ศิลปะการแกะสลักเหง้าไม้ไผ่บ้านนางรอง ตั้งอยู่ที่บ้านนางรอง หมู่ ๓ ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก การแกะหลักเหง้าไม้ไผ่นั้น ถือว่าเป็นงานศิลปะหัตถกรรมที่มีคุณค่า จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ผลงาน การแกะสลักเหง้าไม้ไผ่บ้านนางรอง มีต้นกำเนิดมาจากในสมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้ได้นิยมปลูก และเลี้ยงไผ่ตง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยในสมัยนั้นเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการนำมาคิดหาวิธีในการที่จะนำสิ่งของที่มีอยู่มาเพิ่มมูลค่าของไผ่ให้เกิดประโยชน์ และถือว่าเป็นการนำวัสดุที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ ดังนั้นการแกะสลักเหง้าไม้ไผ่จึงได้เริ่มต้นขึ้นที่ บ้านนางรอง จนกระทั่งประสบความสำเร็จ และกลายเป็นสินค้าดีโอทอปที่มีชื่อเสียงประจำจังหวัดนครนายก
การแกะสลักเหง้าไม้ไผ่นั้น เป็นงานศิลปะหัตถกรรมที่นับว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และภูมิปัญญาเป็นอย่างมาก เนื่องจากงานหัตถกรรมที่ต้องอาศัยความชำนาญในการสร้างสรรค์งาน ไม่เพียงแค่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการทำเท่านั้น แต่ยังคงต้องอาศัยความประณีต และเวลา เนื่องจากการ แกะสลักเหง้าไม้ไผ่นั้นมีขั้นตอนในการทำที่ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องใช้เวลาและความละเอียดค่อยข้างสูง ดังนั้นกว่าที่จะสร้างสรรค์เป็นผลงานแกะสลักได้สักชิ้นหนึ่งนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากในการทำ
บ้านนางรอง หมู่ที่ ๓ ตำบลหินตั้ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มีเขตพื้นที่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ บริเวณใกล้เคียงน้ำตกสาลิกา น้ำตกนางรอง ทำให้สภาพพื้นที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ธรรมชาติ น้ำตก ภูเขา ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน และในพื้นที่ใกล้เคียงบ้านนางรองจะมีไม้ไผ่ตงที่มีอยู่ในหมู่บ้านจะเป็นพืชหลักที่สำคัญที่ สามารถรายได้ให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน เนื่องจากไม้ไผ่นั้นมีประโยชน์สามารถนำไปใช้สอยได้แทนทุกส่วนของไม้ไผ่เมื่อเข้าหน้าฝน จะตัดหน่อขายบางครั้งก็ตัดลำขาย ทำให้ไม้ไผ่ตง เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ดีให้กับชาวบ้านนางรอง ตำบลหินตั้งนานมาแล้ว กลุ่มการแกะสลักเหง้าไม้ไผ่บ้านนางรองนั้น เดิมทีผู้ที่ริเริ่มคือ นายประยงค์ เข็มมณี เป็นคนตำบลหินตั้ง บ้านนางรอง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก มีอาชีพทำสวน หาของป่ามาขาย โดยจะปลูกกล้วย ข้าวโพดไผ่ตง เก็บเกี่ยวแล้วนำออกมาขาย จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๓๑ นายประยงค์ได้สังเกตเห็นชาวบ้านนำตุ๊กตาต่าง ๆ ไปวางสักการะเซ่นไหว้เป็นประจำและมีจำนวนมาก จึงได้มีความคิด นำไม้ต่าง ๆ มาหัดแกะสลักเป็นรูปตุ๊กตาตัวเล็ก ๆ แล้วนำมาวางขาย โดยจากการเรียนรู้ด้วยตนเองจำหน่ายบริเวณข้างริมถนน ในขณะเดียวกันนายประยงค์ก็เริ่มนำรากไม้ ตอไม้ทั้งใหญ่และเล็ก มาเริ่มขัดแต่งให้ดูสวยงาม และนำออกมาขายข้างทาง จากการทดลองและการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง จนได้ค้นพบแล้วรู้จักการใช้ตอไม้ไผ่มาแกะสลักเป็นรูปหน้าคน จนสามารถขายได้ในราคาที่สูง ทำให้เกิดรายได้ของตนเองและครอบครัว
ต่อมาการแกะสลักเหง้าไม้ไผ่นั้นเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากคนในพื้นที่ ก็มีคนเข้ามาเรียนรู้และศึกษากระบวนการการแกะสลักเพิ่มมากขึ้น จนมีการรวมกลุ่มกันเกิดขึ้น โดยหนึ่งในนั้นก็คือนายสุพรรณ กางรัมย์ อายุ ๕๖ ปี เป็นชาวบุรีรัมย์ มาทำงานในจังหวัดนครนายก และพำนักที่บ้านนางรอง โดยนายสุพรรณได้ประกอบอาชีพรับจ้างและทำสวน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้สนใจในการนำสิ่งของเหลือใช้มา ต่อยอดและสร้างรายได้ จึงเริ่มศึกษา เรียนรู้ และได้เริ่มทดลองการแกะสลักเหง้าไม้ไผ่หลากหลายรูปแบบ จนมีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญ จนในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นายสุพรรณก็ได้เปิดบ้านเป็นของตนเอง และได้รับแรงสนับสนุนจากหลายๆภาคส่วนในจังหวัดนครนายก จนมีสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าโอทอปประจำจังหวัดนครนายก โดยสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียนโอทอปนั้นคือ โคมไฟแกะสลักเหง้าไม้ไผ่
งานศิลปะการแกะสลักไม้ไผ่บ้านนางรอง เป็นงานศิลปะหัตถกรรมที่มีคุณค่า เพราะเป็นงานที่ใช้ศิลปะในการทำสูง จำเป็นต้องใช้ทั้งทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ ความชำนาญการและประสบการณ์ในการทำสูง จึงจะสามารถรังสรรค์ออกมาเป็นชิ้นงานชิ้นงานหนึ่งได้ นอกจากนี้การแกะสลักเหง้าไม้ไผ่ยังได้แฝงไปด้วยความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกมากมายภายในตัวผลิตภัณฑ์