ์ วันที่ 9 กันยายน 2565
อนุมัติโดย อุตรดิตถ์ วันที่ 9 กันยายน 2565
จังหวัด : อุตรดิตถ์
0 672
รายละเอียด

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)เป็นทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล "กัลยาณมิตร" โดยเป็นบุตรของพระยามหาอามาตยาธิบดีพิริยพาหะ (ชื่น แซ่อึ้ง) ทายาทรุ่นที่ 3 และท่านพลับ แซ่อึ้ง ผู้เป็นมารดา โดยเจ้าพระยามหาอามาตยาธิบดีพิริยพาหะ (ชื่น กัลยาณมิตร) เป็นบุตรของเจ้าพระยานิกรบดินทร์มหินธรมหากัลยาณมิตร (เจ้าสัวโต แซ่อึ้ง) ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 และเป็นบุตรของหลวงพิไชยวารี (เจ้าสัวมั่ง แซ่อึ้ง) ผู้เป็นต้นตระกูลเดิมเป็นชาวจีนฮกเกี้ยน มาจากเมืองเอ้หมิง ประเทศจีน ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระเจ้าตากสินแห่งกรุงธนบุรีในฐานะพ่อค้าเรือสำเภาจีน จนมีฐานะมั่งคั่งเป็นเจ้าสัวใหญ่ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เซย กัลยาณมิตร) จึงเป็นทายาท รุ่นที่ 4 ของหลวงพิไชยวารี (เจ้าสัวมั่ง แซ่อึ้ง) และเป็นหนึ่งในทายาทที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินสยามประเทศตามรอยบรรพบุรุษ ช่วงชีวิตของท่าน มีเกียรติประวัติอันน่าเผยแพร่แก่อนุชนรุ่นหลังอย่างน่าภาคภูมิใจ ดังนี้

เกียรติประวัติ/ชาติภูมิ

สมัยรัชกาลที่ 4

ท่านเจ้าคุณถือกำเนิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2406 ที่ตำบลตึกแดง จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นปีที่ 13 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในเยาว์วัยได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย เรียนเลข และอุปสมบทตามธรรมเนียมกุลบุตรขุนนางในสำนักพระครูสาราณียกุล (พุฒ) วัดประยุรวงศาวาส เมื่อลาสิกขาแล้วได้ศึกษาเล่าเรียนต่อ ณ ที่เดิมอีก 5 ปีเศษ

สมัยรัชกาลที่ 5

พ.ศ.2413 ขณะอายุได้ 8 ปี ตามพระยามหาอามาตยาธิบดีพิริยพาหะ (ชื่น แซ่อึ้ง) ผู้เป็นบิดาไปราชการที่เมืองพิษณุโลก และพำนักเป็นเวลา 2 ปี

พ.ศ.2417 ขณะอายุได้ 12 ปี ได้ตามพระยามหาอามาตยาธิบดีพิริยพาหะ (ชื่น แซ่อึ้ง) ผู้เป็นบิดาไปเร่งเงินส่วยและทำสำมะโนครัวหัวเมืองลาวตะวันออก ตั้งกองชำระสะสางอยู่ที่เมืองอุบลราชธานีและตามบิดายกกองทัพไปปราบฮ่อที่เวียงจันทน์

พ.ศ.2421 ขณะอายุได้ 16 ปี ได้ถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กเวรสิทธิในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (เป็นตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก จัดแบ่งเป็น 4 เวรคือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช แต่ละเวรมีหน้าที่ผลัดกันเข้าประจำการเป็นข้างขึ้นข้างแรม เปลี่ยนกันใน 4 เวร ) อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี รับเบี้ยหวัดปีละ 16 บาท เป็นเวลา 2 ปี และปีละ 20 บาท เป็นเวลา 2 ปี

พ.ศ.2424 ขณะอายุได้ 19 ปี ได้สมรสกับท่านผู้หญิงสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (พุ่ม กัลยาณมิตร) ธิดาเจ้าสัวริ้ว กับ ท่านหนู

พ.ศ.2425 ขณะอายุ 20 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น นายรอง พิจิตรสรรพการ มหาดเล็กเวรฤทธิ์ (เป็นตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก จัดแบ่งเป็น 4 เวรคือ เวรศักดิ์ เวรสิทธิ์ เวรฤทธิ์ เวรเดช แต่ละเวรมีหน้าที่ผลัดกันเข้าประจำการเป็นข้างขึ้นข้างแรม เปลี่ยนกันใน 4 เวร ) ถือศักดินา 300 รับเบี้ยหวัดปีละ 48 บาท 1 ปี และปีละ 60 บาท 2 ปี

พ.ศ.2428 ขณะอายุ 23 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร เป็น "จ่าเร่งงานรัดรุด" กรมพระตำรวจนอกซ้าย (เป็นบรรดาศักดิ์ในราชสำนัก) ถือศักดินา 600 และตามเสด็จประพาสหินซ้อนเหนือ เมืองสระบุรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2428 (ปัจจุบัน คือ บ้านหินซ้อนเหนือ ต.แสลงพัน อ.วังม่วง จ.สระบุรี)

พ.ศ.2429 ขณะอายุ 24 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงในกองเจ้าพระยารัตนบดินทร์ (รอด กัลยาณมิตร) ไปชำระคดีผู้ร้ายในแขวงกรุงเก่า เมืองอ่างทอง และเมืองสระบุรี อยู่ 4 เดือนเศษ และในปีเดียวกันได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ในการตรวจเสบียงอาหารและพาหนะที่เมืองพิไชย (อุตรดิตถ์) ส่งให้กองทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) แม่ทัพปราบฮ่อที่ยกมาตีหลวงพระบาง ในการไปราชการครั้งนี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม ชั้นที่ 4 ภัทธาภรณ์ เป็นบำเหน็จรางวัล

พ.ศ.2430 ขณะอายุ 25 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงที่ 2 ขึ้นไปช่วยพระยารณชัยชาญยุทธ์ (ครุฑ หงสนันท์) ข้าหลวงรักษาเมืองพิไชย เนื่องจากผู้สำเร็จราชการเมืองพิไชยท่านเดิมถึงแก่อนิจกรรม

พ.ศ.2432 ขณะอายุ 27 ปี ได้รับผลแห่งความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยสติปัญญาและความสามารถ จนเป็นที่ชื่นชมยินดีของพ่อค้า ข้าราชการ และประชาชนเมืองพิไชย ได้ร่วมกันเข้าชื่อกราบบังคมทูลขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองพิไชยแทนคนเดิมที่ถึงแก่อนิจกรรม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "พระยาศรีสุริยาราชวรานุวัตร พิพัฒนพิไชย อภัยพิริยพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิไชย" เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2432 ศักดินา 10000

พ.ศ.2435 ขณะอายุ 31 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพุงขาว รักษาราชการเมืองหลวงพระบาง ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ 533 บาท (หรือปีละ 80 ชั่ง)

พ.ศ.2437 ขณะอายุ 33 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เนื่องจากเปลี่ยนวิธีการปกครองใหม่โดยการรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล จัดตั้งคณะปกครองใหม่เรียกว่า "อำเภอ" ได้ปฏิบัติหน้าที่นี้จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย (ปรากฏความในสำเนาพระราชหัตถเลขา) สร้างพระพุทธชินสีห์ขึ้นใหม่(ในรูปเก่า) ซ่อมแซมวิหารพระพุทธชินราช และสถานที่อื่นที่ทรุดโทรม

พ.ศ.2438 ขณะอายุ 34 ปี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2438 ได้รับพระราชทานตราตั้งให้เป็นรัฐมนตรีและองคมนตรีในรัชกาลที่ 5 (เดิมก่อน พ.ศ.2437 เรียกรัฐมนตรีว่า "สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน" ต่อมา พ.ศ.2438 จัดตั้งรัฐมนตรีสภา ขึ้นแทน) รวมทั้งสร้างสถานที่ราชการ โรงเรียน เรือนจำ ตลาด โรงต้มสุรา ถนน และปฏิสังขรณ์วัดมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก

พ.ศ.2440 ขณะอายุ 36 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรมวังผู้ใหญ่ ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปครั้งแรก เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2440 และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศหลายอย่าง ในการตามเสด็จครั้งนั้นได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาพระชัยและเครื่องราชพัสดุ สำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ และเครื่องราชูปโภคกำกับเครื่องครัวต้น รักษาสิ่งของที่มีผู้นำถวายและสิ่งของที่ทรงซื้อ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2440 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่พิเศษจัดการศาล

พ.ศ.2444 ขณะอายุ 40 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จประพาสเกาะชวา ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม ถึง วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2444 และดูงานการปกครองท้องถิ่นเกาะชวาหลายแห่ง และในคราวนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสีมา (พระยศในขณะนั้น) ประชวรไข้พระอาการหนัก ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ช่วยอภิบาลตลอดจนเสด็จกลับกรุงเทพเมื่อกลับกรุงเทพได้รับราชการตามเดิม ได้เปิดศาลยุติธรรมมณฑลพิษณุโลกครั้งแรก เป็นข้าหลวงพิเศษในคณะศาล ขยายการเรียนหนังสือไทย และเมื่อคราวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือทางชลมารค (รวมเสด็จเมืองพิไชยในครั้งนี้ด้วย) ในปีเดียวกันนี้ ได้จัดการรับเสด็จเป็นที่พอพระราชหฤทัย แม้กำลังป่วยอยู่ จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์" ถือศักดินา 10000 ไร่ และในปลายปีเดียวกันนี้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แทนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินเมืองสิงคโปร์) ในปีนี้ได้หล่อพระพุทธชินราชองค์ใหญ่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตร

พ.ศ.2445 ขณะอายุ 41 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการตำแหน่ง "ปลัดทูลฉลอง" กระทรวงมหาดไทย แทนพระยามหาอำมาตย์ (แสง วิริยศิริ) ซึ่งไปราชการประเทศยุโรป ในระหว่างนี้เกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวที่นครแพร่ จึงสั่งการณ์ให้ปราบปรามจนเหตุการณ์ทุเลาลง จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงใหญ่ สำเร็จราชการมณฑลพายัพ

พ.ศ.2448 ขณะอายุ 44 ปี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพแทนพระองค์ ได้จัดการปลูกตำหนักพลับพลา รอนแรมรับเสด็จในมณฑลพายัพทั้งทางบกทางน้ำทุกระยะ

พ.ศ.2449 ขณะอายุ 45 ปี ได้รวมอำเภอพะเยา แม่ใจ พาน เชียงคำ เชียงของ เทิง ยกขึ้นรวมเป็นจังหวัดเชียงราย ยกบริเวณเชียงใหม่ตะวันตก (ประกอบด้วย เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองขุนยวม เมืองยวมใต้หรือแม่สะเรียง และเมืองปาย) เป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปลี่ยนเมืองเถิน เป็นอำเภอขึ้นตรงต่อจังหวัดลำปาง แก้ไขการจัดวางราชการในปีนี้ทำให้การปกครองจากมณฑลพายัพในรูปแบบเดิม (ประเทศราช) มาเข้ารูปทำนองเดียวกับมณฑลชั้นใน

พ.ศ.2452 ขณะอายุ 47 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์จาก "พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์" เป็น "เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์" เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2452

สมัยรัชกาลที่ 6

พ.ศ.2454 ขณะอายุ 49 ปี ได้รับพระราชทานยศเป็น "มหาอำมาตย์โท"

พ.ศ.2455 ขณะอายุ 50 ปี ทางกองเสือป่าได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็น "นายกองตรี" และ "ราชองครักษ์"

