ประวัติความเป็นมาของ “ขนมหมั่วหลาว”
"ขนมหมั่วหลาว" หรือ "ขนมงาพอง" เป็นขนมพื้นเมืองของจังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีต้นกำเนิดจากชาวจีนโพ้นทะเลในมณฑลฮกเกี้ยนของประเทศจีนที่อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุกในจังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต ชาวจีนมักจะทำขนมหมั่วหลาวไว้รับประทานเหมือนกับ ขนมเต้าส้อ ก้องถึง ตุ๊บตั๊บ และถั่วตัด
คำว่า “หมั่ว” แปลว่า “งา” ส่วนคำว่า “หลาว” แปลว่า “พอง” เมื่อนำคำทั้งสองมาประสมกันจึงก่อให้เกิดเป็นชื่อของ ขนมงาพอง หรือ ขนมหมั่วหลาว ในปัจจุบัน กรรมวิธีการทำขนมหมั่วหลาวนั้นค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยการทำหลายขั้นตอน อีกทั้งยังต้องอาศัยประสบการณ์และเทคนิคเฉพาะจึงจะได้ขนมหมั่วหลาวที่มีรสชาติหวาน กรอบ และอร่อยได้
ปัจจุบันมีผู้ทำขนมมั่วหลาวเป็นอาชีพหลักเพียงคนเดียวเท่านั้น คือ นายเยี่ยม เทียนเฮง ชาวไทยพุทธ อายุ ๖๐ ปี หรือที่ชาวตะกั่วป่ารู้จักกันดีในนาม “โก้เยี่ยม” คำว่า “โก้” แปลว่า “พี่ชาย” เป็นภาษาถิ่นที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศจีนสมัยก่อน ซึ่งชาวจังหวัดพังงาที่มีเชื้อสายจีนจะเรียก “โก้” แทนคำว่า “พี่” ปัจจุบันโก้เยี่ยมอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๔๒/๙ หมู่ที่ ๒ ซอยเรือขุดแร่บุญสูง ตำบลบางนายสี อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ๘๒๑๑๐
เดิม นายเยี่ยม หรือ โก้เยี่ยม นั้น ประกอบอาชีพรับจ้างขับรถทัวร์ และขับรถบรรทุกในจังหวัดนครปฐม จนกระทั่งแต่งงานมีครอบครัว จึงเห็นว่าอาชีพนี้ไม่ค่อยมีความมั่นคงและปลอดภัย โก้เยี่ยมจึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วเดินทางกลับมายังจังหวัดพังงาเพื่อที่จะทำเหมืองแร่ เนื่องจากโก้เยี่ยมเห็นว่าผู้คนที่เข้ามาทำเหมืองแร่นั้นิต่างร่ำรวยเป็นจำนวนมาก แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกไปเพราะงานเหมืองแร่ไม่ได้เป็นงานที่ตนเองชอบ และมีความถนัดเลย จากนั้นโก้เยี่ยมจึงหันมาประกอบอาชีพทำขนมขาย คือ ขนมเค้ก ขนมโดนัท และขนมกาละแม แต่ในการทำขนมครั้งนี้เกิดความล้มเหลวไม่ประสบความสำเร็จดั่งที่คิดไว้ นายเยี่ยมหรือโก้เยี่ยม จึงต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างหนัก จึงเกิดแนวคิด อยากจะทำขนมแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำขนมอะไรจนกระทั่งได้พบกับอาแปะ คำว่า “อาแปะ” แปลว่า ลุง เป็นภาษาจีนเเต้จิ๋ว ซึ่งใช้เรียกแทน พี่ชายพ่อ หรือ ลุง ชาวจีนที่เข้ามาทำเหมืองแร่ คือ นายเจียม แซ่ตั๋น (ตั๋วไต๋) ซึ่งเดินออกกำลังกายอยู่บริเวณหน้าบ้านของตนเองเป็นประจำ จึงทำให้ได้มีโอกาสพูดคุยกันในวันที่อาแปะมาหลบฝนที่บ้านของโก้เยี่ยม อาแปะได้แนะนำให้โก้เยี่ยมเดินทางไปที่ตลาดภูเก็ต โดยให้ไปที่ร้านของชาวจีนที่ทำขนมหมั่วหลาว ขนมถั่วตัด เต้าส้อ ก้องถึง และตุ๊บตั๊บ แล้วให้เลือกว่าจะทำขนมอะไร เมื่อเลือกได้แล้วเดี่ยวอาแปะจะเป็นผู้สอนให้ ซึ่งขนมที่โก้เยี่ยมสนใจ คือ ขนมหมั่วหลาว โก้เยี่ยมเกิดความสนใจมากกว่าขนมชนิดอื่น ๆ เนื่องจากขนมชนิดนี้เป็นขนมที่ยังไม่มีใครทำ ประกอบกับขนมชนิดนี้มีรสชาติที่หอม หวาน อร่อย โก้เยี่ยมจึงซื้อขนมหมั่วหลาว กลับมาให้อาแปะสอนให้ อาแปะได้บอกสูตร วิธีการเลือกวัตถุดิบ วิธีการทำ และสาธิตให้โก้เยี่ยมดูเป็นตัวอย่าง หลังจากนั้นโก้เยี่ยมก็ได้ฝึกทำขนมหมั่วหลาวอยู่เป็นเวลานานพอสมควร เพราะมีการทำหลายขั้นตอน และต้องอาศัยปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นตัวช่วยโดยเฉพาะอากาศและแสงแดด จนสามารถพัฒนาสูตรขนมให้มีความอร่อยหวานมันได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังรู้วิธีการเก็บรักษาคุณภาพของขนมให้สามารถเก็บได้นานยิ่งขึ้นอีกด้วย
ขนมหมั่วหลาวจึงสร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้ นายเยี่ยม เทียนเฮง หรือ โก้เยี่ยม ในนาม “ขนมหมั่วหลาว ตราเทียนเฮง” ได้ในระยะเวลาไม่นาน และกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับจังหวัดพังงาในระยะต่อมา การทำขนมหมั่วหลาวของนายเยี่ยม เทียนเฮง จึงเป็นการอนุรักษ์ขนมโบราณสืบต่อมาชั่วลูกชั่วหลาน
วัตถุดิบ
๑. นำข้าวเหนียวมาบดให้ละเอียด และตำอีกครั้งครั้งให้เป็นผง จำนวน ๑๐ กิโลกรัม
๒. เผือกนึ่งสุก บดละเอียด ๒ กิโลกรัม
๓. งา (ปริมาณการผลิต/วัน ๖๐ กิโลกรัม)
๔. น้ำตาล ๒๐ กิโลกรัม
๕. แบะแซ (น้ำผึ้งขาว) ๑ ปี๊ป
๖. น้ำมันพืช สำหรับทอด
๗. เกลือป่นนิดหน่อย
วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้
๑. เครื่องตีแป้ง
๒. กะละมังสแตนเลส
๓. ถาดอะลูมิเนียม
๔. ตะแกรง
๕. กระชอน
๖. ชั้นเหล็ก
๗. กระทะใบใหญ่
๘. ไม้คลึงแป้ง
๙. ลังถึง (ภาชนะนึ่ง ทำด้วยโลหะมีลักษณะกลมคล้ายหม้อซ้อนกัน)
๑๐. เตาแก๊ส
๑๑. กระด้ง
๑๒. ทัพพี
๑๓. โต๊ะไม้
๑๔. มีด
๑๕. ตู้แช่สำหรับเก็บแป้ง (STOCK)
วิธีการทำขนมหมั่วหลาว
