เมืองบางช้างในประวัติศาสตร์ (ดนตรี) ไทย
ความสำคัญกับวัฒนธรรมการดนตรีของที่ราบลุ่มภาคกลางในฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของชาติซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ได้ปรากฎเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด เมื่อเกิดการผลิตงานเขียนประวัติศาสตร์ดนตรีไทยในระยะเวลาต่อมา โดยยึดโยงอยู่กับศูนย์กลางอำนาจคือรัฐไทยที่ถูกอธิบายความต่อเนื่องยืนยาวของรัฐผ่านเรื่องเล่าว่าด้วยการก่อตั้งอาณาจักรแรกเริ่มของคนไทย ที่กรุงสุโขทัย การเจริญอำนาจของกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะล่มสลายและได้รับกอบกู้ในยุคกรุงธนบุรีจนกระทั่งรุ่งเรืองขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์
ด้วยประวัติศาสตร์ดนตรีไทยพบว่าได้ใช้โครงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติชธานีเป็นกรอบคิดสำคัญในการลำดับเรื่องราว โดยเมืองบางช้างหรือจังหวัดสมุทรสงครามปรากฎเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการดนตรี ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ๓ ช่วงเวลาสำคัญ คือ ยุคฟื้นฟู ยุครุ่งเรือง และยุคคลี่คลาย ซึ่งถ่ายทอดผ่านประวัติและผลงานของบุคคลสำคัญที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมืองสมุทรสงคราม
เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์นิพนธ์ดนตรีไทยที่นำเสนอผ่านการแบ่งตามช่วงเวลาสำคัญออกเป็น ๓ ยุค พบว่ามีนัยสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในแต่ละช่วงเวลาอย่างเด่นชัด กล่าวคือ "ยุคฟื้นฟู" ซึ่งตรงกับสมัยรัตนโกสินทร์ตอนตันเป็นช่วงเวลาที่ชนชั้นนำพยายามรื้อฟื้นบ้านเมือง ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยมีอยุธยาเป็นบรรทัดฐาน เพื่อสร้างสิทธิธรรม และความสืบเนื่องในการปกครองบ้านเมืองที่สถาปนาขึ้นใหม่ ภายหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาอันเป็นวิกฤตการณ์สำคัญของชนชั้นนำต้นกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชีวิตผูกพันกับสังคมและวัฒนธรรมแบบอยุธยา มาแต่เดิมในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์นิพนธ์ดนตรีไทยแสดงให้เห็นว่าสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลให้วัฒนธรรมดนตรีไทยอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเสื่อมคลายลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวจึงปรากฎการ "ฟื้นฟู" มรดกทางวัฒนธรรมนั้นโดยกลุ่มคนที่มีความรู้ด้านการดนตรีแบบอยุธยา
เมืองบางช้างหรือจังหวัดสมุทรสงครามในปัจจุบันเป็นพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมการดนตรีร่วมสมัยกับรัฐอยุธยาที่มีบทบาทในการวางรากฐานให้กับการดนตรีไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ รัตนโกสินทร์ ซึ่งนอกจากความรู้ความสามารถทางการดนตรีแล้ว ความใกล้ชิดทางเครือญาติกับชนชั้นนำนับเป็นปัจจัยสำคัญให้กลุ่มคนดนตรีจากเมืองนี้มีสถานะในประวัติศาสตร์ดนตรีไทยที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนำที่มีความใกล้ชิด กับราชินิกุลบางช้าง เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองบางช้าง ซึ่งพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจส่วนหนึ่งของพระองค์มีความเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมการดนตรีไทยอย่างเห็นได้ชัด ดังปรากฏเรื่องราวอันเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปทั้งเรื่องของซอสามสายคู่พระหัตถ์ ชื่อ "สายฟ้าฟาด" บทเพลงพระราชนิพนธ์ "บุหลันลอยเลื่อน" อันมีที่มาจากความทรงจำในพระสุบิน รวมทั้งการพระราชทาน "ตราภูมิคุ้มห้าม" เพื่อยกเว้นภาษีสวนมะพร้าวที่มีกะโหลกมะพร้าวใช้ทำซอสามสายได้ที่แสดงให้เห็นถึงพระวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมวัฒนธรรม การดนตรีให้เจริญรุ่งเรือง