พ.ศ.2456 ขณะอายุ 51 ปี ทางกองเสือป่าได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น "นายกองโท" และเป็นผู้บังคับบัญชากองพลมณฑลพายัพ และในปีเดียวกันนี้มีพระราชบัญญัตินามสกุล ได้กราบถวายบังคมขอพระราชทานนามสกุลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "กัลยาณมิตร"

พ.ศ.2458 ขณะอายุ 53 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น "เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย"

พ.ศ.2459 ขณะอายุ 54 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เป็นองคมนตรี และทรงตั้งให้เป็นนายกองเอกในกรมเสือป่า

พ.ศ.2461 ขณะอายุ 56 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น "เจ้าพระยา" จารึกในหิรัญบัฏเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2461

พ.ศ.2462 ขณะอายุ 57 ปี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด "มหาปรมาภรณ์"

พ.ศ.2464 ขณะอายุ 59 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จไปอยู่นครปฐม อาการป่วยที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2460 กำเริบ สุขภาพทรุดโทรม จึงกราบถวายบังคม ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกจากหน้าที่ราชการในตำแหน่ง "เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย" และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ออกได้ รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งเสนาบดีมหาดไทย 6 ปี 7 เดือน ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ 2,000 - 2,800 บาท

พ.ศ.2465 มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2465 ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญในตำแหน่งเสนาบดี (เป็นพิเศษ) ปีละ 12,000 บาท หรือเดือนละ 1,000 บาท รวมเวลาอยู่ในราชการได้ 44 ปี นับตั้งแต่อายุ 16 ปี - 60 ปี

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) กับนิวาสสถานแห่งสุดท้าย ณ เมืองลับแล

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) หรือ "ท่านเจ้าคุณ" ของลูกๆ หลานๆ ได้ตัดสินใจมาพำนักอาศัยในบั้นปลายของชีวิต ณ นิวาสถานเมืองลับแลแห่งนี้ ซึ่งสร้างโดยพระยากัลยาณวัฒนวิศิษฏ์ (เชียร กัลยาณมิตร) บุตรชายคนที่ 4 ของท่าน สร้างในสมัย ร.6 ประมาณช่วง พ.ศ.2461 - 2468 เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลสไตล์ที่ประยุกต์กับลักษณะพื้นเมืองเพื่อให้เหมาะกับสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น รูปทรงตัวอาคารเป็นรูปตัวอักษร L ในภาษาอังกฤษ หลังคาทรงจั่วแบบมีปีกนกด้านสกัด มีทิ้งชายกับซ้อนตับหลังคาเป็น 2 ชั้นด้านบน มีลักษณะผสมของสถาปัตยกรรมสมัย ร.6 และ ร.7 กล่าวคือ มีลักษณะเป็นบ้านไม้ทรงตึกยกพื้นสูง แต่ชั้นล่างใช้เสาคอนกรีตเสริมเหล็กรับเสาไม้ด้านบน ซึ่งเป็นลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เริ่มมีให้เห็นในบ้านที่สร้างในสมัยช่วงต้นรัชกาลที่ 6 แต่พบน้อยมาก และหลังคายังไม่ซับซ้อนเหมือนสถาปัตยกรรมบ้านที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่พบโดยทั่วไป ช่องบนหน้าต่างและประตูบ้านทุกด้าน ประดับกระจกที่สามารถมองจากด้านในบ้านเวลากลางวันจะเห็นเป็นสีต่างๆ สวยงาม เช่น สีเขียว สีฟ้า-น้ำเงิน ซึ่งเป็นวัสดุที่หายากในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวเมืองต่างจังหวัด แต่ลักษณะการแบ่งผนังเป็นช่วงๆ แล้วใส่บานหน้าต่างยาวจรดพื้น ด้านล่างทำเป็นพนักระเบียงเพื่อระบายอากาศ ถือเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยนิยมในสมัย ร.6 ซึ่งถ้าเป็นบ้านเรือนสมัย ร.7 จะนิยมทาแค่ช่องหน้าต่างด้านบนเป็นช่วงเดียว ด้านขวาของหน้าบ้านมีมุขยื่นเพื่อรับกับจั่วหลังคาบ้านชั้นสองและประตูทางเข้าหลักซึ่งจะเจอกับห้องรับแขกของบ้านและมีบันไดเวียนขึ้นไปชั้นสองของบ้านซึ่งด้านบนเป็นห้องพระและห้องทำงานของเจ้าของบ้าน มีระเบียงด้านหน้าทั้งสองชั้นสำหรับเป็นมุมพักผ่อนชมวิวของผู้อาศัย พื้นที่ใช้สอยในบ้านแบ่งเป็นห้องทั้งหมด 12 ห้อง ชั้นบน ประกอบด้วยห้องพระ ห้องบรรพบุรุษ ห้องนอน 4 ห้อง มีห้องน้ำ มีระเบียงทั้งด้านหน้าและระเบียงด้านหลังที่มีช่องบันใดลงมาชั้นล่าง ส่วนชั้นล่างมีห้องรับแขก ห้องนอน 3 ห้อง ห้องน้ำและห้องโถงนั่งเล่นขนาดใหญ่สำหรับครอบครัวขุนนางชั้นสูงที่มีสมาชิกหลายคน มีประตูออกด้านหลังบ้านที่แยกเป็นเรือนครัวเดิมที่ชานบ้านที่ไม่มีหลังคา แต่ปัจจุบันทายาทได้ปรับปรุงพื้นซีเมนต์และมุงหลังคาเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในฤดูฝนเชื่อมต่อกับเรือนครัวด้านหลังบ้าน บันใดทางขึ้นมี 2 บันใด สำหรับรับแขกทางการมีทางขึ้นลดหลั่นตามขั้นบันได วงโค้งอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิคที่เข้ามาในสยามแล้วในยุคนั้น ส่วนเสาบ้านด้านในตัวบ้านมีช่องที่สามารถย้ายผนังไม้กั้นห้องหากเจ้าของบ้านต้องการขยายหรือกั้นห้องเพิ่มได้ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ได้มาพำนัก ณ นิวาสสถานแห่งนี้ในบั้นปลายของชีวิตในช่วงเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ประมาณปลาย พ.ศ.2481 จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2485 และท่านได้สั่งเสียไว้ก่อนถึงแก่อสัญกรรมว่าให้พระยากัลยาณวัฒนวิศิษฏ์ (เชียร กัลยาณมิตร) ผู้เป็นบุตรชายจัดงานประชุมเพลิงอย่างเรียบง่ายในบริเวณบ้านแห่งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงภาวะข้าวยากหมากแพงในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 นิวาสถานแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนอนุสรณ์สถานเตือนใจอนุชนรุ่นหลังให้ได้รำลึกถึง "ท่านเจ้าคุณ" ผู้มีช่วงชีวิตรุ่งโรจน์ใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าถึง 5 แผ่นดิน ตั้งแต่ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงแก่อนิจกรรมในสมัยรัชกาลที่ 8

สถานที่ตั้ง
บ้านเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)
ตำบล ศรีพนมมาศ อำเภอ ลับแล จังหวัด อุตรดิตถ์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
“เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ เจ้าพระยา ๕ แผ่นดินและนิวาสสถานแห่งสุดท้าย ณ เมืองลับแล” หนังสือที่ระลึกพิธีวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์เ
บุคคลอ้างอิง จังหวัดอุตรดิตถ์ อีเมล์ uttaraditculture65@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ อีเมล์ uttaraditculture65@gmail.com
ถนน ประชานิมิตร
ตำบล ท่าอิฐ อำเภอ เมืองอุตรดิตถ์ จังหวัด อุตรดิตถ์ รหัสไปรษณีย์ 53000
โทรศัพท์ 055403092 โทรสาร 055403093
เว็บไซต์ www.m-culture.go.th/uttaradit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่