พระนิรันตรายณ ชายดงศรีมหาโพธิ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ มีผู้พบพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่ง และได้นำส่งมอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา ต่อมานำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้นำไปประดิษฐานไว้ในหอเสถียรธรรมปริตรเหตุการณ์ครั้งนี้คือที่มาของพระพุทธรูปทองคำที่ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “พระนิรันตราย”พระพุทธรูปหล่อทองคำองค์นั้น มีลักษณะพุทธศิลป์ทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ วัสดุทำจากทองคำเนื้อหก น้ำหนัก ๗ ตำลึง ๑๑ สลึง สูง ๘.๒๐ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖ เซนติเมตรเกี่ยวกับผู้ค้นพบนั้น เอกสารบางแห่งบันทึกว่ากำนันอิน แขวงเมืองปราจีนบุรีเป็นผู้ขุดได้ บางที่ระบุว่านายปั้นเป็นผู้พบ ดังข้อความจากหนังสือ ราชประดิษฐพิพิธทรรศนา อ้างบันทึกร่วมสมัยพบในสมุดไทยดำของห้องสมุดเอกสารตัวเขียน หอสมุดแห่งชาติ กล่าวว่า“พ.ศ.๒๓๙๙ นายปั้นได้ไปขุดร่อนหาทองคำที่ดงพระศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ปัจจุบัน พบพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่ง กรมการเมืองทำใบบอกเชิญเข้ามาถวายได้พระราชทานรางวัลแก่ผู้พบ โปรดเกล้าให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองเชิญไปประดิษฐานที่หอพระบนพระที่นั่งภานุมาศจำรูญรวมกับพระพุทธรูปอื่น ๆ อีก ๗ องค์ ในหมู่พระอภิเนาวนิเวศน์ที่สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ.๒๔๐๒ ปีถัดมาขโมยได้มาลักพระกริ่งทองคำองค์น้อยถึงในหอพระ แทนที่จะลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่าและอยู่คู่กัน ทรงพระราชดำริว่าเป็นการบังเอิญแคล้วคลาดถึง ๒ ครั้ง นับจากครั้งแรกที่มีผู้ขุดได้ก็อุตส่าห์นำมาถวายไม่นำไปเป็นของตนถือเป็นอัศจรรย์ จึงได้ถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำองค์นั้นว่า “พระนิรันตราย” โปรดเกล้าให้เจ้าพนักงานหล่อพระพุทธรูปประทับสมาธิให้ต้องตามพุทธลักษณะ หน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง หล่อด้วยทองคำสวมพระพุทธรูปนิรันตรายอีกชั้นหนึ่งและหล่อด้วยเงินบริสุทธิ์อีกองค์เป็นคู่กัน เฉพาะองค์ทองคำนั้นให้เชิญไปในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เสมอ”ในส่วนของพระนิรันตราย (องค์เดิม) ที่นายปั้นขุดพบได้นั้นเป็นพระพุทธรูปหล่อจากทองคำประทับสมาธิราบ ปางสมาธิ ทรงครองจีวรห่มเฉียง แสดงถึงอิทธิพลจากพระพุทธรูปของอินเดียในสมัยราชวงศ์ปาละ-เสนะ (พ.ศ.๑๒๙๓ – ๑๗๗๓) จากการประทับสมาธิเพชรผสมผสานกับพุทธลักษณะของพระพุทธรูปท้องถิ่นในประเทศไทยจากลักษณะของพระพักตร์ที่ใกล้เคียงมากกับพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๓ส่วนพระนิรันตราย (องค์ใหม่) ทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อครอบพระนิรันตราย (องค์เดิม) แม้บางพุทธลักษณะจะสอดคล้องกัน คือ เป็นพุทธรูปประทับสมาธิเพชร แต่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของพระพุทธรูปของคณะสงฆ์ธรรมยุตอย่างชัดเจน จากยอดพระเศียรที่มีแต่เพียงพระรัศมีเปลวไร้พระเกตุมาลา ซึ่งปรากฏเฉพาะพระพุทธรูปของคณะสงฆ์ธรรมยุตกับพระพุทธรูปของลังกาเท่านั้นปัจจุบัน พระนิรันตรายประดิษฐาน ณ หอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร