ผ้าทอที่ใช้สวมใส่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงสถานภาพของผู้สวมใส่ได้ โดยดูจากชนิดของผ้าที่สวมใส่และ ลวดลายของผ้า เช่น ผ้าของชนชั้นสูง ผ้าของผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ ผ้าที่ใช้สวมใส่ ในพิธีกรรมก็จะยิ่งมีลวดลายที่สลับซับซ้อน หรือ ในบางสังคมก็จะมีการบ่งบอก สถานภาพผ่านผ้านุ่งที่ใช้สวมใส่เพื่อให้เห็นความแตกต่างชัดเจนขึ้น ดังนั้นผ้าทอที่ถูกสร้างขึ้นจึงเป็นหนึ่งใน สัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้รู้ถึงสถานภาพของผู้ใช้ว่าเป็นมีสถานภาพในสังคมอย่างไร เช่น ผ้าทอลายพญานาคน้อย จะบ่งบอกถึงความมั่งมี ความเจริญ ความเป็นสิริมงคล
ชาวพวน เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไท ที่มีภูมิปัญญาการทอผ้าอันทรงคุณค่าสืบทอดมาแต่อดีต ภายหลังจากการอพยพของชาวพวนที่ได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ การสืบทอด ภูมิปัญญาด้านต่างๆ ในวิถีชีวิตของคนกลุ่มนี้ก็ยังคงได้รับการสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภูมิปัญญาด้านการ ทอผ้า มีกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าหัตกรรมผ้าทอไทยพวน บ้านใหม่
ผ้าแต่ละชนิดที่ถูกทอขึ้นมา ในอดีตจะมีการแบ่งแยกประเภทของผ้าที่จะถูกนำมาใช้ในวาระโอกาส ต่างๆ เช่น งานมงคล งานอวมงคล ซึ่งลวดลายที่ปรากฏในผ้าทอแต่ละผืนก็จะถูกกำหนดในการ ใช้งานตามความเชื่อของกลุ่ม
การแต่งกายไทยพวน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทการแต่งกาย มีแนวทางการออกแบบสัญลักษณ์ด้วยการใช้รูปลักษณะธรรมชาติ ได้แก่ รูปร่างของคนสวมเครื่องแต่งกายสำหรับการประกอบอาชีพ เครื่องแต่งกายทางวัฒนธรรม ซึ่งมีเพศเป็นตัวกำหนดรูปแบบของเครื่องแต่งกาย คนพวนจะทอผ้าเอง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นลายตีนก่าน(ผ้าลายเชิง) เป็นการบอกฐานะของตัวเอง
ผู้ชายสวมกางเกงขาก๊วยสีดำ หรือผ้าพื้นทอใช้เอง มักจะย้อมสีเองจากน้ำลูกตะโก สีไม่ดำเข้มจนเกินไป สำหรับคนฐานะดีสำหรับผู้ชายนิยมใส่เสื้อผ่าอกตลอดคอเสื้อตั้งชิดกับคอคล้ายคอจีน ติดกระดุม 5 เม็ด ชายเสื้อทั้งซ้ายและขวาผ่าข้างหน้าเหมือนเสื้อกุยเฮง แขนเสื้อยาวถึงข้อมือ ถ้าเป็นแบบแขนสั้นก็จะสั้นเพียงครึ่งแขนไม่มีขลิบ กระเป่าเสื้อจะเย็บด้านนอกตัวเสื้อด้านหน้าชายล่างของเสื้อ 2 กระเป๋า เอาไว้ใส่ของใช้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเหมาะสำหรับสวมใส่เดินทางและไปทำงาน นิยมใช้ผ้าขาวผ้าคาดเอว
ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าถุงแบบมัดหมี่ หรือผ้าฝ้าย โดยทอนุ่งใช้เอง มีผ้าขาวม้ารัดนมบางบ้านเรียกว่า (ผ้าเบียงโต่ง)เรียกว่า “แฮ้งตู๊” หรือบางทีอยู่บ้านก็สวมเสื้อมะกะแหล่ง หรือเสื้อคอกระเช้า
ลวดลายของผ้าทอไทยพวนที่เป็นเอกลักษณ์เชื่อมโยงกับความเชื่อชาวไทยพวนที่มีต่อการ นับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเป็นสิริมงคล และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
- ลายพญานาคน้อย เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับเรื่องเล่าทางพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล โดยความเชื่อของคนลาวที่เชื่อว่าพญานาคเป็นผู้มีฤทธิ์เดช มีเงินทอง คนไทยพวนจึงมีความเชื่อว่าถ้าเรามีความเกี่ยวข้อง กับพญานาค ก็จะทำให้มีพญานาคคอยคุ้มครอง มีความสุข ร่ำรวย คนพวนจึงคิด ลายผ้านี้ขึ้นมาเมื่อใส่ เสื้อผ้าลายพญานาคแล้วก็จะทำให้ประสบความสำเร็จ
- ลายขอ มาจากเรื่องเล่าของพญานาคที่ครั้งหนึ่งไม่สามารถบวชอยู่ใต้ร่มศาสนาได้ จึงขอเป็น ส่วนหนึ่งของศาสนา
- ลายตุ้มตัน เป็นสิ่งที่ใช้ประกอบในงานมงคล หรือวันสำคัญ นิยมห้อยตุ้มตามบ้าน ซึ่งเมื่อก่อน ชาวไทยพวนนิยมห้อยกันทุกบ้าน ลายตุ้มตันจึงเหมือนเป็นลายที่ใส่แล้วจะมีความเป็นสิริมงคล นำแต่สิ่งที่ ดีงามเข้ามา
- ลายโพธิ์ศรี เป็นส่วนหนึ่งของพิธีทอดกฐิน ในการทอดกฐินชาวพวนจะมีโพธิ์ศรี มีมัดหีบเงิน ซึ่งถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ในพิธีทางศาสนา