๑. นำแป้งข้าวเหนียวมานวดแล้วนำไปนึ่งอีกประมาณ ๓ - ๕ ชั่วโมง ใช้ไฟปานกลาง จากนั้นนำไปนวดกับเผือก ให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันด้วยเครื่องตีแป้ง แล้วใช้ไม้คลึงแป้งแผ่ให้เป็นแผ่นหนาประมาณ ๑ เซนติเมตร กว้าง ๖๐ เซนติเมตร ยาว ๗๐ เซนติเมตร นำไปผึ่งแดดไว้อีก ๑ วัน จากนั้นนำมาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ (ต้องตัดขณะที่แป้งยังอุ่น ๆ อยู่) ขนาดกว้าง ๑ เซนติเมตร ยาว ๒ เซนติเมตร หนาประมาณ ๒ เซนติเมตร เสร็จแล้วนำไปผึ่งแดดอีกครั้ง หากเป็นช่วงหน้าฝนอาจใช้วิธีการอบแห้ง จึงจะได้เป็นแป้งหมั่วหลาวพร้อมนำไปทอด
๒. นำแป้งแช่ลงไปในน้ำมันสักครู่ แล้วจึงนำไปทอดในน้ำมันที่อุ่น ๆ นำขึ้นมาพักไว้สักครู่แล้วจึงนำลงไปทอดในน้ำมันที่มีความร้อนปานกลาง เมื่อแป้งพองตัวขึ้นเป็นสีเหลืองให้ตักใส่ตะแกรงเพื่อสะเด็ดน้ำมัน
๓. นำงาไปล้างด้วยน้ำสะอาด ตากเดดให้แห้ง แล้วนำไปคั่วในกระทะร้อน ๆ
๔. นำน้ำตาลทราย แบะแซ ตามอัตราส่วนมาผสมกับน้ำเพียงเล็กน้อย เคี่ยวให้มีลักษณะพอเหนียวข้น หนืด ๆ เล็กน้อย
๕. นำแป้งที่ทอดจนพองตัวแล้ว เชื่อมกับน้ำตาลที่เคี่ยวเตรียมไว้ และคลุกด้วยงาจนทั่ว ซึ่งการคลุกงานั้น ต้องทำในขณะที่น้ำตาลยังมีความเหลวและร้อนอยู่ เพราะจะทำให้งาติดได้ทั่วถึง ใช้ตะแกรงร่อนเอางาที่เกาะจนหนาเกินไปออก ตั้งไว้ให้เย็น แล้วนำไปเทลงภาชนะที่เตรียมไว้เพื่อบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นกล่อง หรือโหลพลาสติกหรือถุง โดยมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม/ถุงหรือกล่อง ขนมนี้รับรองอายุการบริโภคตั้งแต่วันผลิต ไม่เกิน ๙๐ วัน ไม่ใส่วัตถุกันเสียและสีผสม ได้รับการรับรองเครื่องหมาย อย. มผช. ราคาขายหากบรรจุลงในโหลพลาสสติก ขายในราคา ๕๕ บาท หากเป็นถุงพลาสติกขายราคา ๒๐ บาท
กล่าวโดยสรุป การทำขนมหมั่วหลาวต้องใช้แป้งข้าวเหนียว/เผือกนึ่งสุกละเอียด นำมานวดให้มีลักษณะเหนียว ตามความต้องการแล้วทำให้สุก จากนั้นจึงนวดต่อจนส่วนผสมเหนียวนุ่ม คลึงให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อแห้งแล้วให้ตัดแบ่งออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปผึ่งแดดให้แห้งอีกครั้ง แล้วนำไปทอดจนกรอบ จากนั้นนำไปคลุกเคล้ากับส่วนผสมของน้ำ น้ำตาลทราย แบะแซที่เคี่ยวจนเหนียวพอเหมาะ แล้วนำไปคลุกกับงาขาวหรืองาดำที่คั่วจนสุกให้ทั่ว แล้วร่อนงาส่วนที่ไม่ต้องการออก บรรจุใส่ถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป