ประวัติความเป็นมา : ="พญาศรีสัตตนาคราช"รูปลักษณะเป็นองค์พญานาค 7 เศียร ประทับพักอิริยาบทสงบนิ่งขดลำตัว 3 ชั้น บ่งบอกถึงความสงบสุขของจังหวัดนครพนมที่พญานาคเลือกเป็นที่ประทับ รูปทรง 7 เศียร เมื่อรวมกันแล้ว รูปทรงจะคล้ายดอกบัวซึ่งในตำนานพญานาคจะเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หน้าหรือลำตัวพญานาคจะอวบอ้วน เยือกเย็นเสมือนผู้ใหญ่ใจดีที่สลัดสิ้นซึ่งกิเลส ตัณหา ราคะ เปี่ยมด้วยคุณธรรม ผู้มาขอพรจากท่านจะได้รับความสมประสงค์ สมปรารถนาทุกคน สังวาลย์ที่ประดับศอสื่อถึงสัญลักษณ์ของจังหวัดนครพนม ซึ่งมีองค์พระธาตุพนมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตการ หันหน้าไปทางทิศเหนือเฉียงตะวันออก ที่ 6 องศา 20 ฟิลิปดา ทิศเหนือบ่งบอกถึงการหันหน้ามองเมืองนครพนม ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง อันจะนำสู่ความเจริญรุ่งเรือง มีเกียรติยศ ชื่อเสียง ประกาศศักดิ์ศรีบารมีให้แก่เมืองนครพนมให้ลือเลื่องชื่อขจรขจาย การว่ายไหลทวนกระแสน้ำโขงขึ้นไปทางเหนือเปรียบประดุจการแสดงถึงพละกำลังที่ยิ่งใหญ่ แข็งแรง การหันเฉียงตะวันออกนำไปสู่การออกได้ทุกช่องทาง มิติดขัดสน ทำมาค้าขายคล่องออกตัวได้ดีปราศจากปัญหา อุปสรรค ทั้งปวง ซึ่งหากหันไปทางทิศใต้ก็จะเป็นการไหลไปตามน้ำโขง ซึ่งอธิบายเปรียบได้เสมือนปลาที่กำลังจะหมดแรง หมดพละกำลัง หรือสัตว์ที่กำลังจะตายเท่านั้นที่จะไหลไปตามน้ำ หากหันไปทิศตะวันตกก็ดุจดั่งพระอาทิตย์อัศดง ตกต่ำขาลง ที่กำลังจะลับเหลี่ยมเขา นำไปสู่ความมืดมิด บอดสนิทในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันผู้คนมิพึงปรารถนาได้พบพาน
♦พญาศรีสัตตนาคราชสร้างด้วยทองเหลืองทั้งองค์ มีขนาดกว้าง 4.49 เมตร สูง 10.90 เมตร น้ำหนักรวม 9 ตัน ประดิษฐานอยู่บนแท่นรวมความสูง 16.29 เมตร ถือว่าเป็นพญานาคองค์เดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร เพราะที่พระศอมีสร้อยสังวาลย์ที่นำเอาสัญลักษณ์เหนือซุ้มประตูองค์พระธาตุพนมมาสวมคล้องไว้ แสดงถึงองค์พญานาคที่มีความผูกพัน เชื่อมโยง พิทักษ์ ปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานที่กล่าวขานสืบมานานชั่วอสงไขย นับแต่นั้นในทุกปีจังหวัดได้จัดงานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ในวันที่ 7 เดือน 7 บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช โดยการระดมสรรพกำลงบูรณาการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนทั่วไปในจังหวัด
♦ประฏิมากรรมพญาศรีสัตนาคราชที่สถิตอยู่บนแท่นอันเป็นเอกมงคล ณ ลานพญาศรีสัตตนาคราช นั้น เกิดจากความเชื่อว่า พญาศรีสัตตนาคราชได้เลื้อยลอยมาตามลำน้ำโขง เมื่อผ่านมาถึงริมฝั่งโขงนครพนม เห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมจะขึ้นมาบนฝั่งเพื่อดูแล ความอยู่ดีกินดี ความผาสุข ร่มเย็นแก่บ้านเมืองแห่งนี้ จึงเลื้อยขึ้นมาบนฝั่ง พอถึงลานอันมีมงคลแล้ว พญาศรีสัตตนาคราช ได้พิจารณาเห็นว่า ผิวกายของท่านได้ผ่านพบอุปสรรคโคลนตมคราบไคลที่มัวหมอง เปรียบได้กับกิเลส ตัณหา ราคะ อันเป็นมลทิน ที่ติดตามผิวกาย สมควรที่จะลอกคราบไคลเหล่านั้นไว้เบื้องล่างให้เหลือผิวกายเป็นสีทองอร่ามเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะเลื้อยขึ้นไปขดอยู่บนแท่น อันเป็นเอกมงคล พญาศรีสัตตนาคราชจึงได้ลอกคราบไว้ ดังปรากฏให้เห็นเป็นวงโค้งของคราบ มีลักษณะลอดและโผล่จากพื้นดิน 2 วงโค้ง มีคราบหางโผล่ปรากฏในบ่อน้ำที่อยู่ไม่ห่างจากวงคราบมากนัก
♦จังหวัดนครพนมได้เปิดลานแลนด์มาร์ค จุดตัดเหนือเส้นขอบฟ้าให้พี่น้องประชาชนมากรอบไหว้บูชา "พญาศรีสัตตนาคราช" ดุจลานเทวสถานเปิดที่โล่งกว้าง ไม่มีประตู โดยไม่จำกัดเวลาเข้า - ออก มีผู้คนจำนวนมากที่มาถึงและขอพรพญาศรีสัตตนาคราช บังเกิดผลสำเร็จมีมากมาย แต่ละคนล้วนแล้วแต่ได้เก็บภาพแห่งความทรงจำ ความงดงามทั้งทางกายและทางใจที่เปี่ยมล้น เพื่อนำไปเล่าขานสู่ญาติพี่น้อง มิตร เพื่อนฝูง ให้เดินทางมาสักการะบูชาองค์พระธาตุพนม และบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ที่จังหวัดนครพนม อย่างน้อยสัก 1 ครั้งในชีวิต